ถึงคราวที่ตลาดสมาร์ทโฟนไฮเอนด์กำลังจะร้อนระอุ อีกครั้งในช่วงกลางปี เมื่อแบรนด์สมาร์ทโฟนเกือบทุกรายต่างพร้อมใจกันส่งสมาร์ทโฟนรุ่นแฟลกชิประดับไฮเอนด์เข้าสู่ตลาดกัน โดยแต่ละรายก็จะพยายามชูจุดเด่นที่ถนัดเพื่อให้เข้าตาต้องใจผู้บริโภค
โดยถ้าไล่ดูรายชื่อสมาร์ทโฟนในระดับไฮเอนด์ที่ทำตลาดอยู่ในตอนนี้ จะมีด้วยกันทั้งหมด 5 รุ่น จาก 5 แบรนด์ดังในฝั่งแอนดรอยด์ ตั้งแต่ Samsung Galaxy S5, Sony Xperia Z2, HTC One M8, OPPO Find 7 และ LG G3 โดยเฉพาะ OPPO มาพร้อมมุมมองใหม่เรื่องคุณภาพที่ เปิดตัวแรงอย่างต่อเนื่อง หวังขึ้นแทนเบอร์ 3 ในไทย จะขาดก็เพียง Apple iPhone 6 ที่รอคิวออกวางจำหน่ายในช่วงปลายไตรมาส 3 นี้ ให้เหล่าสาวกที่ตั้งตารอคอยกันอยู่
แลรี่ ฉี ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท กว่างตง ออปโป้ โมบาย เทเลคอมมูนิเคชั่นส์ คอร์ป กล่าวเมื่อครั้งเปิดตัว OPPO Find 7 ที่ปักกิ่งว่า OPPO Find 7 นับเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดที่ผสานจุดเด่นทั้ง 3 ด้านได้อย่างลงตัว ด้วยเทคโนโลยีการถ่ายภาพที่สามารถเพิ่มความละเอียดให้ภาพได้ถึง 50 ล้านพิกเซล หน้าจอความละเอียดสูงสุด 2K และเทคโนโลยี VOOC ที่ช่วยให้สามารถชาร์ตไฟเข้าเครื่องจนเต็มในเวลาเพียง 30 นาที
ออปโป้ ให้ความสำคัญกับประเทศไทยอย่างมาก โดยไทยนับเป็นประเทศแรกๆในตลาดต่างประเทศที่ออปโป้เริ่มเข้ามาทำตลาดพร้อมให้ความสำคัญในการขยายตลาดอย่างต่อเนื่องด้วยเป้าหมายส่วนแบ่งในตลาดสมาร์ทโฟน 30% ด้วยคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ OPPO Find 7
สิ่งที่ ออปโป้ต้องทำพร้อมๆกับการเปิดตลาดอย่างจริงจังคือ การสร้างความเข้าใจด้านคุณภาพว่าแบรนด์จีนก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร การมาครั้งนี้ของ OPPO Find 7 จึงต้องดึงเอาเทคโนโลยีที่โดดเด่นออกมาให้ได้มากที่สุด OPPO Find 7 จึงกลายเป็นสมาร์ทโฟนเครื่องแรกของออปโป้ที่รองรับสัญญาณ 4G LTE เพื่อเป็นหัวหอกในการบุกตลาด 10 ประเทศเป้าหมาย หลังจากเปิดตัว OPPO Fine 5 เมื่อ 15 เดือนก่อนหน้านี้
“คุณภาพเป็นสิ่งที่ออปโป้ให้ความสำคัญมากที่สุด และเพื่อเป็นการลบล้างภาพเดิมๆการมาครั้งนี้ของ OPPO Find 7 จึงเป็นการผสมผสานวัสดุชั้นเลิศเพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ด้านคุณภาพและการออกแบบของออปโป้ออกสู่ตลาดโลก” แลรี่ ฉี กล่าว
จรูญ วิริยะพรพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทย ออปโป้ กล่าวว่า ออปโป้ ตั้งเป้าทำตลาด OPPO Find 7 ในประเทศไทยไว้ที่ 1 แสนเครื่องภายในสิ้นปีนี้ พร้อมตั้งเป้าเป็นเบอร์ 3 ในตลาดสมาร์ทโฟนเมืองไทย ภายในปีนี้ นอกจาก OPPO Find 7 แล้วจะมีรุ่นใหม่ๆตามมาอีก 4 รุ่น
