xs
xsm
sm
md
lg

จากพนักงานสู่ซีอีโอ “สมชัย เลิศสุทธิวงศ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส)
ภายใน 3 ปีข้างหน้า สิ่งที่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่มีฐานลูกค้ากว่า 40 ล้านคน กำลังจะมุ่งไปภายใต้ภารกิจใหม่ของซีอีโอป้ายแดงเอไอเอส ‘สมชัย เลิศสุทธิวงศ์’ คือ การก้าวข้ามยุคที่ผู้ให้บริการจะมุ่งลงทุนแต่เฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ไปสู่การเป็นผู้ให้บริการดิจิตอลแบบครบวงจร (Digital Life Service Provider) ด้วยการนำการให้บริการเครือข่าย มาผสานกับคอนเทนต์ และบริการที่จะเกิดขึ้นในยุค 4G

สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมในยุคที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จะเน้นไปที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยการขยายอินฟราสตรักเจอร์อย่าง 2G, 3G รวมไปถึง 4G แต่ต่อไปจะเป็นการก้าวข้ามอินฟราสตรักเจอร์ ทำให้การให้บริการโทรคมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

หนึ่งในสิ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากคือ ในเรื่องของดีไวซ์ หรืออุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถทำงานได้หลากหลาย และเมื่อนำไปรวมกับนักพัฒนาแอปพลิเคชันที่มีแนวคิดใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้พฤติกรรมการใช้งานจะเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เน้นการพูดคุยสื่อสารผ่านโทรศัพท์ กลายเป็นดิจิตอลไลฟ์ ที่ทำให้ชีวิตมีความสะดวกสบาย ช่วยในการทำงาน และชีวิตส่วนตัวมากขึ้น

ส่งผลต่อแนวคิด และทิศทางของเอไอเอส ภายใต้ซีอีโอใหม่ ที่มองว่า “Next AIS” หลังจากมีการให้บริการเครือข่ายเป็นสิ่งพื้นฐานที่ต้องมีการลงทุน และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มาเป็นการแข่งขันในขั้นที่ 2 ในมุมของการให้บริการที่หลากหลาย และตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด ภายใต้ความท้าทายอย่างการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิตอลไล ฟ์ ที่เน้นการหารายได้จากดาต้าผ่านการใช้งานแอปพลิเคชันมากขึ้น พร้อมกับรักษาความเป็นผู้นำจากยุค 3G และ 4G ที่คู่แข่งเริ่มให้บริการไปก่อน และแม้ว่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จะมีสถานการณ์ทางการเมืองแต่ก็ยังรักษาเป้าหมายการเติบโตไว้ที่ 6-8% เช่นเดิม ภายใต้งบลงทุนเครือข่าย 4 หมื่นล้านบาท ให้ครอบคลุม 95% ของประชากรภายในสิ้นปี

*** 3 วงล้อหลักสู่ Digital Life Service Provider

ลูกค้า (Customer) บุคลากร (People) และพันธมิตร (Partner) ถือเป็น 3 วงล้อหลักที่ ซีอีโอคนใหม่ของเอไอเอสให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ในการที่จะเปลี่ยนผ่านองค์กรจากที่เป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ให้กลายเป็นผู้ให้บริการดิจิตอลแบบครบวงจร

“ทุกวันนี้ที่องค์กรแข็งแกร่ง และขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดไม่ได้เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี แต่เกิดจากบุคลากรที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนา อย่างที่เห็นกันก่อนหน้านี้ว่า เอไอเอส เปิดให้บริการ 3G ได้ช้ากว่าคู่แข่ง 2 ปี แต่สามารถให้บริการครอบคลุมทันใน 1 ปี และจะแซงภายในสิ้นปีนี้”

โดยเริ่มกันจากวงล้อแรก คือ ลูกค้า หมายถึงการนำข้อมูลการใช้งานของลูกค้ามาทำการวิเคราะห์ (Data Analytic) เพื่อให้สามารถค้นหาบริการที่จะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด และที่สำคัญคือ อย่าประมาทลูกค้า เพราะลูกค้าบางรายมีข้อมูลที่เหนือกว่าผู้ให้บริการ จึงจำเป็นต้องรับฟังลูกค้า

ถัดมาคือ เรื่องของบุคลากร ที่ต้องมีการพัฒนาอยู่เสมอ เพื่อมาตอบความต้องการของลูกค้า และที่สำคัญคือ ต้องมีการเพิ่มขีดความสามารถ จากการส่งพนักงงานไปฝึกอบรม ให้เรียนรู้ทั้งในแง่การพัฒนาเครือข่ายบริการ รวมไปถึงการฝึกให้มีจิตใจที่มุ่งมั่นพร้อมให้บริการแก่ลูกค้า ที่ผ่านมา ด้วยการที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมมักจะมีข้อจำกัดต่างๆ ทำให้บุคลากรได้มีการพัฒนา และถูกฝึกฝนมาตลอด 20 ปี โดยมีจุดมุ่งหมายหลักคือ การสร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมให้แก่ประเทศชาติ ด้วยการที่บุคลากรทุ่มเท และมีความสุขต่องานที่ทำ

