การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยดิจิตอลกลายเป็นหนทางความเจริญยุคใหม่ที่หลายประเทศเริ่มให้ความสนใจ และเตรียมความพร้อมระดับประเทศไม่เว้นแม้ประเทศไทย หากแต่ความหมายของเศรษฐกิจดิจิตอล หรือ ดิจิตอลอีโคโนมี มีความเข้าใจที่แตกต่างกันทำให้การหลอมรวมความคิดเพื่อก้าวไปข้างหน้าในทิศทางเดียวกันเป็นไปได้ยาก อีริคสันในฐานะองค์กรเทคโนโลยีที่ก่อตั้งมานานกว่า 100 ปี ได้เปรียบเปรยความหมายและสรุปทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคตที่สามารถเชื่อมต่อกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลออกมาเป็นเทรนด์ได้อย่างน่าสนใจ
***เศรษฐกิจดิจิตอล ความหมายสู่อนาคต
บัญญัติ เกิดนิยม ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและองค์กรสัมพันธ์ บริษัทอีริคสัน ประเทศไทย อธิบายว่า ถ้าย้อนกลับไปเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคที่เรียกกันว่าเป็นเศรษฐกิจแบบอนาล็อก (Analog Economy) การพัฒนาประเทศ เริ่มจากการเชื่อมต่อถนนหนทาง ทั้งทางเรือ ทางน้ำ และทางรถไฟ เพื่อส่งเสริมด้านการคมนาคมให้สะดวกและสามารถขนถ่ายสินค้าได้อย่างรวดเร็วขึ้น ช่วยส่งเสริมให้เกิดความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศในรูปแบบที่คล้ายคลึงอนาล็อก โดยไม่ต้องมีระบบคอมพิวเตอร์หรือการสื่อสารที่ซับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง และนั่นก็เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่แพร่หลายในระดับสากลของยุคสมัยนั้น
ขณะที่ยุคปัจจุบันความทันสมัยและเทคโนโลยีถูกคาดหวังให้เข้ามามีบทบาทเสริมความแข็งแกร่งและเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้คน สังคมและธุรกิจมากขึ้น ความคาดหวังในเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) จึงหมายถึงการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างการเชื่อมต่อทั้งระบบดิจิตอลที่มีอยู่หลากหลายเช่น โมบายบรอดแบนด์ ไฮสปีดอินเทอร์เน็ต เกตเวย์ และโครงสร้างการเชื่อมต่อในอนาคตที่ให้ความเร็วในการเชื่อมต่ออย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนกฏหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเอื้อให้เกิดการใช้งานจริง หรือเพื่อบังคับใช้และลดปัญหาการเรียกสำเนากระดาษในการทำธุรกรรมกับหน่วยงานรัฐ และเอกชน ดังที่เกิดปัญหาการตรวจสอบเงินคูปองทีวีดิจิตอลที่ล่าช้าจนส่งผลเสียต่อผู้ประกอบการ
จุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจดิจิตอล จึงกลายเป็นการสร้างความเชื่อมโยงด้านเครือข่ายให้สามารถรองรับการใช้งานได้ทุกรูปแบบการดำรงชีวิต โดยส่งเสริมให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วให้กับประชากร ตลอดจนเชื่อมโยงเศรษฐกิจของทั่วโลกเข้าไว้ด้วยกัน จุดเริ่มต้นนี้ไม่มีข้อจำกัดของจุดสิ้นสุด ด้วยเพราะเทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง
***อุปกรณ์เริ่มสื่อสารกับเรา
สิ่งหนึ่งที่สะท้อนทิศทางการเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตอลได้เป็นอย่างดีก็คือ เทคโนโลยีที่เริ่มฝังตัวเข้าอยู่ในอุปกรณ์ และทำให้อุปกรณ์เริ่มอัจฉริยะมากขึ้น อีริคสันได้ยกตัวอย่างการวิจัยร่วมกันกับอาดิดาส ในการสร้างลูกฟุตบอลอัจฉริยะ สามารถเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนผ่านบลูทูธ เพื่อรายงานพฤติกรรมการเตะของนักเตะนั้นๆได้อย่างละเอียด จนนำไปสู่การปรับตัวและแก้ไขจุดบกพร่องในตัวนักเตะเองได้อย่างสมบูรณ์ นับเป็นจุดเริ่มต้นการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์และมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะยังไม่ใช่การสื่อสารโต้ตอบแบบอัตโนมัติ ดังที่หลายๆคนคาดหวังแต่ก็เป็นจุดเริ่มของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้แนวคิดดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ลูกฟุตบอลเท่านั้น ลูกบาสเกตบอลที่สามารถเก็บข้อมูลการกระแทก ตลอดจนบันทึกทิศทางการชู้ตลงห่วง โดยสามารถเชื่อมต่อเข้ากับแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนผ่านระบบบลูทูธ เพื่อรายงานผลสะท้อนพฤติกรรมการเล่น สู่การพัฒนาทักษะต่อไปในอนาคต โดยลูกบาสเกตบอลดังกล่าว ใช้การชาร์จไฟผ่านระบบการชาร์จไร้สาย เพียงวางบนแท่นชาร์จในตำแหน่งที่ถูกต้อง ระบบการชาร์จก็จะเริ่มดำเนินการอัตโนมัติ อนึ่งการชาร์จอัตโนมัติปัจจุบันเราจะเห็นตัวอย่างได้จากหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ซึ่งเมื่อเครื่องทำงานจนระยะพลังงานต่ำลงถึงจุดหนึ่ง เครื่องจะพยายามวิ่งตรงไปที่แท่นชาร์จเพื่อวางตัวเองลงบนตำแหน่งชาร์จและเริ่มทำงานระบบชาร์จอย่างอัตโนมัติทันที
ทิศทางการพัฒนาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นการเชื่อมโยงเทคโนโลยีสู่การพัฒนาทักษะของมนุษย์ให้ทลายขีดจำกัดของการฝึกฝนได้อย่างลงตัว และแม้ว่าสิ่งนี้จะเป็นเพียงการทำให้อุปกรณ์สามารถสื่อสารกับมนุษย์ได้เท่านั้น แต่ก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมที่จะเข้ามาส่งเสริมให้เกิดการใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจดิจิตอลมากยิ่งขึ้น แน่นอนเมื่ออุปกรณ์สามารถสื่อสารกับมนุษย์ได้เชื่อมโยงระหว่างอุปกรณ์เพื่อความต่อเนื่องในการใช้งานย่อมต้องเกิดขึ้น และนำไปสู่แนวความคิด 'IoT' Internet of Things หรือการเชื่อมโยงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้สามารถสื่อสารระหว่างกันได้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานร่วมกันอย่างสมบูรณ์แบบ
***ความพร้อมของไทยสู่โลกดิจิตอล
บัญญัติ เปิดเผยว่า คนไทยมีความนิยมในการดูวิดีโอและใช้แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนที่สูงมากขึ้น การใช้สมาร์ทโฟนและปริมาณการรับส่งข้อมูลนั้นมีอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2015 อีริคสันคาดการณ์ว่าการใช้งานโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยจะอยู่ที่ 103 ล้านการใช้งาน (ประมาณ 150% ของจำนวนประชากร) จากปี 2014 มีตัวเลขอยู่ที่ 97.7 ล้านการใช้งาน (ประมาณ 145% ของจำนวนประชากร) โดยการเข้าถึงเครื่องสมาร์ทโฟนคิดเป็นสัดส่วนที่ประมาณ 50% ในปี 2015 และ การใช้งานโมบายดาต้าจะเพิ่มขึ้น 8 เท่า ในช่วงระหว่างปี 2014 - 2020
