xs
xsm
sm
md
lg

ยุคทอง อีคอมเมิร์ซไทยแข่งดุ !!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตลาดค้าปลีกอีคอมเมิร์ซไทย หรือ B2C ออกแววแข่งดุ ชิงเค้กมูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาท ผู้ค้ารายใหญ่เริ่มใช้กลยุทธ์หั่นราคาขายด้วยส่วนลดสูงสุด 90% ขณะที่ตลาดกลาง หรือ Market Place เริ่มขยายช่องทางเพิ่มความสะดวก และความน่าเชื่อถือมากขึ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งระบบซื้อขายอย่างเพย์ โซลูชัน และเพย์ สบาย ที่เริ่มขยายช่องทางชำระเงินเพื่อการใช้จ่ายที่สะดวกเจาะกลุ่ม B2C ขณะที่โมเดลใหม่ทำแต้มแลกส่วนลดเริ่มผุดเป็นดอกเห็ดสอดรับแบรนด์ใหญ่สนองลูกค้าพรีเมียมโดยเฉพาะ

รายงานจากนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า การใช้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยจะมีมูลค่ามากถึง 89,400 ล้านเหรียญ ในปี 2014 และเติบโตขึ้นทุกปีไม่น้อยกว่า 0.9% โดยนับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นไป จะมีอัตราการเติบโตสูงกว่า 1.1% อย่างต่อเนื่อง คิดเป็นมูลค่ากว่า 127,700 ล้านเหรียญ ในปี 2020 ส่งผลให้เกิดการแข่งขันเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดทั้งโครงสร้างของระบบอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ยอดขายกลุ่มค้าปลีก B2C นับเป็นกลุ่มรูปแบบการขายเดียวที่มีอัตราการเติบโตเป็นบวกกว่า 21.75% นับจากปี 2011 ที่มีมูลค่า 99,706 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในปี 2012 มูลค่ากว่า 121,392 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าการซื้อขายในปี 2014 ยังคงคาดการณ์ว่าจะคงที่ราว 1.2 แสนล้านบาท

โดยผลสำรวจล่าสุดของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA มีรายงานสอดคล้องต่อตัวเลขดังกล่าว โดยระบุว่าพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยมีอัตราเพิ่มขึ้นจากปี 2013 ที่ใช้เวลาอยู่กับอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 32.3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นเป็น 50.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในปี 2014 โดยเพิ่มขึ้นกว่า 56% เฉลี่ย 7.2 ชั่วโมงต่อวัน และพบว่าการซื้อสินค้าของผู้บริโภคมีมูลค่าเฉลี่ยสูงสุดถึง 4,000 บาทต่อครั้ง แม้ว่ารูปแบบการจ่ายเงินส่วนใหญ่กว่า 60.1% ยังคงเป็นการโอนเงินผ่านธนาคาร แต่ข้อมูลดังกล่าวก็สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมการซื้อที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค โดยมีความมั่นใจในการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น

*** ค้าปลีกใหญ่โดดเข้าออนไลน์หั่นราคา

อัตราการขยายตัวดังกล่าวส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นตลาดที่น่าสนใจในภูมิภาคขึ้นมาอย่างชัดเจน โดย นายแม็กซิมิลเลียน บิทเนอร์ ประธานกรรมการบริหารสูงสุด ลาซาด้า ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุชัดว่า อัตราการเติบโตของอีคอมเมิร์ซมาจากสภาพเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีการเติบโตของผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และที่ผ่านมา ตลาดอีคอมเมิร์ซจะมีสัดส่วนราว 1% ของตลาดรวมค้าปลีก แต่ปัจจุบันมีสัดส่วนขึ้นไปอยู่ราว 10% แล้ว ถือว่ามีการเติบโตหลายเท่าตัว ทั้งนี้ สินค้าของลาซาด้ากว่า 60% จะเป็นสินค้าในกลุ่มไลฟ์สไตล์ โดยผู้ใช้งานเว็บไซต์กว่า 40% มาจากการใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ ขณะที่แคมเปญส่งเสริมการขายที่ผ่านมา มีการลดราคาสินค้าสูงสุด 90% เพื่อหวังเพิ่มยอดขาย และปริมาณผู้เข้าใช้งานให้เพิ่มมากกว่าเวลาปกติเป็นเท่าตัว จากจุดแข็งในแง่ของการแข่งขันด้านราคา และบริการจัดส่ง

