โดนจนได้ หลังออกอาการแกว่งตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว สำหรับการประมูลความถี่ 1800 MHz หรือ 4G ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่วางแผนว่าจะจัดขึ้นในช่วงเดือนส.ค.2557
เพราะเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2557คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งมายังสำนักงาน กสทช.ให้ชะลอ 4 โครงการหลักเป็นการชั่วคราวก่อนเพื่อความโปร่งใส จนกว่าจะมีการตรวจสอบรายละเอียด ได้แก่ 1. โครงการจัดประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHzจำนวน 2 ใบอนุญาตที่มีราคาตั้งต้นการประมูลที่ใบอนุญาตละ 11,600 ล้านบาท2.โครงการจัดประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 900 MHzจำนวน 2 ใบอนุญาต ที่มีราคาตั้งต้นการประมูลที่ 11,260 ล้านบาท และ 8,445 ล้านบาท3.โครงการสนับสนุนช่วยเหลือการเปลี่ยนผ่านทีวีจากระบบอนาล็อกเป็น ระบบดิจิตอลด้วยการแจกคูปองแก่ประชาชนมูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท และ4.โครงการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) ที่มีมูลค่าโครงการรวม 2.4 หมื่นล้านบาท
ส่งผลให้การประมูลความถี่ 1800 MHz ที่เดิมต้องนำเข้าที่ประชุมบอร์ดกสทช.วันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมาเพื่อพิจารณาร่างหลักเกณฑ์การประมูล 1800 MHzก่อนนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษามีอันต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด และ เป็นที่แน่นอนว่าจะต้องกระทบต่อการประมูล1800 MHzที่จะเกิดขึ้นภายในเดือนส.ค.นี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
รวมทั้งอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเงื่อนไข รายละเอียดต่างๆ ได้ตามที่คสช.เห็นสมควร
แหล่งข่าวระดับสูงในกสทช.ระบุว่าสาเหตุแท้จริงที่ทำให้มีคำสั่งชะลอทั้ง 4 โครงการออกไปก่อนนั้น เป็นเพราะสำนักงานกสทช.และกรรมการกสทช.เห็นตรงกันว่า เพื่อแสดงถึงความโปร่งใส ของการดำเนินการทั้ง 4 โครงการทุกขั้นตอน ก็ร้องขอให้คสช.เข้ามาตรวจสอบและดูเนื้อหารายละเอียดต่างๆ ของโครงการ เพื่อให้เกิดความรอบคอบและเป็นประโยชน์กับประเทศชาติมากที่สุด
'ยืนยันได้ว่าไม่ใช่คสช.สั่งชะลอโครงการ เพราะน่าสงสัยหรือเห็นว่ากสทช.มีพิรุธ แต่เป็นการเสนอเข้าไปยังคสช.เอง เพื่อขอให้มาตรวจสอบยืนยันความโปร่งใสทุกขั้นตอน'
การประมูลความถี่ 1800 MHz นั้น ส่อแวววุ่นตั้งแต่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ เมื่อมีคำให้สัมภาษณ์ของทอร์ โอด์แลน (Tor Odland) ผู้บริหารเทเลนอร์ เอเชีย เกี่ยวกับปัญหาเฟสบุ๊กเข้าใช้งานไม่ได้ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2557ที่ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ Aftenposten ของนอร์เวย์ ระบุว่าดีแทคที่เทเลนอร์ เอเชีย ถือหุ้น 42% ได้รับโทรศัพท์จาก กสทช.ซึ่ง เป็นหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของไทยให้บล็อกการเข้าใช้เฟสบุ๊กและดีแทคตอบรับ รวมทั้งปิดกั้นการใช้งานในเวลา15.35 น.ของวันดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ใช้เฟสบุ๊กที่เชื่อมต่อผ่านดีแทคจำนวน 10ล้านคนใช้งานไม่ได้