“เรากำลังขยายฐานการทำตลาดสมาร์ทโฟนไป 17 ประเทศ ทั่วโลก นับเป็นการขยายแบรนด์ที่ทำให้ฐานการตลาดออปโป้เพิ่มขึ้นด้วย ออปโป้กำลังก้าวเข้าสู่ตลาดสากลเพิ่มมากขึ้น”
ในส่วนของแอลจี ถ้าย้อนกลับไปในปีที่ผ่านมาแอลจี ถือเป็น 1 ในแบรนด์มือถือที่ทำได้เหนือความคาดหมาย หลังจากเปิดตัว LG G2 เข้ามาสร้างความฮือฮาในตลาด เนื่องจาก G2 ต่างได้รับการยอมรับจากผู้ใช้งานทั่วโลก รวมไปถึงนักวิจารณ์ในวงการโทรศัพท์มือถือภายในไทย ให้กลายเป็นสมาร์ทโฟนที่โดดเด่นที่สุดในช่วงปีที่ผ่านมา
สิ่งที่ทำให้ G2 โดดเด่นเหนือกว่าคู่แข่งรายอื่นๆในเวลานั้นคือการคิดนอกกรอบในแง่ของ การดีไซน์ ปรับให้ปุ่มควบคุมต่างๆไปอยู่ในจุดที่เหมาะสมกับการถือใช้งาน อย่างเช่น การนำปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง และเพิ่มลดเสียงไปไว้บริเวณหลังเครื่องแทน พร้อมกับเพิ่มฟีเจอร์ Knock On ในการเคาะหน้าจอเพื่อให้ติดขึ้นมาใช้งานแทนการกดปุ่ม
ประกอบกับด้วยเทคโนโลยีด้านจอภาพ ที่ทำให้ตัวเครื่องมีขอบจอบาง และการจัดเรียงแบตเตอรีรูปแบบใหม่ที่ทำให้ตัวเครื่องสามารถบรรจุแบตได้มากขึ้น ในขนาดตัวเครื่องที่ไม่ใหญ่จนเกินไป และที่สำคัญคือเพียงพอต่อการใช้งาน ยังไม่นับรวมระบบกันสั่นของกล้อง และเฟิร์มแวร์ที่ทำออกมาได้เสถียร จึงส่งผลให้ LG G2 กลายเป็นสมาร์ทโฟนไฮเอนด์ที่น่าจับตามองที่สุดในปีที่ผ่านมา
มาถึงในปีนี้ LG G3 ก็ถือเป็นความหวังสำคัญของแอลจีอีกเช่นกัน ในการชิงส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนให้เพิ่มขึ้น หลังจากตกไปอยู่ในอันดับที่ 6-7 ในช่วงที่ผ่านมา โดยทางแอลจีตั้งเป้าว่า จะต้องขาย LG G3 ในไทยให้มากกว่าตอน G2 ถึง 3 เท่าตัวโดยในการวางจำหน่ายครั้งนี้แอลจีได้รับความร่วมมือกับทั้ง 3 ค่ายมือถือและร้านค้าปลีกโทรศัพท์มือถือรายใหญ่อย่างทีจีโฟนและเจมาร์ท มาช่วยผลักดันสินค้าเข้าสู่ตลาด
เช่นเดียวกับ Samsung Galaxy S5 ที่ใช้ช่องทางจำหน่ายใกล้เคียงกัน แตกต่างจากอีก 3 แบรนด์ที่เหลือ คือ HTC One M8 ที่เน้นจับมือกับดีแทคในการจำหน่ายเป็นหลัก ส่วนทาง Sony เท่าที่เห็นก็จะมีร่วมมือกับทางเอไอเอส และ Oppo ที่ยังเน้นช่องทางจำหน่ายตามร้านค้าสมาร์ทโฟนทั่วไปอยู่
