xs
xsm
sm
md
lg

คณะ กก.ดิจิตอลไฟเขียวประมูล 4G คลื่น 2600 MHz ส.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประชุมบอร์ดดีอีนัดแรกไฟเขียวประมูล 4G ส.ค.นี้ แต่ไม่ฟันธงว่าต้องประมูลในคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ตามที่ กสทช.สอบถาม คสช.เหตุแบนด์วิธน้อย หวั่นความเร็วเป็นเต่าคลาน ชี้เตรียมนำคลื่น 2600 MHz จาก อสทม.มาประมูลแทน เพราะมีเทคโนโลยีและแบนด์วิธที่ดีกว่า คาดรู้ผลภายใน 1-2 สัปดาห์นับจากนี้

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีดูแลด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติให้ กสทช.เตรียมดำเนินการประมูล 4G ได้ทันที เพื่อให้สามารถเปิดประมูลได้ทันภายในเดือน ส.ค.นี้ แต่ทั้งนี้ คลื่นที่นำมาประมูลไม่ได้จำกัดแค่คลื่น 900 MHz หรือ 1800 MHz เท่านั้น เนื่องจาก กสทช.มีคลื่นความถี่มากกว่านั้น ดังนั้น จึงให้ กสทช.กลับไปดูว่ามีคลื่นไหนที่จะนำมาประมูลได้บ้าง ซึ่ง กสทช.สามารถนำคลื่นตั้งแต่ 900 MHz-2600 MHz มาจัดประมูลได้ทั้งหมดตามความเหมาะสม

ดังนั้น หาก กสทช.บอกว่าต้องใช้เวลาในการเตรียมการประมูล 5-6 เดือน การจัดการประมูลก็จะเกิดขึ้นได้ในเดือน ส.ค.นี้ จึงไม่ต้องแก้ประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้ชะลอการประมูลออกไปถึง 17 ก.ค.นี้ เพราะเป็นเวลาที่ครบกำหนดพอดี ส่วนรูปแบบการประมูลเป็นเรื่องของ กสทช. เพราะเป็นอำนาจของ กสทช. ตามกฎหมายเดิม แต่ต้องรายงานให้คณะกรรมการดีอีทราบก่อนว่าจะประมูลคลื่นย่านความถี่ไหน

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ประชุมมีการเสนอให้ประมูลคลื่นย่านความถี่ 2600 MHz เนื่องจากมีแบนด์วิธที่มากกว่าคือ 120 MHz ขณะที่คลื่น 1800 MHz มีเพียง 25 MHz ส่วนคลื่น 900 MHz มีเพียง 20 MHz เท่านั้น ดังนั้น ที่ประชุมจึงเกรงว่าคลื่นที่ได้จะไม่ได้ความเร็วแบบ 4G จริง สิ่งนี้จะเป็นของขวัญชิ้นโบว์แดงที่มอบให้กับประชาชน

ส่วนปัญหาที่ว่าคลื่น 2600 MHz ที่ยังค้างอยู่ที่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งยังมีปัญหาไม่คืนคลื่นมาให้ กสทช.จัดสรรนั้น ทาง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร รับปากว่าจะไปเรียกคืนคลื่นความถี่มาให้ภายใน 1-2 สัปดาห์

***กสทช.เพิ่มคลื่น 900 MHz เตรียมประมูล

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ได้อนุมัติให้ปรับลดการ์ดแบนด์ของคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จาก 3.5 MHz เหลือ เพียง 1 MHz ดังนั้นคลื่นความถี่ที่เหลือ 2.5 MHz จะนำไปรวมกับคลื่นความถี่เดิมซึ่งปัจจุบัน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ใช้อยู่และจะหมดสัญญาสัมปทานกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในเดือน ก.ย.58 นี้ จาก 17.5 MHz เป็น 20 MHz ทำให้การประมูลที่จะเกิดขึ้น 2 ใบอนุญาตในคลื่นความถี่ดังกล่าวจะมีคลื่นเพิ่มขึ้นจากเดิม 1 ใบอนุญาต คือ 10 MHz และอีก 1ใบอนุญาต 7.5 MHz เปลี่ยนเป็นใบอนุญาตละ 10 Mhz

การอนุมัติดังกล่าวได้พิจารณาจากข้อเสนอการปรับปรุงตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติตามความเห็นของสำนักงาน กสทช. และคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อบังคับวิทยุระหว่างประเทศ พ.ศ.2555 และนโยบายการใช้คลื่นความถี่ในปัจจุบันและอนาคตของประเทศ และเห็นชอบให้นำข้อเสนอดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป โดยการปรับปรุงตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติครั้งนี้ จะส่งผลให้การใช้งานคลื่นความถี่ของไทยสอดคล้องกับข้อบังคับวิทยุระหว่างประเทศ ในหลายๆ ย่านความถี่ เช่น 50-54 MHz 146-147 MHz และ 510-790 MHz อีกด้วย

นอกจากนี้ที่ประชุม กสทช.ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช.ที่เกี่ยวข้องกับการใช้คลื่นความถี่ กิจการประจำที่ ย่านความถี่ 71-76 GHz และ 81-86 GHz (E-band) จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้พิจารณาปรับปรุงภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะแล้ว ได้แก่ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการประจำที่ ย่านความถี่ 71-76 GHz และ 81-86 GHz และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการประจำที่ ย่านความถี่ 71-76 GHz และ 81-86 GHz ซึ่งการอนุญาตให้ใช้ โดยคลื่นความถี่ในย่าน E-band นี้ จะรองรับการใช้งานแบบจุดต่อจุดที่ต้องการความจุสูง (High Capacity Point-to-Point) เช่น การใช้งานในโครงข่ายที่เชื่อมต่อระหว่างสถานีฐานและโครงข่ายหลัก (Mobile Backhaul) ในโครงข่าย 4G หรือการใช้งานเชื่อมต่อเครือข่ายการสื่อสารภายในองค์กรที่ทันสมัย รองรับปริมาณข้อมูลข่าวสารที่มีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ซึ่งประกาศทั้งสองฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป

***เอไอเอส-ดีแทคยิ้มรับประมูล4G
นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร อินทัช กรุ๊ป กล่าวว่า หลังจากที่มีความชัดเจนจากรัฐบาลแล้วก็ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเอกชนจะได้วางแผนการดำเนินการได้ถูกต้อง สำหรับความพร้อมในการเข้าประมูลเอไอเอส มีความพร้อมเกิน 100% ทั้งด้านเงินลงทุนสำหรับใช้ในการประมูลใบอนุญาต และขยายโครงข่าย โดยใช้แหล่งเงินลงทุนจากกระแสเงินสดในมือ รายได้จาการบริหารงาน และเครดิตเงินกู้

ขณะที่นายชัยยศ จิรบวรกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคขอสนับสนุนการประมูลโดยเชื่อว่าถ้ามีจำนวนคลื่นความถี่ที่มากพอต่อความต้องการใช้งานมาประมูลร่วมกัน ผนวกกับการนำเทคโนโลยี 4G ที่ทันสมัยที่สุดมาสู่ประเทศและผู้บริโภค จะสามารถเพิ่มการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคและผู้ใช้งาน รวมถึงสามารถสร้างโอกาสต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ในการใช้งานอย่างมหาศาลเพื่อผู้ใช้งานทั่วประเทศ

Company Related Link :
nbtc

CyberBiz Social

Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket

Instagram
กำลังโหลดความคิดเห็น