การให้สัมภาษณ์ ดังกล่าวถือว่าสร้างผลกระทบที่รุนแรงกับกสทช.เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับพ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ที่ออกมาโต้ว่า การที่เทเลนอร์ออกมาให้ข่าวดังกล่าวถือว่าสร้างความเสียหายให้ กสทช. และคสช.เป็นอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศไทย รวมทั้งขอให้หยุดการกระทำที่ขอให้ผู้ใหญ่ โทร.เข้ามาเจรจาล็อบบี้ กทค.เพื่อขอให้เรื่องดังกล่าวจบลง และไม่ให้มีการกล่าวถึงการให้สัมภาษณ์ที่เกี่ยวกับเทเลนอร์หรือดีแทค อีกต่อไป
'ตอนนี้อยู่ภาย ใต้กฏอัยการศึกไม่ได้ใช้กฏ พ.ร.บ.กสทช.แต่อย่างใด เทเลนอร์ หรือดีแทคเองควรที่จะเข้าใจว่าประเทศไทยใช้กฏหมายอะไรอยู่ ดังนั้นการที่ออกมาให้ข่าวทำนองดังกล่าวซึ่งส่งผลทำให้ภาพลักษณ์ประเทศไทย เสียหายไปด้วยจึงถือว่าเป็นการกระทำที่ไร้มารยาท'
ผลที่เกิดขึ้น คือร่างเงื่อนไขการประมูลความถี่ 1800 MHz ที่เคยนิ่ง จึงต้องถูกเขย่าอย่างช่วยไม่ได้ เพราะพิษของปากคนบางคน ที่อาจแต่ think global แต่ไม่รู้จัก act local ในสังคมไทย จนนำมาสู่มาการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสำคัญ 3 เรื่องในการประมูล
*** ยกเลิกเงื่อนไข N+1
โดยใน 3 ประเด็นที่อาจส่งผลต่อการประมูล 1800 MHz นั้นในประเด็นแรกคือ การเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดสรรใบอนุญาตจากร่างหลักเกณฑ์เดิมซึ่งบอร์ดกทค.ได้ มีมติเห็นชอบให้ปรับแก้ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่านความ ถี่ 1800 MHzในประเด็นวิธีการจัดสรรใบอนุญาตซึ่งได้ยกเลิกเงื่อนไข 'N+1' ที่กำหนดให้ต้องมีผู้เข้าร่วมประมูลมากกว่าจำนวนใบอนุญาตซึ่งกทค.นำคลื่น 1800 MHz มาจัดสรรเพียง 2 ใบอนุญาตเท่านั้น
จึงส่งผลทำให้ถึงแม้มีผู้เข้าร่วมประมูลไม่ถึง 3 ราย คือมีเพียง 2 ราย หรือ 1ราย แค่นั้นกสทช.ก็จะเดินหน้าเปิดประมูลต่อไปเช่นเดิม แต่กสทช.จะขยายวันรับสมัครผู้เข้าประมูลออกไปอีก 30 วัน แต่หากครบกำหนดยังไม่มีผู้เข้าประมูลเพิ่มขึ้น กสทช.ก็ยืนยันเปิดการประมูลต่อไป จากเดิมที่ก่อนหน้านี้วิธีการจัดสรรใบอนุญาตระบุไว้ว่าหากมีผู้เข้าร่วม ประมูลเพียง 2 รายซึ่งจะเท่ากับจำนวนใบอนุญาตที่กสทช.จะจัดสรรรคือ 2 ใบอนุญาต หรือมีผู้เข้าประมูลเพียง 1 ราย กสทช.จะสั่งยกเลิกการประมูลคลื่น 1800 MHz ในทันที