สุดท้ายคือ เรื่องของพาร์ตเนอร์ หรือเจ้าของคอนเทนต์ ที่เชื่อว่าจะกลายเป็นวงล้อที่มีความสำคัญมากที่สุด เพราะที่ผ่านมา เอไอเอสมักจะให้ความสำคัญต่ออีโคซิสเตมส์ (Ecosystems) เป็นหลักอยู่แล้ว ดังนั้น ความร่วมมือกับผู้ประกอบการคอนเทนต์จึงเหมือนเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ที่จะทำให้เอไอเอสประสบความสำเร็จต่อไปในอนาคต

“ในยุคที่แอปพลิเคชันเข้ามามีบทบาทกับการใช้งานในชีวิตดิจิตอล ทำให้ผู้ให้บริการจำเป็นต้องร่วมมือกับนักพัฒนา หรือผู้เชี่ยวชาญในกลุ่มที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำบริการที่กำลังได้รับความนิยมในโลกมาให้บริการแก่ลูกค้าคนไทย”

สมชัย ยกตัวอย่างบริการที่มีในประเทศญี่ปุ่นอย่าง การสั่งซื้อสินค้าสำหรับใช้งานในชีวิตประจำวันผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ซึ่งถ้าเอไอเอสจะให้บริการ ก็อาจจะต้องมีความร่วมมือระหว่างผู้ขาย นักพัฒนาแอปพลิเคชัน รวมไปถึงธนาคารที่จะช่วยสร้างระบบธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น

ในขณะที่ปัจจุบัน บริการเสริมที่เป็นคอนเทนต์ และได้รับความนิยมอยู่ใน 3 อันดับแรกเลยคือ ในแง่ของคอนเทนต์ที่เป็นความบันเทิง (Entertainment) พวกภาพยนต์ เพลง ถัดมาคือ เรื่องของเกม (Game) และสุดท้ายคือ เรื่องของดูดวง (Horoscope) ซึ่งใน 3 กลุ่มนี้ก็จะได้รับการพัฒนาเพิ่มเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ จะเห็นได้ว่าเอไอเอสเริ่มปูทางดิจิตอลไลฟ์มาตั้งแต่ปี 2554 ภายใต้แนวคิด “Quality DNAs” ที่ตอกย้ำภาวะความเป็นผู้นำของเอไอเอสในการให้บริการ ทั้งในส่วนของ D ที่มาจาก Device หรือสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตหลากหลายรุ่นให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้ N จาก Network ที่มีการลงทุนพัฒนาเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง

A จาก Application ที่มีการพัฒนาแอปที่เป็นคอนเทนต์ท้องถิ่นมาตอบรับการใช้งานของลูกค้า และสุดท้าย S จาก Service ที่ถือเป็นจุดเด่นของเอไอเอสตลอดมา คือ เรื่องของบริการที่มีการขยาย และปรับปรุงคุณภาพศูนย์บริการ รวมไปถึงคอลเซ็นเตอร์ตลอดมา
สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และวิเชียร เมฆตระการ ที่ปรึกษา และอดีตซีอีโอ เอไอเอส
***ย้อนอดีตการทำงาน 24 ปีในกลุ่มชิน

สมชัย เริ่มชีวิตการทำงานเมื่อปี 2527 ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่พัฒนาโปรแกรม/เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ระบบงานคอมพิวเตอร์ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ทำงานได้ไม่นานก็ตัดสินลาออกมาเริ่มงานแรกในกลุ่มชิน ที่ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย และการตลาดธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ/ผู้จัดการสำนักงานกรรมการผู้อำนวยการ ในบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ในปี 2533

หลังจากนั้น ในปี 2539 ย้ายมาเป็นผู้จัดการโครงการเคาน์เตอร์ไปรษณีย์อัตโนมัติ บริษัท ชินวัตร อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด ก่อนที่จะเข้ามาอยู่เอไอเอสอย่างเต็มตัวในปี 2541 ด้วยตำแหน่งผู้จัดการสำนักธุรกิจสัมพันธ์บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็น ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนา ในปี 2544 ควบกับตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานธุรกิจบริการสื่อสารไร้สายในปี 2547

จนกระทั่งปี 2550 ได้ขึ้นมาเป็นรองผู้อำนวยการ สายงานการตลาด และขึ้นมาเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด (CMO) ในปี 2555 และก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ขององค์กรเอไอเอส ในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา ใช้เวลาไต่เต้าจากพนักงานสู่ซีอีโอองค์กรแสนล้านบาทในเวลา 24 ปี