ทั้งนี้ ถ้าลองกางสเปกของสมาร์ทโฟนไฮเอนด์แต่ละรุ่นออกมาดู จะพบว่าทั้ง 5 รุ่นจะใช้หน่วยประมวลผลอย่าง Qualcomm Snapdragon 801 เช่นเดียวกัน แต่จะแตกต่างกันที่ความเร็วสูงสุดที่มีตั้งแต่ 2.3 GHz ไปจนถึง 2.5 GHz สิ่งที่แตกต่างกันชัดเจนก็จะเป็นเรื่องของขนาดและความละเอียดหน้าจอ หน่วยความจำ (RAM) พื้นที่เก็บข้อมูลภายในเครื่อง (ROM) ที่แต่ละแบรนด์เลือกเข้ามาทำตลาดแตกต่างกันออกไป แต่ทั้งนี้ทุกรุ่นสามารถเพิ่มหน่วยความจำไมโครเอสดีได้
ในแง่ของหน้าจอทั้ง LG G3 และ Oppo Find 7 จะมีขนาดและความละเอียดเท่ากันที่ 5.5 นิ้ว QuadHD (2,560 x 1,440 พิกเซล) ส่วนที่เหลือจะลดลงมาตามลำดับคือ Xperia Z2 5.2 นิ้ว, Galaxy S5 5.1 นิ้ว และ One M8 5 นิ้ว ซึ่งทั้ง 3 รุ่นจะให้ความละเอียดหน้าจอเท่ากันที่ระดับ Full HD (1,920 x 1,080 พิกเซล) ทำให้ในจุดนี้ต้องยอมรับว่าทั้ง G3 และ Find 7 ถือเป็นสมาร์ทโฟนที่หน้าจอละเอียดมากที่สุดในปัจจุบัน
ถัดมาในแง่ของการเชื่อมต่อด้วยมาตรฐานที่เท่าเทียมกันทุกรุ่นจากการใช้หน่วยประมวลผลรุ่นเดียวกัน ทำให้ตัวเครื่องรองรับการเชื่อมต่อ 4G LTE ด้วยกันทั้งหมด เพียงแต่ถ้าเป็น Xepria Z2 ต้องเลือกรุ่นที่รับ 4G (รหัส D6503) เช่นเดียวกับในด้านการเชื่อมต่อไวไฟ มาตรฐาน 802.11 a/b/g/n ที่เป็น Dual-Band บลูทูธ 4.0 และ NFC แต่ในส่วนของ Galaxy S5 ที่มาพร้อมกับพอร์ตยูเอสบี 3.0
ส่วนในมุมของการออกแบบและวัสดุของตัวเครื่อง ผู้ที่ชนะขาดคงหนีไม่พ้น One M8 ที่มาพร้อมกับวัสดุที่เป็นโลหะเต็มตัวให้ความคงทนแข็งแรง ตามมาด้วย Xperia Z2 LG G3 Find 7 และ Galaxy S5 ตามลำดับ เพียงแต่ใน Z2 และ S5 จะเหนือกว่าตรงที่สามารถกันน้ำกันฝุ่นได้ในระดับหนึ่งด้วย สิ่งที่แอลจีเหนือกว่าคงเป็นในแง่ของสัดส่วนระหว่างหน้าจอกับขนาดของเครื่องที่ให้หน้าจอใหญ่ในขนาดเครื่องใกล้เคียงกับแบรนด์อื่น
ขณะที่ในแง่ของแบตเตอรีก็จะมีตั้งแต่ 2,600 - 3,200 mAh ให้เลือกใช้กัน ซึ่งในความเป็นจริงด้วยความจุของแบตเตอรีระดับนี้ ในการใช้งานทั่วๆไปก็สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องตลอดวัน เพียงแต่ว่าถ้าวันไหนที่มีการใช้งานหนักๆ ก็อาจจะอยู่ได้ถึงแค่ช่วงเย็นๆเท่านั้น ในจุดนี้แต่ละค่ายก็จะพยายามใส่ฟังก์ชันช่วยประหยัดพลังงานเข้ามาเพื่อช่วยยืดเวลาการใช้งานในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งในจุดนี้ต้องยอมรับว่าโหมด Ultra Power Saving ใน S5 ที่ผู้ใช้ยังสามารถใช้งานโทรศัพท์ และโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ได้ (หน้าจอขาวดำ) โดดเด่นที่สุด
