ปัญหาทางการเมืองกลายประเด็นสำคัญที่ทำให้ตลาดไอทีของไทยไม่ค่อยสดใสมากนัก ความอึมครึมตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายปลายปีที่ผ่านมา และลากยาวมาถึงครึ่งแรกของปีนี้ทำให้ตลาดหดตัวอย่างเห็นได้ชัด จนเรียกได้ว่ากลายเป็นบททดสอบที่สำคัญของเวนเดอร์ทุกรายเลยทีเดียว ผลิตภัณฑ์หลายๆชนิดมีทั้งยอดขายเติบโต พอไปได้ ขณะที่อีกหลายตัวยอดขายทรุดตัวลงอย่างเห็นได้ชัดจนต้องมีการออกรุ่นใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตลาดมีการเคลื่อนไหว
แม้จะมีงานยักษ์อย่างคอมมาร์ตมากระตุ้นกำลังซื้อแทบจะทุกๆ ไตรมาส แต่ดูเหมือนว่าจะยังช่วยไม่ได้มากนัก งานคอมมาร์ตเมื่อต้นปีที่ผ่านมาตั้งเป้ายอดขายเอาไว้ที่ 2,000 ล้านบาท แต่ผลจากการเติบโตในกลุ่มของเกมเมอร์ทำให้ยอดเพิ่มสูงขึ้นมาอีกนิดหน่อยเป็นปิดที่ 2,200 ล้านบาท และในครั้งที่ผ่านมานี้เออาร์ไอพีก็ยังไม่กล้าที่จะตั้งเป้ายอดขายมากมายนักยังอยู่ในระดับเดิมคือ 2,000 ล้านบาท แม้งานจะจัดในช่วงที่มีคสช.แล้วก็ตาม แต่ปัจจัยที่มองข้ามไปไม่ได้เลยคือ ฤดูเปิดเทอม ที่กำลังซื้อจะไปกระจุกตัวอยู่เป็นจำนวนมาก
ปฐม อินทโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดไอทีไทยครึ่งปีแรกกำลังซื้อยังคงชะลออยู่ แต่คาดว่าในไตรมาสที่ 4 กำลังซื้อจะเริ่มกลับมา เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ส่งเสริมไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนอุปกรณ์การใช้งานใหม่สำหรับผู้ที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์เอ็กซ์พี หรือแม้แต่การซื้อเพื่อทดแทนเครื่องเดิมที่ยังไม่เคยได้เปลี่ยน
มีการคาดการณ์กันว่าเวนเดอร์รายต่างๆ จะหันมาเจาะตลาดคอนซูเมอร์มากขึ้นทดแทนกับตลาดภาครัฐที่หดหายไป ส่วนผลิตภัณฑ์ต่างๆนั้นคาดว่าตลาดมือถือจะเริ่มเติบโตลดลงในกลุ่มไฮเอนด์ แต่จะมีการเติบโตในกลุ่มตลาดกลางถึงล่างในระดับราคา 5,000- 12,000 บาท แทน ส่วนโน้ตบุ๊กกับแท็บเล็ตจะมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น ในส่วนตลาดรวมในปีนี้คาดว่าตลาดรวมไอทีของไทยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 8-9 หมื่นล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
ด้านบริษัทวิจัยข้อมูลทางการตลาด ไอดีซี เปิดเผยว่า ราคาที่ลดลงของสมาร์ทโฟนประกอบเข้ากับโปรโมชันต่างๆ ของโอเปอเรเตอร์ ที่ต้องการให้ลูกค้าเปลี่ยนมาใช้เครือข่ายใหม่ ทำให้ผู้บริโภคไทยหันมาใช้งานสมาร์ทโฟนกันมากขึ้น จึงเป็นปีแรกที่มียอดจัดส่งสูงกว่าฟีเจอร์โฟนเป็นครั้งแรก และทำให้ไทยเป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยอดจัดส่งของสมาร์ทโฟนแซงหน้าฟีเจอร์โฟน ตามหลังสิงคโปร์และมาเลเซียที่เกิดเหตุการณ์นี้ผ่านไปไม่นาน
