xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.หลงทิศจะพาอุตสาหกรรมลงเหว (Cyber Talk)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เข้าใจได้ว่า กสทช. ชุดนี้ มีภารกิจหลักคือ การเปลี่ยนผ่านจากทีวีอนาล็อกไปสู่ทีวีดิจิตอล เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก มีช่องดูมากขึ้น มีคุณภาพภาพและเสียงคมชัดขึ้นเพื่อให้อุตสาหกรรมโดยรวมเติบโต และเพื่อประโยชน์ทั้งหมดตกสู่ประชาชน แต่สิ่งที่เห็นอยู่ในขณะนี้ กสทช กำลังหลงทิศไปผิดทาง จากความเชื่อว่าตอนนี้ดิจิตอลทีวีส่วนหนึ่ง คงไปไม่รอด มาลองวิเคราะห์ดูต้นตอของปัญหาว่าเกิดจากอะไร

1.จำนวนช่องออกมาพร้อมกันมากเกินไป

คิดเฉพาะช่องคอมเมอร์เชี่ยลก็ 24 ช่องเข้าไปแล้ว กสทช.ไม่ได้ดูขนาดตลาดของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ของประเทศไทยในปัจจุบันว่ารองรับได้กี่ช่อง จากเดิมที่ฟรีทีวีของประเทศไทยในระบบอนาล็อกมีรายได้หลักมาจากการขายโฆษณาปีละประมาณ 70,000 ล้านบาท โดยมี 2 เจ้าตลาดคือ ช่อง 3 และ ช่อง 7 ที่รับส่วนแบ่งกันไป 23,000 ล้านบาท และ 21,000 ล้านบาท รวมกันประมาณกว่า 60% (ที่มา: MATT) จากเดิมแค่ 6 ช่องก็เหนื่อยแล้ว แต่ยังดึงดันให้ฟรีทีวีมีถึง 24 ช่อง เค้กก้อนเท่าเดิมแต่ตัดแบ่งกันขนาดนี้ ผู้เล่นรายใหม่จะเหนื่อยขนาดไหน เมื่อต้องมาสู้กับยักษ์ใหญ่ในวงการ

2. ต้นทุนสูง รายได้ไม่เพียงพอ

ประมาณการต้นทุนของทีวีดิจิตอลคร่าวๆ หากคิดจะทำทีวีดิจิตอลต้องเตรียมเงินไว้เลยอย่างต่ำปีละ 1,420 ล้านบาท หรือประมาณ 120 ล้านบาทต่อเดือน เพื่อเตรียมจ่ายค่าความถี่ 150 ล้านบาท ค่าโครงข่าย 70 ล้านบาท และค่าผลิตรายการ 1,200 ล้านบาทต่อปี ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมรายปีที่เสียให้ กสทช.อีก 4% จากยอดขาย อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารบริษัท

ลองมาคิดดูกันว่า สำหรับรายจ่ายขนาดนี้ ถ้าจะอยู่รอดกันให้ได้ ช่องทีวีดิจิตอลต้องได้ค่าโฆษณาอย่างต่ำนาทีละเท่าไหร่ แค่ให้พอรองรับค่าใช้จ่าย? จากการออกอากาศที่คิดแบบเผื่อๆกันเลยที่ 20 ชม. ต่อวัน และสามารถโฆษณาได้สูงสุด 12 นาทีตามกฎของ กสทช. และสมมุติให้อัตราการซื้อโฆษณาจากเอเยนซี่สูงถึง 50% จะพบว่าค่าโฆษณาอย่างต่ำควรจะขายได้นาทีละ 30,000 บาทขึ้นไป ขณะที่ตัวเลขโฆษณาในปัจจุบันขายกันได้เฉลี่ยไม่ถึง 10,000 บาทต่อนาที ที่หนักหนากว่านั้นคือระบบการทำ Rating ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับกันเป็นมาตรฐาน เอเยนซี่ก็ยังไม่ไปลงโฆษณา อย่าว่าแต่จะขายได้ 50 % เลย แค่ 20-30% ก็ถือว่าเก่งแล้ว อย่างนี้มันจะอยู่รอดได้อย่างไร

