xs
xsm
sm
md
lg

Samsung กำไรหด เพราะมือถือจีน!?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ซัมซุง (Samsung) ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแดนกิมจิยอมรับว่า กำไรจากการดำเนินงานของตัวเองในไตรมาส 2 จะลดลงราว 22.3-26.5% ถือเป็นสถิติตกต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี นักวิเคราะห์เชื่ออนาคตที่สั่นคลอนของซัมซุงเกิดขึ้นหลังจากคลื่นสินค้าสมาร์ทโฟนราคาประหยัดจากจีนไหลทะลักเข้าสู่ตลาดโลก จนทำให้ยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทลดลงชัดเจนในไตรมาสที่ผ่านมา

ในขณะที่ยังไม่ถึงเวลาประกาศผลประกอบการอย่างเป็นทางการ ซัมซุงชิงจัดงานประชุมสื่อเพื่อส่งสัญญาณก่อนว่ากำไรของบริษัทในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนที่ผ่านมา อาจจะลดลง 25% เหลือ 7.2 ล้านล้านวอน (ราว 2.28 แสนล้านบาท) ตัวเลขนี้คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 13% ที่นักวิเคราะห์ของรอยเตอร์ส (Reuters) คาดการณ์ไว้

ซัมซุง ให้เหตุผลว่าไตรมาส 2 ของปีนี้เป็นช่วงที่บริษัทต้องทุ่มงบโฆษณามหาศาลเพื่อกระตุ้นยอดจำหน่าย อุปกรณ์ซัมซุงที่ซบเซาไปเพราะความต้องการในตลาดจีน และยุโรปตกต่ำลง ขณะที่นักวิเคราะห์ของรอยเตอร์สระบุว่า ภาวะกำไรซัมซุงตกต่ำครั้งนี้ถือเป็นภาวะขาดทุนครั้งแรก นับตั้งแต่ซัมซุงปรับใช้มาตรฐานทางบัญชีรูปแบบใหม่ตั้งแต่ปี 2009 ที่ผ่านมา

เรื่องนี้สำนักข่าวโฟร์บส์ (Forbes) เชื่อว่าซัมซุงกำลังพบศึกหนักจากคู่แข่งสัญชาติจีน เช่น หัวเว่ย (Huawei) และเลอโนโว (Lenovo) ซึ่งกำลังบุกตลาดสมาร์ทโฟนระดับกลางถึงล่างเป็นหลัก แต่ซัมซุงให้ข้อมูลเพียงว่า บริษัทได้ทุ่มงบการตลาดอย่างหนักเพื่อระบายสินค้าคงคลังที่ค้างอยู่ในช่องทางจำหน่าย ซึ่งเป็นการเตรียมการล่วงหน้าก่อนจะเข้าสู่ช่วงไตรมาส 3 ที่ซัมซุงจะเปิดตัวสินค้าใหม่

นักสังเกตการณ์วิเคราะห์ว่า ซัมซุงต้องจัดเต็มกลยุทธ์การตลาดให้เข้มข้นขึ้นมากกว่าช่วงยุคทองที่ซัมซุง สามารถทำยอดขายได้สูงที่สุดในรอบ 6 ปี เนื่องจากคู่แข่งจากจีนต่างเริ่มทยอยได้รับส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ลูกค้าของซัมซุงในจีนเองก็เริ่มชะลอการซื้อสินค้าใหม่ เนื่องจากหลายคนกำลังอั้นการซื้อเพื่อรอชมสินค้าใหม่ที่รองรับเครือข่าย 4G ซึ่งจีนเพิ่งเริ่มให้บริการในช่วงปีนี้

นอกจากกำไรจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะลดลงจากปีที่แล้ว 25% ซัมซุง เชื่อว่ายอดขายรวมของบริษัทจะลดลงราว 8-11% โดยตลาดสินค้ากลุ่มแท็บเล็ต 7-8 นิ้ว เริ่มชะลอตัว และถูกกลืนไปกับตลาดสมาร์ทโฟนหน้าจอยักษ์ หรือ phablet ขนาด 5-6 นิ้วเรียบร้อย