รายงานของไอดีซี Asia/Pacific Quarterly Mobile Phone Tracker ระบุว่า ยอดจัดส่งโทรศัพท์มือถือในไตรมาสที่ 1 ของไทย มีจำนวน 5.7 ล้านเครื่อง ซึ่งต่ำกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 7% โดยปัจจัยหลักมาจากการหดตัวลงถึง 27% ของตลาดฟีเจอร์โฟน ในขณะที่ตลาดสมาร์ทโฟนยังเติบโตได้ 27% ซึ่งยอดการจัดส่งที่เปลี่ยนไปดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าปัจจุบันสมาร์ทโฟนสามารถเข้ามาทดแทนฟีเจอร์โฟนได้แล้ว โดยปัจจุบันการจัดส่งสมาร์ทโฟนราคาต่ำกว่า 2,500 บาทมีสัดส่วนถึง 20% ของยอดจัดส่งโดยรวม
**สมาร์ทโฟน ดาวรุ่งแม้เศรษฐกิจภายในจะร่วง
เสฐียรพร สุวรรณสุภา นักวิเคราะห์สายงานศึกษาตลาดไคลเอนต์ดีไวซ์ ประจำไอดีซีประเทศไทย กล่าวว่า การเติบโตของสมาร์ทโฟนดังกล่าวผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือมีส่วนในการผลักดันผ่านทางแคมเปญต่างๆ ที่ช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าหันเข้ามาหาเครือข่ายใหม่มากขึ้น จึงนำเสนอราคาที่น่าสนใจและแพกเกจที่ทำให้ตัดสินใจในการเลือกซื้อง่ายขี้น
ทั้งนี้แม้ว่าเศรษฐกิจและการเมืองของไทยจะยังคงไม่สดใสมากนัก แต่ตลาดสมาร์ทโฟนกลับไม่ได้รับผลกระทบในแง่ลบดังเช่นตลาดพีซีและแท็บเล็ต เพราะส่วนหนึ่งสมาร์ทโฟนจอใหญ่เริ่มเข้ามาทดแทนพีซีหรือแท็บเล็ตได้แล้ว ประกอบกับไลฟ์สไตล์ของคนไทยในปัจจุบัน มีความต้องการที่จะสื่อสารได้ทุกที่ทุกเวลา และมองว่าโทรศัพท์มือถือกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ไปแล้ว และที่น่าสนใจคือการเปลี่ยนเครื่องนั้นทำได้ง่ายมากขึ้นเพราะมีราคาที่หลากหลาย ซึ่งในสภาวะเช่นนี้ก็มีผลต่อการเลือกซื้อสมาร์ทโฟนราคาประหยัดมากขึ้นตามกำลังซื้อเช่นกัน
เช่นเดียวกับ นิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ รองผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ ที่มองว่าแม้ตลาดในปีนี้ผลิตภัณฑ์หลายๆ ตัวอาจมียอดขายที่หดตัวลง แต่ตลาดสมาร์ทโฟนยังคงเดินหน้าไปได้อยู่เนื่องจากโอเปอเรเตอร์เป็นช่วยกระตุ้นตลาดที่สำคัญ จากการเร่งย้ายฐานลูกค้าเข้าสู่เครือข่ายใหม่ แต่หากประเทศไทยก้าวสู่ 4G เมื่อไร ตลาดสมาร์ทโฟนจะบูมเพิ่มมากขึ้นอีก
“แคมเปญที่เอเซอร์ทำร่วมกับเอไอเอสนั้นนับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และทำให้ผู้บริโภครู้จักแบรนด์เอเซอร์ในฐานะผู้ผลิตสมาร์ทโฟนมากขึ้นตามไปด้วย ในครึ่งปีหลังของปีนี้เอเซอร์จะนำเสนอสมาร์ทโฟนอีกหลายรุ่นตั้งแต่รุ่นเริ่มต้นในราคาที่สามารถทดแทนฟีเจอร์โฟนได้ และรุ่นไฮเอนด์ที่ครบทั้งประสิทธิภาพและมีราคาที่จับต้องได้”
