xs
xsm
sm
md
lg

“หัวเว่ย” แนะใช้ SDN บริหารเน็ตเวิร์กช่วยลดต้นทุนระยะยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จา จวิน ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์เน็ตเวิร์กพื้นฐาน
“หัวเว่ย” แนะนำมาตรฐานแพลตฟอร์มการบริหารเน็ตเวิร์กรูปแบบใหม่ ภายใต้แนวคิด Software Define Network (SDN) ที่ใช้ซอฟต์แวร์เข้ามาบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมลดต้นทุนการบริหารจัดการในระยะยาว เบื้องต้น จับกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตก่อนกระจายสู่องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่

นายจา จวิน ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์เน็ตเวิร์กพื้นฐาน บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า จากแนวคิดการพัฒนา SDN ของหัวเว่ยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบัน SDN สามารถขึ้นมาเป็นแพลตฟอร์มมาตรฐานสำหรับบริหารจัดการเน็ตเวิร์กที่ได้รับการพิสูจน์จากโอเปอเรเตอร์ชั้นนำทั้งในสหรัฐฯ และจีน เพียงแต่ยังต้องรอเวลาที่ผู้ให้บริการรายอื่นจะนำมาประยุกต์ใช้เข้ากับระบบ

“ในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการทดลองระบบก่อนที่จะมีการเปิดให้ใช้งานเชิงพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบัน ก็มีผู้ให้บริการเครือข่ายอย่าง โวดาโฟน เทเลโฟนิก้า ดอยซ์เทเลคอม และผู้ให้บริการเครือข่ายทุกรายในจีนได้ลงทุน SDN ของหัวเว่ยเพื่อนำมาใช้งานแล้ว”

โดยแนวโน้มการนำ SDN มาใช้งานในระดับทั่วโลกจะเริ่มขึ้นภายในช่วงปีหน้า หลังจากที่หลายบริษัทเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการนำ SDN มาช่วยในการบริหารจัดการ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ผู้ให้บริการ แต่ในอนาคตจะเป็นการอำนวยความสะดวกในการใช้งานให้แก่ลูกค้าที่เป็นคอนซูเมอร์อีกด้วย

สิ่งที่ SDN มาสร้างความแตกต่างจากรูปแบบการบริหารจัดการระบบเน็ตเวิร์กแบบเดิมๆ คือ เป็นการนำแพลตฟอร์มที่เป็นมาตรฐานใหม่สำหรับอุตสาหกรรมมาใช้ในการควบคุมดูแลระบบทั้งหมด จากเดิมที่ซอฟต์แวร์แต่ละตัวจะควบคุมเฉพาะฮาร์ดแวร์แต่ละชิ้น กลายเป็นใช้แพลตฟอร์มเดียวควบคุมทั้งหมด

“SDN ถูกนำไปใช้ในหลายสถานการณ์ อย่างการดูแลดาต้าเซ็นเตอร์ หรือการใช้เป็น IPRAN เพื่อช่วยควบคุมให้การใช้งานลื่นไหล หรือในการให้บริการลูกค้าในวงกว้างที่จะปรับเปลี่ยนความต้องการแบนด์วิดท์ได้ ตลอดเวลา”

จุดที่ SDN สร้างความให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่าระบบเน็ตเวิร์กที่ใช้งานในปัจจุบันคือ เรื่องของการ บริหารจัดการทรัพยากรของระบบ ยกตัวอย่างเช่น ระบบบริหารจัดการเซิร์ฟเวอร์แบบเดิมๆ จะเน้นการเข้าถึงเพื่อใช้งานที่สั้นที่สุด โดยไม่สนใจว่ามีความหนาแน่นของข้อมูลมากเพียงใด แต่ถ้าเป็น SDN ระบบจะบริหารจัดการโหลดบาลานซ์ เพื่อให้การใช้งานไม่ติดขัดอยู่บนเส้นทางเดียว เพราะสามารถเลือกไปใช้อีกเส้นทางหนึ่งที่มีการใช้งานต่ำได้

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในปีหน้าโอเปอเรเตอร์หลายรายจะเริ่มให้ความสำคัญต่อ SDN เพราะมีข้อมูลระบุแล้วว่า จะสามารถช่วยลดระยะเวลาในการบริหารจัดการได้กว่า 90% และลดต้นทุนในการดูแลรักษากว่า 60% แต่ทั้งนี้ การที่จะนำ SDN เข้าไปใช้กับระบบเดิมที่มีอยู่ได้อาจจะใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนประมาณ 1 ปี

“ในมุมของคอนซูเมอร์จะไม่ทราบเลยว่าตอนนี้ผู้ให้บริการใช้ระบบใดให้บริการอยู่ เพราะในช่วงแรกสามารถให้บริการระบบเดิมไปพร้อมกับระบบใหม่ได้พร้อมกัน เหมือนกับการเปลี่ยนผ่าน IPv4 มาเป็น IPv6 ในปัจจุบัน ที่คอนซูเมอร์ทำหน้าที่แค่ใช้งานต่อไป ในขณะที่ผู้ให้บริการต้องมีการลงทุนให้รองรับการใช้งานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

ท้ายที่สุดเมื่อ SDN เริ่มถูกใช้บริการไปในหลายภาคส่วนแล้ว ผู้ใช้อาจจะได้เห็นการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ตัวดีไวส์จะคุยกับระบบ SDN ในการบริหารจัดการเน็ตเวิร์กได้โดยตรงเพื่อให้ใช้งานได้บริการอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยที่ผู้ให้บริการไม่จำเป็นต้องเสียเวลามาปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการเป็นรายๆ ไป

Company Relate Link :
Huawei
กำลังโหลดความคิดเห็น