ขณะที่ผู้ค้าปลีกรายใหญ่อย่างบิ๊กซี ก็ตื่นตัวต่อข่าวการเข้ามาเล่นตลาดออนไลน์ของผู้ขายรายใหม่ในประเทศไทย โดยร่วมจับมือกับผู้ค้าออนไลน์สัญชาติฝรั่งเศส อย่าง Cdiscount เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อนำสินค้าทั้งหมดขึ้นขายบนระบบออนไลน์ ซึ่งแตกต่างไปจากธุรกิจออนไลน์เดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อเป็นช่องทางในการนำสินค้าที่นอกเหนือจากสินค้าบิ๊กซี มาจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ โดยทั้ง 2 ช่องทางจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงตลาดอีคอมเมิร์ซที่กำลังเติบโต โดยงัดกลยุทธ์ด้านราคาด้วยส่วนลดทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคมาลดสูงสุดกว่า 90% บนหน้าเว็บไซต์ ขณะที่ซีพีออลล์ ที่มียอดขายผ่านเว็บไซต์เพียงไม่ถึง 5% เริ่มตั้งเป้ายอดขายออนไลน์เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของอีคอมเมิร์ซในปัจจุบัน

*** พัฒนาระบบจ่ายเงินดัน B2C สะดวกซื้อ

ขณะที่ระบบการจ่ายเงินที่เริ่มเข้ามาจับตลาด B2C และเพิ่มช่องทางการชำระเงินให้สะดวกมากยิ่งขึ้น อย่าง เพย์ โซลูชัน ที่เพิ่งเข้าซื้อกิจการ “ไทยอีเพย์ (ThaiePay)” หลังเห็นศักยภาพและความพร้อมที่จะสามารถพัฒนา และต่อยอดธุรกิจให้รองรับการเติบโตที่สูงขึ้น ยังคาดการณ์ว่าปลายปีนี้ตลาดการค้าออนไลน์จะเป็นที่นิยม และเปิดกว้างมากขึ้น จากปัจจุบันที่มียอดค่าใช้จ่ายผ่านระบบอยู่ที่ประมาณ 30-40 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 400 ล้านบาทต่อปี ให้เติบโตขึ้นกว่า 400% จากยอดผู้เข้าใช้บริการอย่างน้อย 1,200 ร้านค้าสมาชิก เตรียมพร้อมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่แบบครบวงจรให้ผู้ค้าทุกกลุ่มบนโซเชียลเน็ตเวิร์กภายในช่วง 2 เดือนข้างหน้า

ขณะที่เพย์สบาย ผู้พัฒนาระบบชำระเงินออนไลน์เช่นกัน เริ่มดันยอดการชำระเงิน ผ่านการเปิดตัว PAYSBUY MasterCard บัตรเครดิตเสมือน ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าขาชอปแต่ยังไม่มีบัตรเครดิตเป็นของตัวเองสามารถชอปออนไลน์ได้อย่างสนุกมือ ผ่าน 10,500 ร้านที่รองรับ หวังกระตุ้นยอดซื้อขายผ่านบัตรไม่น้อยกว่า 36 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 150 ล้านบาท ในปี 2558 โดยคาดการณ์ว่ามูลค่ารวมของการใช้จ่ายผ่านระบบเพย์สบาย ในปี 2557 จะมีมูลค่ารวมมากกว่า 2,900 ล้านบาท และมียอดสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 525,000 ราย

*** Market Place ไม่น้อยหน้า

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดออนไลน์อย่าง นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ราคูเท็น ตลาดดอทคอม ได้แสดงความเห็นภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซ ปี 2557 ว่าจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นกว่า 30% จากปี 2556 คิดเป็นมูลค่ารวม 7.4 แสนล้านบาท เนื่องจากการพัฒนาของเครือข่ายโทรคมนาคมที่ทำให้อินเทอร์เน็ตเข้าสู่ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมากขึ้น และจะทำให้มือถือกลายเป็นช่องทางหลักในการเพิ่มยอดขายให้แก่ผู้ประกอบการในปีนี้ โดยตลาดดอทคอม ยังตั้งงบการตลาดไว้ที่ 30-40 ล้านบาทเพื่อรุกตลาดโมบายล์โดยเฉพาะ เนื่องจากรายได้ผ่านช่องทางโมบายเติบโตกว่า 51% ซึ่งจะเน้นทำแคมเปญโมบายผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น โดยบริษัทมีสมาชิกอยู่ 2.5 แสนร้านค้า และมีรายได้จากการเก็บค่าเช่าร้าน ค่าคอมมิชชัน 3-5% และค่าโฆษณา เป็นหลัก