3.คนดู ดูไม่ได้ โครงข่ายไม่ทั่วถึง ไม่มีกล่องรับสัญญาณ

กสทช. บอกว่าจะใช้เวลา 3 ปี ในการขยายโครงข่าย จากแผนการขยายโครงข่าย ปัจจุบันควรจะพร้อมให้บริการเต็มรูปแบบ 20 จังหวัด แต่วันนี้ก็ยังติดขัด มีจุดบอด รับไม่ได้ จากประกาศรายชื่อจังหวัดที่จะได้รับคูปองลำดับแรก โดยพิจารณาจากจังหวัดที่มีสัญญาณครอบคลุม 80% ของพื้นที่ จะพบได้ว่ามีเพียง 11 จังหวัด ที่เป็นไปตามแผนงาน

อีกหนึ่งปัญหาใหญ่คือคูปอง ก็ออกมาช้า เดิมบอกว่าจะออกตั้งแต่เดือนพ.ค.จนวันนี้ ก.ย.แล้ว ก็ยังไม่ออกมา คนรู้ว่าจะมีคูปอง ก็รอไม่ซื้อกล่องสรุปคือ ไม่มีคนดูผ่านโครงข่ายภาคพื้นดิน

วันนี้ช่องทางที่ดูกันได้จริงๆ ก็คือผ่านดาวเทียมกับเคเบิลและทรูวิชั่น ที่รวมกันครอบคลุมไปแล้ว 70% ของประชากร ถ้าตอนนั้นกำหนดให้คูปองไปแลกซื้อกล่องดาวเทียมและเคเบิลที่กำหนดให้เป็นกล่องแบบ HD ได้ด้วย ป่านนี้ 70% ที่มีกล่องรุ่นเก่าก็คงไปเปลี่ยนเป็นกล่องดูช่องดิจิตอล HD กันไปบ้างแล้วและอีก 30% ที่เหลือก็คงได้ดูทีวีดิจิตอลผ่านดาวเทียมและเคเบิลกันไปนานแล้ว และที่สำคัญไม่ว่าที่ไหนก็ดูได้ ไม่ต้องรอโครงข่ายภาคพื้นดิน

แล้วที่ผ่านมา กสทช ทำอะไร?

4.ทุบตีทีวีดาวเทียมและเคเบิล

บังคับให้ทุกช่องทีวีดาวเทียมและเคเบิลเปลี่ยนสถานภาพเป็นช่องบอกรับสมาชิก ทั้งๆที่เขาเป็นช่องฟรี บังคับให้ลดจำนวนนาทีโฆษณาเหลือแค่ 6 นาที หวังว่าเงินโฆษณาจะไหลไปที่ช่องดิจิตอล ซึ่งเป็นการแก้ไขแบบผิดจุด ผิดที่ผิดทาง จริงๆแล้ว ไม่ต้องไปกลัวว่าช่องดาวเทียมเคเบิลจะมาแย่งค่าโฆษณา เพราะว่ามันคนละกลุ่มเป้าหมายกัน โฆษณาในช่องทีวีดาวเทียมและเคเบิลจะเป็นธุรกิจ SME เป็นส่วนใหญ่ ออกอากาศบนโครงข่ายดาวเทียมที่ครอบคลุมทั่วประเทศ แต่มีค่าใช้จ่ายเพียง 10 ล้านบาทต่อปี เทียบกับโครงข่ายภาคพื้นดินที่มีค่าใช้จ่ายกว่า 200 ล้านบาทเฉพาะค่าความถี่กับโครงข่าย

5.ทุบตีช่อง 3 อนาล็อก

มหากาพย์เรื่องยาวที่ต้องบังคับให้ช่อง 3 มาขึ้นแพลตฟอร์มทีวีดิจิตอล เพราะหวังจะพึ่งให้ช่วยมาดึงคนดู นี่ก็ยังเจรจากันไม่เสร็จ ต้องติดตามกันต่อไป มันจึงควรให้ กสทช. ฉุกคิดกันได้หรือยังว่า ถ้าคิดจะช่วยให้ทีวีดิจิตอลรอด มันก็ต้องไปช่วยทีวีดิจิตอลดีกว่า ไม่ใช่ไปทุบตีคนอื่น