ด้านของกล้องแต่ละแบรนด์ก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่าง กันออกไป แต่เทคโนโลยีที่น่าสนใจที่สุดคงหนีไม่พ้นระบบ Laser Focus ที่อยู่ใน LG G3 ซึ่งเป็นการนำแสงเลเซอร์มาช่วยวัดระยะระหว่างกล้องกับวัตถุ ส่งผลให้สามารถโฟกัสภาพได้ในระยะเวลา 0.276 วินาที เร็วกว่าที่ทางซัมซุงเคลมว่า S5 ทำได้ที่ 0.3 วินาที ถัดมาก็คือ Find 7 ที่มีการนำเทคโนโลยีประมวลผลภาพมาใช้ร่วมกับตัวกล้องให้สามารถใช้กล้องความ ละเอียด 13 ล้านพิกเซล ให้กลายเป็นภาพขนาด 50 ล้านพิกเซล
ในส่วนของการบันทึกภาพวิดีโอ ด้วยความละเอียดของกล้องที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการเพิ่มความสามารถในการบันทึกวิดีโอระดับ 4K เข้ามาด้วย ยกเว้นใน One M8 ที่ยังใช้กล้อง UltraPixel ความละเอียด 4 ล้านพิกเซล จึงยังไม่สามารถบันทึกวิดีโอระดับ 4K ได้ แต่ทั้งนี้ปัญหาหลักของการบันทึกภาพ 4K ที่เกิดขึ้นในทุกรุ่นคือเรื่องของความร้อนในการใช้งานส่งผลให้ไม่สามารถใช้งานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานได้เหมือนการบันทึกภาพปกติ
ทีนี้มาไล่ดูถึงฟีเจอร์เด่นที่ติดมาในแต่ละรุ่น เริ่มกันจาก Galaxy S5 ถ้าจำกันได้สิ่งที่มีเพิ่มเข้ามาในเครื่องรุ่นนี้คือระบบสแกนลายนิ้วมือ ที่บริเวณปุ่มโฮม พร้อมกับโหมดส่วนตัวที่จะคอยปกป้องข้อมูลของผู้ใช้ และเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ ที่กลายเป็นฟังก์ชันใหม่ เข้ามาช่วยเพิ่มขอบเขตของการใช้งานเพียงแต่ต้องรอดูถึงแอปพลิเคชันจากเหล่านักพัฒนาที่จะนำออกมาต่อยอดต่อไปในอนาคต
ถัดมาในส่วนของ Xperia Z2 จุดเด่นที่ถูกชูขึ้นมามากที่สุดคงหนีไม่พ้นระบบกันน้ำกันฝุ่นมาตรฐาน IP58 ที่กันน้ำลึก 1 เมตรเป็นระยะเวลา 30 นาที กับการถ่ายวิดีโอ 4K จากกล้อง 20 ล้านพิกเซล ที่ช่วยให้สามารถบันทึกภาพใต้น้ำได้ดีที่สุดในตอนนี้ และยังมาพร้อมกับฟีเจอร์ในโหมดถ่ายภาพที่มีลูกเล่นให้เลือกใช้งานมากขึ้น
One M8 ก็จะมีจุดเด่นอยู่ที่วัสดุของตัวเครื่องที่ให้สัมผัสได้ถึงความหรูหราที่สุด ในท้องตลาดตอนนี้ และโหมดถ่ายภาพจากกล้องหลัง 2 เลนส์ ทำให้สามารถสร้างภาพที่มีมิติ รวมไปถึงการถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอ หรือเลือกจุดโฟกัสภายหลังได้ ที่สำคัญคือ Boom Sound ที่นำลำโพงมาไว้หน้าเครื่องเพื่อให้เสียงหันเข้าหาผู้ใช้งาน
ส่วนของ Find 7 จะชูจุดเด่นในแง่ของระบบชาร์จเร็ว VOOC ที่ช่วยให้ชาร์จแบตเตอรีได้รวดเร็วขึ้น พร้อมไปกับหน้าจอระดับ 2K และโหมดบันทึกภาพแบบ Ultra HD 50 ล้านพิกเซลที่กล่าวไว้ข้างต้น ประกอบกับความโดดเด่นทางด้านพลังเสียงของ Oppo ที่ช่วยขับให้ Find 7 น่าสนใจมากขึ้นด้วย