ด้านไลน์ ผู้นำด้านบริการแชตออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานกว่า 29 ล้านรายในประเทศไทย เริ่มเปิดบริการ Line Shop ย้ำจุดยืนเปิดแนวรุกบริการอีคอมเมิร์ซ โดยเปิดนำร่องทดสอบบริการเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น โดยสินค้าใน Line Shop จะเป็นการเสนอขายจากแบรนด์สู่ผู้บริโภค (brand-to-consumer) ซึ่งแตกต่างจากบริการอีคอมเมิร์ซระหว่างผู้บริโภคและผู้บริโภคด้วยกัน (consumer-to-consumer marketplace) ที่ไลน์เปิดให้บริการที่ญี่ปุ่นช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งการเปิดตัวครั้งนี้สะท้อนว่า ไลน์กำลังพยายามปฏิวัติตัวเองเพื่อขยายธุรกิจให้สามารถสร้างรายได้มากกว่าเดิม

*** โมเดลใหม่ทำแต้มแลกส่วนลด

ขณะที่บัซซี่บีส์ ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันแพลตฟอร์มแนวใหม่ที่หลอมรวมโซเชียลมีเดียให้กลายเป็นพรีวิวเลจ สำหรับผู้ใช้เฟซบุ๊กได้มีโอกาสสะสมแต้มเพื่อนำมาแลกส่วนลดสินค้า และบริการผ่านช่องทาง Marketplace เพียงเชื่อมต่อบัญชีเฟซบุ๊กหลังจากที่ติดตั้งโปรแกรมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกดไลก์ การแสดงความคิดเห็น การแชร์ หรือแม้กระทั่งการโพสต์ข้อความ กิจกรรมทั้งหมดจะถูกแปรเปลี่ยนเป็นแต้มเพื่อสะสมแลกรับส่วนลด หรือบริการที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยโมเดลใหม่นี้มียอดผู้ใช้งานในไทยแล้วกว่า 3 ล้านราย โดยมีสมาชิกเข้ามาชมสิทธิพิเศษต่างๆ สูงสุดถึง 4 หมื่นคนต่อวินาที หรือคิดเป็น 18 ล้านครั้งต่อเดือน ยิ่งมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น

โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวยังได้พันมิตรอย่างซัมซุง ในการพัฒนาแอป “ซัมซุง กาแล็คซี่ กิฟท์” ที่แม้ว่าจะเป็นเพียงการมอบสิทธิพิเศษให้ลูกค้าเพียงอย่างเดียว หากแต่ในมุมกว้างแล้วกลับเป็นการสร้างประสบการณ์ให้แก่ผู้บริโภคในการซื้อสินค้าออนไลน์ในทางอ้อมไปโดยปริยาย ต่างกันเพียงไม่ต้องชำระเงินเนื่องจากเป็นการแลกซื้อสิทธิพิเศษเฉพาะซัมซุงเท่านั้น โดยรูปแบบเช่นนี้ยังเกิดขึ้นกับอีกหลายแบรนด์ใหญ่ที่ร่วมกันพัฒนาสิทธิพิเศษให้แก่ลูกค้าของตน อย่างเช่น เอไอเอส ที่พัฒนา แอป “เอไอเอส พรีวิวเรจ” มอบสิทธิพิเศษให้ลูกค้าเช่นเดียวกัน โดยการดูแลลูกค้าดังกล่าวมีส่วนเสริมให้ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซจะไม่เติบโตแบบก้าวกระโดด แต่การแข่งขันที่ดุเดือดจากผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามาแข่งขันในตลาดมากขึ้น โดยมีการงัดกลยุทธ์ด้านราคาเข้าฟาดฟันจากทั้งรายใหญ่ และรายเล็ก โดยกลุ่มสินค้าที่มีการชอปออนไลน์มากสุด คือ บิวตี้ แฟชั่น โทรศัพท์มือถือ อาหารสุขภาพ นาฬิกา เครื่องประดับ ขณะที่กลุ่มการเงิน เริ่มสร้างบริการรูปแบบใหม่ เพื่อตอบสนองพฤติกรรม และสร้างความสะดวก ตลอดจนความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้ยอดการซื้อขายเติบโต จนส่งกลิ่นหอมหวนให้ผู้เล่นรายใหม่ไหลเข้ามาแข่งขันในตลาดมากขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง

CyberBiz Social



Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket

Instagram
กำลังโหลดความคิดเห็น