**แท็บเล็ตยังฝืดส่วนโน้ตบุ๊กไฮบริดยังพอไปได้
ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมาเศรษฐกิจของไทยค่อนข้างได้รับผลกระทบในหลายด้าน ปัจจัยทางด้านการเมืองส่งผลกระทบต่อกำลังซื้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอีกปัจจัยที่สำคัญคือการเปลี่ยนถ่ายทางเทคโนโลยีทำให้ผลิตภัณฑ์มีการทดแทนกันได้ ทำให้สินค้าบางชนิดได้รับความนิยมลดลง อย่างเช่นไฮบริดโน้ตบุ๊ก เข้ามาแทนโน้ตบุ๊กแบบเดิม เป็นต้น
นิธิพัทธ์ กล่าวว่า สำหรับตลาดโน้ตบุ๊กนั้นยังคงซบเซาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และครึ่งปีแรกมียอดขายลดลงถึง 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่คาดว่าในครึ่งหลังของปีนี้กำลังซื้อจะเริ่มกลับมาและโน้ตบุ๊กจะมียอดขายที่กระเตื้องขึ้นและจะมียอดขายลดลงเหลือเพียง 20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนไฮบริดโน้ตบุ๊กนั้นตลาดยังพอไปได้ ซึ่งหลังจากนี้จะเห็นราคาของสินค้าประเภทนี้จับต้องได้ง่ายมากขึ้น
ในส่วนแท็บเล็ตยอดขายลดลง 20% แต่มองว่าในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะมีดีมานด์เพิ่มมากขึ้น และเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นบวก แต่คาดว่าภายในสิ้นปียอดขายน่าจะเท่ากับในปีที่ผ่านมาคือประมาณ 1.2 ล้านเครื่อง ซึ่งในส่วนของเอเซอร์นั้นที่ผ่านมาได้มีการนำแท็บเล็ตเข้าไปเจาะยังตลาดใหม่ๆ เช่นโรงพยาบาล และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นอกเหนือไปจากการนำเข้าไปใช้ในสถาบันการศึกษา
สำหรับการทำตลาดของเอเซอร์ในปีนี้จะเลือกทำการเปิดตัวสินค้าที่ตลาดกำลังให้ความสนใจ และจะมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายประเภทครบทุกหน้าจอโดยเฉพาะแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนภายในสิ้นปีนี้ พร้อมกันนี้เอเซอร์ได้เตรียมพร้อมที่จะเข้าไปสู่โครงการใหม่ๆ อย่างโครงการสมาร์ทคลาสรูม ซึ่งจะมีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย โดยพร้อมที่แข่งขันทั้งด้านคุณภาพและราคา โดยจะขยายช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ เช่นร้านค้าไอทีที่มีสาขาทั่วประเทศอย่าง แอดไวซ์ โดยตรง
**พีซี ยังไม่ตายแต่ก็โตไม่ได้ในตลาดทั่วไป
นิธิพัทธ์ กล่าวว่า คาดว่าตลาดพีซีไม่น่าจะลดลงมากไปกว่านี้อีกแล้ว และจะยังคงมียอดขายเรื่อยๆ โดยยังมีกลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ที่บางกลุ่มใช้เป็นออลอินวัน รวมไปถึงช่องว่างทางการตลาดใหม่ๆ อย่างกลุ่มเกมเมอร์ ตลาดใหม่ๆที่น่าสนใจอย่าง อบต. อบจ. ที่ยังคงมีความต้องการเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาหน้าจอจะเน้นที่ความคมชัดและมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น
ทั้งนี้สอดคล้องกับรายงานของไอดีซี คาดว่าตลาดพีซีของไทยในปี 2557 ในช่วงครึ่งปีแรกยอดจำหน่ายคาดว่าจะลดลง 8% ไอดีซีคาดว่า จะยังคงมีความต้องการใช้งานพีซีที่แฝงอยู่จากทั้งในกลุ่มผู้บริโภครายย่อยและกลุ่มธุรกิจ เมื่อวิกฤติต่างๆ ได้ผ่านพ้นไปแล้ว