*** ตรวจเข้มผู้ถือหุ้นต่างชาติ
ส่วนในประเด็น ที่ 2 ที่ประธานบอร์ดกทค.ออกมาระบุว่าจะมีการตรวจสอบการถือหุ้นของต่างชาติใน กิจการโทรคมนาคมอย่างเข้มงวด ซึ่งปัจจุบันต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ในสัดส่วนไม่เกิน 49% ตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการคนต่างด้าว ซึ่งหากไม่เป็นไปตามกฎหมาย และประกาศของกสทช. เรื่องการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ. 2554 และหากกสทช.ตรวจสอบพบว่าเอกชนรายใด มีลักษณะเข้าข่ายก็จะไม่สามารถเข้าร่วมประมูล 4G บนความถี่ 1800 MHzและ ความถี่ 900 MHzทันที
โดยให้เหตุผลว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการครอบงำ และมีอำนาจในการบริหารจัดการของนักลงทุนต่างชาติแล้ว ยังเพื่อความมั่นคงในระบบโทรคมนาคมของประเทศด้วย เพราะว่าการติดต่อสื่อสารโทรคมนาคม ถือเป็นหัวใจของการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ ซึ่งหากยอมให้ต่างด้าวโดยเฉพาะทุนที่มีหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจต่าง ชาติสนับสนุน เข้ามาเป็นเจ้าของกิจการโทรคมนาคมในประเทศอาจมีผลกระทบและเกิดความเสี่ยงใน การกำกับดูแลได้
*** กำหนด Spectrum Cap
นอกจากนี้ยังมี ประเด็นที่ประธานบอร์ดกทค.ได้เสนอแนวคิดที่ว่าจะมีการจำกัดการถือครองความถี่ของผู้เข้าประมูล (Spectrum Cap) สำหรับผู้เข้าประมูลความถี่ 1800 MHz ในครั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาการครอบงำคลื่นสัญญาณของผู้ประกอบการรายใดราย หนึ่ง โดยข้อเสนอดังกล่าวก็เป็นอีกประเด็นที่อาจจะส่งผลกระทบโดยตรงกับดีแทค เนื่องจากเป็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายเดียวที่มีความถี่ 1800 MHz อยู่แล้วจำนวน 50 MHz ซึ่งการประมูลความถี่ 1800 MHz จะมีทั้งหมด 2 ใบอนุญาต ใบละ 12.5 MHz โดยการกำหนดSpectrum Cap จะกำหนดให้ผู้ประกอบการไม่สามารถถือครองความถี่ได้เกินรายละ 12.5 MHz ทำให้ดีแทคที่มีความถี่อยู่ก่อนแล้วแต่ยังไม่หมดอายุสัมปทานจะหมดสิทธิเข้าร่วมการประมูลครั้งนี้ทันที
สำหรับในประเด็นการกำหนด Spectrum Cap นั้นเบื้องต้นไม่ได้มีการพิจารณาในบอร์ดกทค.ครั้งล่าสุดแต่อย่างใด แต่มีความเป็นไปได้ที่ประธานบอร์ดกทค.อาจจะนำประเด็นดังกล่าวเข้าที่ประชุม บอร์ดกสทช.เพื่อพิจารณาหรือไม่เช่นนั้นSpectrum Cap อาจยังไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะอาจถูกโต้แย้งว่าเป็นการจำกัดเฉพาะรายมากเกินไป
แต่ประเด็นทั้งหมดที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ตัดปัญหาโอเปอเรเตอร์บางรายออกไปได้ทันที เพราะหากไม่เข้าประมูลเอไอเอส กับ กลุ่มทรู ก็สามารถประมูลได้ ถือเป็นแผนแก้เผ็ดที่แยบยลมาก
*** เทเลนอร์ออกโรงขอโทษ
ไม่อยากจะเรียกว่าเป็นการ 'ตบหัวแล้วลูบหลัง' แต่หลังจากรับรู้ความไม่พอใจอย่างรุนแรง ที่ส่งผลถึงเงื่อนไขการประมูลความถี่ 1800 MHz ที่เปลี่ยนไปและอาจกระทบกับธุรกิจตนเอง
เทเลนอร์ กรุ๊ป ได้ออกแถลงการณ์ส่งถึงสื่อมวลชนระบุว่า 'ผู้บริหาร เทเลนอร์ กรุ๊ป และดีแทค รู้สึกเสียใจอย่างยิ่งกับสิ่งที่เกิดขึ้น และผู้บริหารของทั้ง เทเลนอร์ กรุ๊ป และ ดีแทค ตระหนักว่าขณะนี้ประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารราชการโดย คสช. โดยที่ความสามัคคีระหว่างประชาชนคนไทย และเพื่อนต่างประเทศที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจรรโลงบรรยากาศในประเทศร่วมกัน