จากปัญหารอบด้าน โดนฟ้องร้องรอบทิศ ทางแก้ปัญหาของกสทช. อาจทำได้ดังนี้

1.กสทช. ควรส่งเสริมอุตสาหกรรมในภาพรวม ไม่ใช่ออกกฏเพื่อทำความเดือดร้อนให้ผู้ประกอบต่างๆทั้ง อนาล็อก ดาวเทียม เคเบิล เพื่ออุ้มทีวีดิจิตอล ซึ่งในความเป็นจริงเป็นการแก้ผิดที่ เพราะสุดท้ายทีวีดิจิตอลก็ไปไม่รอดอยู่ดีเพราะมันมีจำนวนช่องมากเกินไป ต้นทุนสูงเกินไป ขณะที่มีเค้กค่าโฆษณาเท่าเดิม และต่อไปจะยิ่งลดลงไปอีกเพราะโฆษณาเริ่มไหลไปที่ ดิจิตอลแอดที่เกิดใหม่ เช่น ใน YouTube ที่กำลังเริ่มจะเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ

2.ปัญหาทีวีดิจิตอล จริงๆ มันเหมือนคนใส่เสื้อแล้วกลัดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก เพราะมีการออกใบอนุญาตมากเกินไป กสทช. ควรกลับไปคิดว่าจะเยียวยาทีวีดิจิตอลยังไง ให้บางช่อง ย้ำว่าบางช่องเท่านั้น พออยู่รอดได้บ้าง เช่น ลดค่าธรรมเนียม, ตั้งกองทุนทำเรื่อง rating ให้เป็นเรื่องเป็นราว, ให้ subsidize ช่องที่มีเนื้อหาเป็นประโยชน์ต่อสังคม, รีบขยายโครงข่าย,ปรับปรุงคุณภาพโครงข่าย, ออกคูปองให้เร็วและเพิ่มเงื่อนไขให้แลกกล่องดาวเทียมเคเบิลได้ด้วย ฯลฯ ไม่ใช่ออกกฏไปกดดันช่องทางอื่น มันจะล้มกันไปทั้งระบบ

กสทช. ต้องไม่ลืมว่าภารกิจหลักของตนเองคือพัฒนาอุตสาหกรรมโทรทัศน์ของประเทศไทยทั้งหมด และ สร้างความสุขในการชมทีวีของคนในชาติ จึงต้องจูนแนวคิดของการทำงานของ กสทช. ให้มาถูกคลื่น วางตัวเป็นกลางสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเติบโตทุกภาคส่วน และกำกับให้ทุก แพลตฟอร์มทั้ง ทีวีอนาล็อก ทีวีดิจิตอล ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี แข่งกันและช่วยกันนำส่งบริการและ คอนเทนต์ที่ดีไปสู่ประชาชนให้ทั่วถึงผ่านทุกช่องทาง ปล่อยให้กลไกตลาดเป็นตัวขับเคลื่อน อย่าไปคิดจะเป็นคน “ออกแบบ” หรือ “กำหนด” อุตสาหกรรม แบบที่ตัวเองคิดและต้องการ กสทช. จะไปรู้ดีกว่าคนที่เขาทำธุรกิจอยู่ได้อย่างไร

อย่าลืมว่า สุดท้าย ประชาชนก็เป็นคนเลือกอยู่ดีว่าอยากดูอะไร กสทช จะไปใช้อำนาจบังคับสื่ออื่น เคเบิล ดาวเทียม อนาล็อก ให้ตาย แล้วให้ประชาชนดูแต่ทีวีดิจิตอลหรือ ปัจจุบันช่องทีวีดิจิตอลที่มี มีกี่ช่องที่มีเนื้อหาน่าสนใจ แล้วจะให้ประชาชนมีทางเลือกน้อยลงโดยใช้กฏบีบให้ช่องทางอื่นอยู่ไม่ได้หรือ นี่หรือคือบทบาทของกสทช. มันคือการคืนความสุขให้ประชาชนหรือการทำลายอุตสาหกรรมและสร้างความทุกข์ให้ผู้ประกอบการและประชาชนกันแน่
กำลังโหลดความคิดเห็น