สุดท้าย LG G3 นอกจากเรื่องของหน้าจอ 2K กับระบบเลเซอร์โฟกัสแล้ว ก็ยังคงความสามารถเดิมที่มีใน G2 อย่างระบบ Knock On พร้อมไปกับการนำ Knock Code มาใส่เพิ่มเติม เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานปกป้องข้อมูลตัวเครื่องได้มากขึ้น เพราะตัว Knock Code สามารถตั้งรูปแบบการเคาะได้มากถึง 80,000 แบบ ทำให้ยากที่คนอื่นจะปลดล็อกได้
ข้อมูลต่างๆเหล่านี้คือจุดเด่นของเทพแอนดรอยด์ ทั้ง 5 รุ่นในตลาดสมาร์ทโฟนขณะนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าแต่ละแบรนด์ก็จะพยายามนำจุดเด่นทางด้านเทคโนโลยีของตนเองมา เป็นจุดขาย ดังนั้นท้ายที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเลือกซื้อสมาร์ทโฟนให้เหมาะกับการใช้งาน และคุ้มกับค่าเงินที่เสียไปมากที่สุด
***เทรนด์สุขภาพมาแน่
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากความสามารถของแอนดรอยด์โฟนที่ทยอยออกมาในปีนี้ คือการเพิ่มความสามารถอย่างการวัดก้าวเดิน พร้อมๆไปกับการทำแอปพลิเคชันสำหรับสุขภาพออกมาให้ผู้ใช้งานได้เลือกใช้กัน ซึ่งในจุดนี้ต้องยอมรับว่า ซัมซุงถือเป็นผู้นำในตลาดนี้ ตั้งแต่การออก S-Health มาให้ใช้งานกันตั้งแต่ใน Galaxy S4 จนมาถึงใน Galaxy S5 ก็ยังคงความสามารถนี้อยู่พร้อมไปกับการออกนาฬิกาอัจฉริยะ Gear Fit มาเป็นตัวช่วยสร้างความต่างในตลาด
ถัดมาที่จะเห็นกันก็คือในHTC One M8 ที่เลือกจับมือกับทาง Fitbit แทนการผลิตสินค้าออกมาทำตลาดเอง ด้วยการนำแอปพลิเคชันวัดการก้าวเดินติดมากับเครื่องแบบเอ็กคลูซีฟ ดังนั้นถ้าใครที่ใช้ M8 ร่วมกับสายรัดข้อมืออย่าง Fitbit ก็จะมีการเก็บข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้น
โซนี่เองก็ไม่น้อยหน้า เพราะมีการวางจำหน่ายสายรัดข้อมืออย่าง Smart Band ออกมาพร้อมๆไปกับการจำหน่าย Xperia Z2 โดยการบันทึกข้อมูลของโซนี่ จะให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน Lifelog ซึ่งไม่ได้เก็บข้อมูลเฉพาะการนับก้าว แต่ยังรวมไปถึงเวลานอน เวลาใช้งานโทรศัพท์ทั้งการสนทนา ปริมาณถ่ายภาพ ฟังเพลง ดูหนัง เล่นเกม อ่านหนังสือ ท่องเว็บรวมไปถึงการใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์กด้วย
สำหรับ Oppo ก็มีการเปิดตัว O-Band ที่มีความสามารถในการวัดก้าวเดิน และจับเวลานอน เช่นเดียวกับ LG ที่มี Life band ออกมา จับตลาดกลุ่มนี้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ทั้ง Oppo และ LG ยังไม่มีแผนที่จะนำสินค้าในกลุ่มนี้เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยในช่วงเวลานี้ แต่ก็ยอมรับว่าถ้ามีความต้องการของผู้บริโภคก็พร้อมที่จะนำเข้ามาจำหน่าย ทันที
CyberBiz Social