'ประเทศไทยมีความพร้อมในเทคโนโลยีพื้นฐานอยู่ในอันดับ 3 ของภูมิภาค โดยจะเป็นรองก็เพียงแค่สิงคโปร์และมาเลเซีย เท่านั้น' บัญญัติ กล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการเข้ามามีบทบาทในชีวิตคนไทยมากขึ้นของโทรศัพท์มือถือ โดยจากงานวิจัยพบว่า 23% ของคนไทยมองว่า โซเชียลมีเดียและการส่งข้อความ (Instant Messaging : IM) นั้นมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขา ขณะที่ 89% ของคนไทยใช้งานโซเชียลมีเดียในทุกๆ สัปดาห์ คนไทยมีความนิยมในการดูวิดีโอและใช้แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนที่สูงมากขึ้น
แน่นอนว่าสังคมเครือข่ายทำให้ผู้คน ธุรกิจและสังคม สามารถเข้าถึงศักยภาพของตนเองได้สูงสุดและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนต่อไป โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี โมบาย คลาวด์ และ บรอดแบนด์ ซึ่งสังคมเครือข่าย กลายเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ผลักดันให้เกิดการขยายตัวและเพิ่มขีดความสามารถในระบบ Digital Economy ทั้งในภาคธุรกิจและสังคมไทยโดยรวม
และนอกจากนี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศในอันดับที่ 3 จากในกลุ่มประเทศ AEC ที่มีการเข้าถึงโมบายบรอดแบรนด์ โดยอุตสาหกรรมด้านโทรศัพท์มือถือมีความต้องการเข้าถึงคลื่นความที่มากขึ้น เพื่อการเข้าถึงโมบายบรอดแบรนด์ในราคาที่ถูกลง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสในด้านของการแข่งขันและความน่าสนใจในภูมิภาค รวมทั้งนับเป็นโอกาสสำคัญของนักพัฒนาแอปพลิเคชันของไทยที่จะก้าวไปสู่ตลาดในกลุ่มประเทศ AEC
*** 10 เทรนด์ผู้บริโภคในปี 2015
รายงาน '10 เทรนด์ผู้บริโภคในปี 2015' เกิดจากผลการศึกษาโครงการวิจัยทั่วโลกของ Ericsson ConsumerLab จากกลุ่มตัวอย่างผู้เป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ถึง 69 ปีที่อาศัยอยู่ในเมือง โจฮันเนสเบิร์ก ลอนดอน เม็กซิโกซิตี นิวยอร์ก มอสโคว์ ซานฟรานซิสโก เซาเปาลู เซียงไฮ้ ซิดนีย์และโตเกียว โดยตามตัวเลขสถิติจะเป็นตัวแทนของกลุ่มประชากรจำนวน 85 ล้านคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่เสมอ
1. ผู้คนจะติดใจการรับชมแบบสตรีม รูปแบบการใช้งานสื่อแบบต่างๆ กำลังแพร่ขยายไปทั่วโลก ผู้ชมกำลังหันไปหาบริการออนดีมานด์ที่พวกเขาสามารถเข้าถึงเนื้อหาวิดีโอข้ามแพลทฟอร์มได้โดยง่าย โดยในปี 2015 จะเป็นปีสำคัญที่ผู้คนจะชมวิดีโอจากการสตรีมเป็นรายสัปดาห์มากกว่าการดูรายการทีวีตามผังรายการ
2. บ้านอัจฉริยะ บ้านจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อาศัย ผู้บริโภคจะให้ความสนใจในการติดตั้งเซนเซอร์ในบ้านเพื่อการแจ้งเตือน เกี่ยวกับปัญหาภายในบ้านเช่นระบบน้ำและไฟฟ้า หรือบอกสถานะสมาชิกครอบครัวว่ามีการเข้า-ออกบ้านอย่างไร
3. การสื่อสารผ่านทางความคิด การสื่อสารรูปแบบใหม่ๆ จะปรากฏออกมาเรื่อยๆ ทำให้เรามีวิธีติดต่อกับเพื่อนฝูงหรือครอบครัวมากขึ้น เจ้าของสมาร์ทโฟนหลายคนอยากใช้งานอุปกรณ์แวร์เอเบิลที่ทำให้สามารถสื่อสารกับคนอื่นได้ผ่านทางความคิด และเชื่อว่าอุปกรณ์นี้จะกลายเป็นของกระแสหลักในปี 2020