ในส่วนเบ็นคิว ด้วยภาวะที่ซบเซาของยอดขายทำให้ต้องทำการพัฒนาจอมอนิเตอร์เพื่อส่งเข้าไปในตลาดอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากคอนซูเมอร์ปกติ โดยได้ทำการพัฒนาหน้าจอให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดเกมเมอร์ที่ต้องใช้ความละเอียด ความคมชัด และความเร็วในการตอบสนอง นอกจากนี้ยังมีการใส่เทคโนโลยี MHL Connector ที่สามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือได้ รวมทั้งยังมีหน้าจอเฉพาะทางต่างๆ อาทิ จอกราฟิก จอทางด้านการแพทย์ ซึ่งได้มีการใส่เทคโนโลยีให้ใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น
พัทธกร พรศิริธิเวส ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย บริษัท เบ็นคิว (ประเทศไทย) กล่าวว่า เบ็นคิว มุ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สร้างความแตกต่างและโดดเด่นกว่าจอคอมพิวเตอร์ทั่วๆไปในตลาด นอกหนือจากการนำเสนอจอเฉพาะด้านแล้ว เบ็นคิวยังได้นำเสนอจอ BenQ Eye-care Monitor ที่จะช่วยถนอมสายตาด้วย ด้วยเทคโนโลยี Low Blue Light ที่ช่วยลดแสงสีฟ้า ไม่ทำให้ประสาทตาเสื่อมก่อนวัยอันควร
โดยในปีที่ผ่านมาเบ็นคิวได้นำเสนอเทคโนโลยีชื่อว่า Flicker-free ที่ช่วยกำจัดการกระพริบของหลอดภาพที่เกิดจากความเข้มของแสงในระดับที่ต่างกัน ทำให้การกระพริบของจอมอนิเตอร์หมดไป ผู้ใช้คอมพิวเตอร์จะลดความเสี่ยงต่อการปวดตา เพิ่มความสบายตา ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกสบายตามากขึ้น ซึ่ง Low Blue Light ที่ใส่เพิ่มเข้ามาล่าสุดนี้จะช่วยลดปัญหาโรค CVS หรือ Computer Vision Syndrome
เทคโนโลยีใหม่ๆ และการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคยังคงเป็นสิ่งที่เวนเดอร์ต่างๆ ต้องปรับตัวตามให้ทัน เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่นำเสนอเข้าสู่ตลาดนั้นก็ต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่เช่นเดียวกัน แท็บเล็ตที่เคยคาดว่าจะเป็นดาวรุ่งแต่ก็ชะลอตัวลง เพราะไม่สามารถตอบสนองการใช้งานได้หลากหลายเท่ากับโน้ตบุ๊ก ในขณะที่โน้ตบุ๊กแบบเดิมๆ ก็ไม่ได้พัฒนาอะไรไปมากกว่าหน้าจอสัมผัสได้ และกำลังถูกไฮบริดเข้ามาแทนที่ ส่วนพีซีนั้นตลาดก็ไม่ตายไปเสียทีเดียว เพราะยังสามารถปรับตัวไปหาตลาดอื่นๆ ได้
สุดท้ายสินค้าที่น่าจะยังไปได้ดีในครึ่งปีหลังนี้คงหนีไม่พ้นสมาร์ทโฟน เพราะนอกจากจะกลายเป็นเสมือนอวัยวะใหม่ของคนไทยไปแล้ว ผู้ผลิตยังพร้อมที่จะส่งสินค้ารุ่นใหม่เข้ามาในตลาดอีกมากมายและที่สำคัญราคาเริ่มเข้ามาเบียดฟีเจอร์โฟนเต็มที
ไม่แน่ ไม่เกินสิ้นปีนี้เราอาจจะได้เห็นสมาร์ทโฟนราคาพันกว่าบาทได้มาทดลองใช้กัน