ทูตอังกฤษหารือ กสท. “สุภิญญา” รับเรื่องพิจารณา เล็งทำคู่มือจริยธรรมและกำกับดูแลกันเองเชิงลึก ด้านทูตอังกฤษแจงไม่ได้ปิดกั้นเสรีภาพสื่อ เพียงแต่ต้องการหารือร่วมกัน ส่วนความคืบหน้าการเรียก 3 ช่อง รายการเด็ก เยาวชนและครอบครัว ผ่านฉลุยผู้ผลิตรายการพร้อมปรับผังให้ถูกตามเงื่อนไขใบอนุญาต
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยว่า นายมาร์ก เคนท์ เอกอัครราชฑูตอังกฤษประจำประเทศไทย ได้เข้ามาหารือกับตนเอง ในกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวสารซึ่งมีผลกระทบกับบุคคลแวดล้อมในข่าว โดยยกกรณีการนำเสนอข่าวเกาะเต่า ซึ่งการเข้าพบครั้งนี้เป็นเรื่องปกติที่ทูตของประเทศนั้นๆ จะเข้าหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานที่กำกับดูแล ซึ่ง กสท.มีบทบาทการดูแลสื่อในส่วนของวิทยุและโทรทัศน์
การเผยแพร่ที่ส่วนใหญ่ที่กระจายไปอย่างรวดเร็วมาจากโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่ง กสท.ไม่สามารถดูแลในส่วนนั้นได้ แต่หากเป็นส่วนของเว็บไซต์ของสำนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ อาจช่วยดูแลได้ ทั้งนี้จะให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เชิญผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่อง รวมถึงองค์กรวิชาชีพสื่อมาหาแนวทางเพื่อให้กำกับดูแลกันเอง โดยอาจทำในรูปแบบของคู่มือจริยธรรมและการกำกับดูแลกันเองในเชิงลึกมากขึ้น ซึ่งอาจต้องขอแนวทางจากจากอังกฤษที่มีอยู่แล้ว
ด้านนายมาร์ก เคนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า การหารือครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานที่กับกำดูแล ซึ่งมองว่า บทบาทของสื่อมวลชนไทยมีความสำคัญมากในการนำเสนอข่าว และสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่างเสรี แต่ทั้งนี้ก็ต้องคำนึงถึงบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบต่อจริยธรรมสื่อด้วย
***3 ช่องเด็ก ยินดีปรับผังรายการ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กสท.ยังได้เชิญทีวีดิจิตอลประเภทช่องรายการเด็ก เยาวชน และครอบครัว 3 ช่อง ได้แก่ ช่องโลก้า ช่อง 3 แฟมิลี่ และช่องเอ็มคอต คิด แอนด์ แฟมิลี่ เข้าร่วมรับฟังทำความเข้าใจและหารือในการปรับผังรายการให้สอดคล้องกับเงื่อนไขตามใบอนุญาต หลังจากที่ กสท.มีมติไม่อนุมัติผังรายการเมื่อวันที่ 13 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยหลังจากหารือทั้ง 3 ช่องยินดีให้ความร่วมมือในการปรับเปลี่ยนผังรายการ
นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า 2-3 เดือนที่ผ่านมา การสำรวจและตรวจสอบของโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม หรือ มีเดียมอนิเตอร์ พบว่า ผังรายการของช่องเด็กยังคงขาดเนื้อหาที่เป็นประเภท ป 3+ หรือรายการสำหรับเด็กปฐมวัยอายุ 3-5 ปี และ ด 6+ หรือ รายการสำหรับเด็ก อายุ 3-12 ปี มีแต่รายการประเภท ท หรือ รายการทั่วไปเหมาะสำหรับผู้ชมทุกวัยสามารถดูได้ โดยเป้าหมายของช่องเด็กคือการมีเนื้อหารายการที่ส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้ตั้งแต่ช่วงปฐมวัย ซึ่งก่อนมีการประมูลช่อง กสท.ก็ได้กำหนดเงื่อนไขชัดเจนว่า จะต้องมีสัดส่วนเนื้อหาที่กระจายกันไปในเด็ก เยาวชน และครอบครัว
“ช่องรายการที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ ช่องโลก้า เนื่องจากยังขาดประสบการณ์จัดเรตติ้ง เพราะยังคงเคยชินกับการเป็นช่องดาวเทียม ส่วนอีก 2 ช่องไม่น่าเป็นห่วงนัก เพราะมีประสบการณ์ของการเป็นฟรีทีวีมาก่อน จึงง่ายในการทำความเข้าใจ“
สำหรับเรื่องการหารายได้ของช่องรายการเด็ก นางสาวสุภิญญา ให้กำลังใจว่า ขอให้เดินหน้าสร้างเนื้อหารายการที่ดีต่อไป เพราะในอนาคตอาจได้รับเงินทุนสนับสนุนรายการดีมีสาระแต่ไม่ค่อยมีรายได้จาก พ.ร.บ.สื่อสร้างสรรค์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่าง พ.ร.บ.
Company Relate Link :
กสทช.
CyberBiz Social
http://instagram.com/cbizonline