ปัจจุบัน ยอดขายจากสินค้ากลุ่มโทรศัพท์มือถือเป็นแหล่งรายได้หลักของซัมซุง เพราะคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 2 ใน 3 ของรายได้รวม ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อธุรกิจนี้จึงเห็นได้ชัดมาก แม้ผลการสำรวจล่าสุด จะพบว่าสัดส่วนตลาดสมาร์ทโฟนของซัมซุงลดลงเพียงเล็กน้อย ตัวอย่างเช่นในตลาดจีน ที่ส่วนแบ่งตลาดลดลงจาก 32% มาอยู่ที่ 31% ในช่วงปี 2013 ที่ผ่านมา

สำหรับคู่แข่งตลอดกาลอย่างแอปเปิล (Apple) ข้อมูลล่าสุดระบุว่า ส่วนแบ่งตลาดจีนของแอปเปิลลดลงจาก 17% มาอยู่ที่ 15% จุดนี้นักวิเคราะห์เชื่อว่า แอปเปิลไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามราคาในตลาด ทำให้แอปเปิลเลือกรับมือต่อการแข่งขันกับคู่แข่งจีนด้วยการสรรหาพันธมิตรท้องถิ่น โดยล่าสุด มีรายงานว่าแอปเปิลจับมือกับโอเปอเรเตอร์ชื่อดังของจีน อย่าง ไชน่า โมบาย (China Mobile) เพื่อทำตลาดไอโฟนในอนาคต
วิชัย พรพระตั้ง รองประธานธุรกิจโทรคมนาคมและไอที บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด
***ไทยเดินเกมรุก เพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์คลุมทุกเซกเมนต์

วิชัย พรพระตั้ง รองประธานธุรกิจโทรคมนาคมและไอที บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ให้สัมภาษณ์ว่า แนวทางทำธุรกิจของซัมซุง ที่เน้นการเปิดไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ยังได้รับการตอบรับที่ดีในประเทศไทย ดังจะเห็นว่าจากก่อนหน้านี้ ซัมซุง เคยผุดไลน์ผลิตภัณฑ์อย่าง Galaxy Note ที่เป็นทั้งสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตประสิทธิภาพสูง ที่รองรับการใช้งานปากกาสไตลัสอัจฉริยะเข้ามา

ในขณะเดียวกัน ในกลุ่มของสมาร์ทโฟนระดับราคาหมื่นต้นๆ ก็จะมีรุ่นอย่าง Galaxy Grand และ Galaxy Mega เข้ามาจับกลุ่มตลาดที่เน้นหน้าจอใหญ่ ในระดับราคาที่คุ้มค่า เหมาะสมต่อการใช้งานของผู้บริโภคทั่วไป และยังมีการเสริมไลน์ในกลุ่มตลาดล่างอย่าง Galaxy Young ที่มาจับตลาดในเครื่องระดับราคา 3,990 บาท เพื่อให้ครอบคลุมทุกความต้องการของผู้ใช้งาน

นอกจากนี้ ก็ยังมีการเพิ่มผลิตภัณฑ์ในกลุ่มแท็บเล็ต เข้ามาจับตลาดให้ครอบคลุมมากขึ้น ตามอัตราการเติบโตของแท็บเล็ตที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ก็ได้มีการวางจำหน่าย Galaxy Tab S เพื่อเข้ามาตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคเพิ่มเติม และเช่นเดียวกันก็จะมีแท็บเล็ตราคาถูกทำตลาดภายใต้ซีรีส์อย่าง Galaxy Tab 3 Lite

“ตลาดในประเทศไทยยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และซัมซุงในฐานะที่เป็นผู้นำตลาด ก็ต้องรักษาอัตราการเติบโตให้ใกล้เคียงกับตลาดมากที่สุด ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่เห็นแนวโน้มอะไรที่จะส่งผลให้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนในเรื่องของแนวโน้มในตลาดโลกผู้บริหารในแต่ละประเทศจะไม่สามารถให้ข้อมูลได้”

สิทธิโชค นพชินบุตร รองประธานฝ่ายกลยุทธ์ ธุรกิจโทรคมนาคมและไอที ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การเข้ามาทำตลาดของแบรนด์จีน และแบรนด์ไอที ถือว่าช่วยเข้ามาเพิ่มสีสันให้แก่ตลาด แต่เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วผู้บริโภคจะไม่ได้เลือกซื้อโทรศัพท์ที่ตัวเครื่องเพียงอย่างเดียว แต่มองไปถึงองค์ประกอบอื่นๆ ที่ตามมาด้วย

“ถ้าจำกันได้ช่วง 1-2 ปีที่แล้ว จะเห็นเหตุการณ์ที่คล้ายๆ กันนี้เกิดขึ้นในตลาดแท็บเล็ตมาแล้ว เพราะช่วงนั้นผู้บริโภคให้ความสนใจกับแท็บเล็ต และคาดหวังที่จะนำมาใช้งานแทนโน้ตบุ๊ก ซึ่งในเวลานั้นจะเห็นแท็บเล็ตจีนราคาถูกเข้ามาทำตลาดอย่างกว้างขวาง แต่ท้ายที่สุดแล้วแบรนด์เหล่านั้นก็หายไปจากตลาด”

โดยเหตุผลหลักที่ทำให้แบรนด์จากจีน ไม่สามารถเข้ามาตีตลาดในประเทศไทยได้ง่ายนัก เนื่องมาจากผู้บริโภคมีประสบการณ์ที่ผิดหวังมาก่อน จากการซื้อแท็บเล็ตราคา 2,000-3,000 บาท แล้วท้ายที่สุดใช้งานไปได้ไม่เท่าไหร่ เครื่องก็มีปัญหา เครื่องเสีย ไม่มีบริการหลังการขาย สุดท้ายก็ต้องหันมาเลือกซื้อแท็บเล็ตแบรนด์ที่มีคุณภาพมากกว่า ในระดับราคาที่สูงขึ้นมา

“คนใช้สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ซื้อเครื่องมาแล้วต้องการใช้งานคอนเทนต์ หรือฟังก์ชันเสริมที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งาน ซึ่งแบรนด์จีนส่วนใหญ่จะไม่สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้เท่าที่ควร ทำให้ไปเน้นการแข่งขันทางด้านราคากันมากกว่า แต่กับอินเตอร์แบรนด์จะแข่งขันในแง่ของการเพิ่มมูลค่าให้ตัวสินค้ามากกว่า”

ดังนั้น เชื่อว่าแม้แบรนด์จีนจะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ก็อาจจะส่งผลกระทบในกลุ่มสมาร์ทโฟนตลาดล่างที่เป็นการแข่งขันกันเองเป็นหลัก ซึ่งกลุ่มดังกล่าวไม่ได้ถือเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้หลักให้ซัมซุงอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับปริมาณเครื่องที่จำหน่ายออกไป และท้ายที่สุด ซัมซุงก็จะหันมาให้ความสำคัญต่อสมาร์ทโฟนในระดับกลาง และพรีเมียมเพื่อสร้างรายได้ให้แก่บริษัท

ในแง่ของบริการหลังการขายก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่ลูกค้า ดังจะเห็นได้จากการลงทุนเปิด ซัมซุง เอ็กซ์พีเรียนซ์ สโตร์ (Samsung Experience Store) ซึ่งเป็นทั้งศูนย์บริการหลังการขาย และหน้าร้านสำหรับให้ลูกค้าเข้ามาทดลอง และซื้อสินค้าได้แบบครบวงจร ซึ่งถือเป็นสโตร์ขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยพื้นที่ 422 ตารางเมตร ภายในสยามสแควร์วัน (Siam Square One) ครอบคลุมพื้นที่ 3 ชั้น