“เอไอเอสถือเป็นองค์กรที่ให้โอกาสคนทำงาน ซึ่งมีความทุ่มเท ทำให้จากพนักงานธรรมดาขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงของเอไอเอสได้ในท้ายที่สุด และที่สำคัญ และบอกแก่ตนเองอยู่เสมอคือ อย่าลืมว่ายิ่งใหญ่มากขึ้นเท่าใด ก็ต้องยิ่งนอบน้อมมากยิ่งขึ้นด้วย”
สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และวิเชียร เมฆตระการ ที่ปรึกษา และอดีตซีอีโอ เอไอเอส
***เลือกแค่ 1 แต่ได้ถึง 2 ซีอีโอ

สมชัย ยังเล่าให้ฟังถึงการคัดเลือกตำแหน่งซีอีโอในครั้งนี้ว่า ใช้เวลาในการคัดเลือกมาก่อนล่วงหน้าประมาณ 5-6 เดือน จากที่มีเสนอชื่อเข้ามาจากฝ่ายบุคคลกว่า 40 ราย เหลืออยู่ 3 ราย แบ่งเป็น 2 คน ในองค์กร และอีก 1 คน ที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในธุรกิจโทรคมนาคมจากต่างประเทศ แต่เมื่อมีการนำเสนอแผนงานให้แก่ผู้ถือหุ้นแล้ว ท้ายที่สุดก็ได้เข้ามารับตำแหน่งซีอีโอ

“การเข้ารับตำแหน่งในครั้งนี้ในเรื่องงานแทบไม่มี ความกังวล เพราะมีความพร้อมอยู่แล้ว และที่สำคัญคือ เมื่อเลือกผมเข้ามารับตำแหน่งซีอีโอแล้ว ยังได้พี่วิเชียร มารับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาต่อไปอีก 2 ปี เปรียบเสมือนการเป็นซีอีโอคู่ในการบริหารองค์กรต่อไป”

วิเชียร เมฆตระการ ที่ปรึกษา และอดีตซีอีโอเอไอเอส ให้ข้อมูลเสริมถึงเหตุผลที่เลือกเกษียณอายุในช่วงกลางปี เนื่องมาจากว่า ดูแล้วเป็นช่วงที่ซีอีโอใหม่ สามารถเตรียมความพร้อมเพื่อบริหารองค์กรก่อนการแข่งขันที่รุนแรงในช่วงสิ้นปี ขณะเดียวกัน ในช่วงปลายไตรมาส 3 จนถึงช่วงไตรมาส 4 ในทุกๆ องค์กรจำเป็นต้องมีการวางแผนงานล่วงหน้า จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเกษียณอายุ

อย่างไรก็ตาม วิเชียร ได้เล่าย้อนถึงอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทยว่า เป็นอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และถือว่าตนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงตลอดช่วงที่ผ่านมา ทั้งในฐานะที่เป็นวิศวกร มีหน้าที่สร้างความเติบโต และนำมาใช้งานให้เกิดประโยชน์ และในฐานนะผู้บริหารที่นำองค์กรผ่านวิกฤตการเมืองมาหลายครั้ง

“ถ้ามองในแง่การเปลี่ยนแปลง เรื่องของโทรศัพท์มือถือที่เริ่มจาก 1G ในระบบวิทยุเอฟเอ็ม เข้าสู่ยุคดิจิตอลเริ่มมีการให้บริการในระบบ GSM หรือยุค 2G ก่อนจะมีการเข้ารหัสสัญญาณ และเริ่มการเชื่อมต่อดาต้าในยุค 2.5G และ3G ที่สำคัญคือเอไอเอสเหมือนองค์กรที่ถูกสาป ให้ใช้แต่คลื่นความถี่ 900 MHz ในช่วงคลื่น 17.5 MHz เพื่อให้บริการตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา”

แต่จากการที่มีคลื่นความถี่ให้ใช้งานน้อย จึงทำให้พนักงาน วิศวกรทุกคนของเอไอเอส มีประสบการณ์ในการให้บริการภายใต้คลื่นความถี่ที่จำกัด ที่สำคัญคือ การนำคลื่นความถี่เก่าอย่าง 900 MHz มาให้บริการ เอไอเอสก็เป็นคนริเริ่ม และที่ถือเป็นความสำเร็จที่สำคัญคือ การให้บริการ 3G บนใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2.1 GHzและสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไปก็คือ ในเรื่องของการให้บริการ 4G พร้อมไปกับบริการเสริมในดิจิตอลไลฟ์ที่ครบถ้วนสมบูรณ์แบบ

นาทีนี้ความท้าทายที่สุดของเอไอเอส หนีไม่พ้นเรื่องการประมูลความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ที่สมควรจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ซีอีโอ ป้ายแดง มีโซลูชันอยู่ในใจแล้วว่า ทางรอดของเอไอเอสจะเดินไปทางไหน ภายใต้บุคลิกนอบน้อม ประนีประนอม และสูตรสำเร็จความลงตัวเรื่องการประสานงานภาครัฐ และธุรกิจที่จะพาเอไอเอสไปสู่ยุค Digital Life Service Provider ตามเป้าหมาย

Company Related Link :
AIS

CyberBiz Social



Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket
กำลังโหลดความคิดเห็น