4. พลเมืองอัจฉริยะ แนวคิดเรื่องเมืองอัจฉริยะเริ่มเกิดขึ้น แต่ความฉลาดที่ประกอบเป็นเมืองอัจฉริยะนั้นจะต้องเกิดขึ้นจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของคนในเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างอัจฉริยะด้วย ยิ่งอินเทอร์เน็ตทำให้เรารับข้อมูลมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งตัดสินใจได้ดีมากขึ้นเท่านั้น ผู้บริโภคเชื่อว่าแผนที่แสดงการใช้งานอินเทอร์เน็ต แอปพลิเคชันเปรียบเทียบการใช้พลังงานและเครื่องตรวจวัดคุณภาพน้ำแบบเรียลไทม์นั้นจะกลายเป็นของกระแสหลักในปี 2020
5. เศรษฐกิจแบบแบ่งปันกัน อินเทอร์เน็ตทำให้เราสามารถแบ่งปันข้อมูลกันได้แบบง่ายดายยิ่งกว่าที่เคยเป็นมามากเท่าไหร่ แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจแบบแบ่งปันนั้นก็ยิ่งแพร่หลายมากขึ้นเท่านั้น ผู้ใช้สมาร์ทโฟนครึ่งหนึ่งจากทั้งหมดนั้นเปิดกว้างต่อแนวคิดในการให้เช่าห้องว่าง เครื่องใช้ส่วนตัวในบ้านและอุปกรณ์หรูหราที่เหลือใช้เพราะว่าสะดวกและสามารถประหยัดเงินได้มากขึ้น
6. กระเป๋าเงินดิจิตอล โดย48% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนนั้นอยากใช้โทรศัพท์ในการจ่ายค่าสินค้าและบริการ ขณะที่ 80% เชื่อว่าสมาร์ทโฟนจะเข้ามาแทนที่กระเป๋าเงินในปี 2020
7. ข้อมูลของฉันต้องปลอดภัย แม้ว่าการแบ่งปันข้อมูลเมื่อมีผลประโยชน์นั้นจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนก็ยังไม่เห็นว่าควรจะเปิดเผยการกระทำของตนเองให้กับผู้อื่น 47% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนต้องการจะจ่ายผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยไม่มีการส่งข้อมูลส่วนบุคคลแบบอัตโนมัติตามไปด้วย โดย56% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนต้องการให้การสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตทั้งหมดนั้นมีการเข้ารหัส
8. อายุขัยที่ยืนยาวขึ้น ผู้ใช้สมาร์ทโฟนนั้นเห็นว่าบริการคลาวด์ในหลากหลายรูปแบบนั้นเปิดโอกาสให้พวกเขาได้มีสุขภาพที่ดีและยืนยาวกว่าเดิม แอปพลิเคชันที่ใช้ขณะวิ่งจ็อกกิ้ง ตรวจวัดหัวใจและแผ่นที่สามารถตรวจวัดอาหารของเราได้นั้นถูกเชื่อว่าจะช่วยยืดชีวิตของเราได้ถึง 2 ปีต่อหนึ่งแอปพลิเคชัน
9. หุ่นยนต์ใช้งานในครัวเรือน ผู้บริโภคเริ่มเปิดรับแนวคิดการมีหุ่นยนต์ไว้ใช้งานในครัวเรือนเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระงานบ้านในแต่ละวัน โดย 64% เชื่อว่าหุ่นยนต์จะมีอยู่ในบ้านเป็นเรื่องปกติในปี 2020
10. ยุคของเด็ก เพราะเด็กจะเป็นผู้ผลักดันความต้องการอินเทอร์เน็ตในสังคมยุคใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะกลายเป็นโลกที่มีการเชื่อมถึงกันแบบที่เครื่องมือสื่อสารสามารถเชื่อมถึงกันได้ในปัจจุบัน ผู้ใช้สมาร์ทโฟน 46% นั้นกล่าวว่าเด็กๆ คาดหวังว่าของทุกอย่างจะสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้เมื่อพวกเขาโตขึ้น
Company Related Link :
Ericsson