นอกจากนี้ ทางซัมซุงก็ยังมีการเพิ่มแบรนด์ชอปให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่มีอยู่ราว 130 สาขา ก็จะเพิ่มเป็น 150 สาขา ภายในสิ้นปีนี้ ภายใต้งบประมาณเฉลี่ยต่อสาขาราว 10 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ก็จะมีการร่วมมือกับดีลเลอร์ในแต่ละพื้นที่เพื่อลงทุนด้วย

****สมาร์ทโฟนจีนเคลื่อนทัพในไทย

ความพยายามเจาะตลาดไทย และสร้างเป็นฐานที่มั่นเปิดตลาดอาเซียนของสมาร์ทโฟนแบรนด์จีนอย่าง ออปโป้ และหัวเว่ย ที่ต่างก็เริ่มทำตลาดในแบบที่ตนถนัด มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ออปโป้ เริ่มเปิดเกมรุกจับมือภาพยนตร์ชื่อดังอย่างทรานส์ฟอร์เมอร์ส 4 ภาคล่าสุด สะท้อนภาพสุดยอดเทคโนโลยีลงบนมือถือออปโป้ Find 7 ยิ่งตอกย้ำความตั้งใจเจาะตลาดต่างประเทศมากขึ้นของแบรนด์จีนรายนี้ พร้อมทั้งยังเริ่มเข้ามาตั้งตัวแทนจำหน่ายเพื่อเปิดช่องทางการส่งสินค้าเข้าถึงมือผู้บริโภคมากขึ้น สอดคล้องกับความคิดของ แลร์รี่ ฉี ผู้อำนวยการฝ่ายตลาดต่างประเทศ ออปโป้ ที่เคยกล่าวไว้ว่า “กลยุทธ์ของเราจะเน้นคุณภาพ และเทคโนโลยีที่นำหน้าคู่แข่ง เป็นสิ่งที่คู่แข่งจะไล่ตามไม่ทัน พร้อมๆ กับการขยายตลาดเพิ่มขึ้นอีก” โดยความพยายามดังกล่าว เพื่อเป้าหมายการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทยให้ได้ 10%

ขณะที่ หัวเว่ย ที่แม้ว่าจะได้ยินชื่อเป็นเพียงผู้ผลิตอุปกรณ์ระบบโทรคมนาคมมาแล้วก่อนหน้า แต่การซุ่มเงียบขายสินค้าที่แข่งขันด้วยราคาในตลาดโมเดิร์นเทรด แม้ว่าจะไม่เห็นโฆษณามากนักในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็สามารถเห็นสินค้าในห้างกลุ่มโมเดิร์นเทรดได้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เริ่มหันมาทำตลาดสมาร์ทโฟนอย่างจริงจัง โดยตั้งเป้าจำหน่ายให้ได้ 7.5 แสนเครื่องภายในสิ้นปีนี้ ด้วยการเปิดตัวสมาร์ทโฟนเรือธงอย่าง Ascend P7 ที่ชูจุดเด่นด้านการออกแบบ ฟีเจอร์ และการรองรับ 4G LTE เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของหัวเว่ยในตลาดไฮเอนด์กลับคืนมา ขณะที่การจำหน่ายในระดับโลก หัวเว่ย ก็ตั้งเป้าว่าจะต้องจัดส่งสมาร์ทโฟนให้ได้ไม่น้อยกว่า 80 ล้านเครื่องทั่วโลก

ความพยายามของทั้งหัวเว่ย และออปโป้ เริ่มเปิดเกมรุกมากขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่าน และเป็นเสมือนสัญญาณนกหวีดที่เริ่มต้นขึ้นแล้วสำหรับการแข่งขันที่ดุเดือดของตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทย

Company Related Link :
Samsung

CyberBiz Social



Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket
กำลังโหลดความคิดเห็น