เทเลนอร์ กรุ๊ป และดีแทค ตระหนักดีถึงความสำคัญของความสามัคคีนี้และความละเอียดอ่อนของเหตุการณ์ใน ช่วงนี้ เราจึงเสียใจเป็นอย่างยิ่งกับผลกระทบที่ได้เกิดขึ้น ผู้บริหารเทเลนอร์ กรุ๊ปและ ดีแทค ใคร่ขอใช้โอกาสนี้ขออภัยต่อ กสทช.และ คสช. เราจะช่วยกันสร้างบรรยากาศแห่งความเข้าใจที่ดี และร่วมมือร่วมใจสร้างความสำเร็จแก่ประเทศไทยต่อไป และเทเลนอร์ กรุ๊ป เข้า มาลงทุนในประเทศไทยตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 และมีความมุ่งมั่นที่จะดำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยาวนานต่อประเทศ ไทยและกับประชาชนไทย'
แต่ เทเลนอร์กรุ๊ปและดีแทค ก็ทิ้งไพ่ใบใหม่อ้างเรื่องคุณสมบัติที่พร้อมเข้าประมูลความถี่ 1800 MHz เหมือนที่เคยประมูลความถี่ 2100 MHz โดยระบุว่า ดีแทค เร่งเดินหน้าและมั่นใจเตรียมความพร้อมเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz เดือนส.ค.นี้ ตามที่มติ กทค. เห็นชอบร่างข้อเสนอสุดท้ายสำหรับหลักเกณฑ์ประมูลโดยไม่มีการกำหนดเพดานการ ถือครองคลื่นความถี่ที่มีอยู่เดิมในระบบสัมปทานซึ่งกำลังจะหมดอายุมารวมกับ คลื่นความถี่ที่จะประมูล
สำหรับ คลื่นความถี่ 1800 MHz ทั้ง 2 ชุดที่จะนำมาประมูล ดีแทคเห็นด้วยกับ กทค. ในหลักการที่จะให้ผู้เข้าร่วมประมูลมีสิทธิ์ประมูลได้รายละ 1 ชุดคลื่นความถี่เท่านั้น ดีแทค มั่นใจว่าจะเกิดการแข่งขันที่สมบูรณ์ถูกต้องระหว่างผู้เข้าร่วมประมูลหลัก 3 ราย ซึ่งจะเป็นก้าวแรกของบริการ 4G LTE บนคลื่น1800MHz
ทั้งนี้ การเข้าร่วมประมูลดังกล่าว บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต ซึ่งเป็นบริษัทลูกของดีแทคที่ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz และเป็นผู้ให้บริการบนโครงข่าย 2100 MHz จะเป็นบริษัท ที่เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ ซึ่งได้ผ่านคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้สำหรับผู้เข้าประมูลใบ อนุญาต 3Gบนคลื่น 2100MHz มาแล้ว ดีแทคจึงมั่นใจในคุณสมบัติที่จะเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจอย่างเร่งด่วนคือการประมูลความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz เป็นการให้เอกชนประมูลเอาเงินเข้ารัฐ ซึ่งคาดว่าจะมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท การแตะเบรกชะลอเพื่อพิจารณาให้โปร่งใส คงอยู่ในกรอบเวลาที่ไม่นานเกินไปจนส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรม เพราะปัจจัยตัดสินแพ้ชนะในอุตสาหกรรม คือ ใครมีความถี่ในมือจำนวนมากกว่ากันย่อมได้เปรียบในการแข่งขัน และการให้บริการกับลูกค้า ซึ่งจากสถานการณ์ปัจจุบัน หากการประมูลความถี่ดังกล่าวยืดออกไปสัก3- 6 เดือน อันดับผู้นำในตลาด อาจเปลี่ยนแปลงไปก็ได้
CyberBiz Social