xs
xsm
sm
md
lg

กสท.เล็งคลอดไลเซนส์ทีวีสาธารณะให้ช่อง 5

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กสท.เตรียมออกใบอนุญาตทีวีสาธารณะให้ช่อง 5 หลังส่งแผนรองรับเข้าสู่ทีวีสาธารณะปี 2560 หวังดันเป็นต้นแบบช่องสาธารณะ ส่วน “ไทยพีบีเอส” อาจเป็นต้นแบบของการยุติระบบแอนะล็อกเช่นเดียวกัน

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด กสท. (2 มิ.ย.) มีการพิจารณาแผนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการโทรทัศน์สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เพื่อนำไปสู่การประกอบกิจการโทรทัศน์ บริการสาธารณะ ประเภทที่ 2 (ช่องเพื่อความมั่นคงของรัฐ หรือความปลอดภัยสาธารณะ) ในฐานะเป็นผู้ประกอบการรายเดิม

โดยจะได้รับใบอนุญาต (ไลเซนส์) เป็นผู้ประกอบการรายเดิมอีก 5 ปี ไปจนถึงปี 2560 พร้อมกันนั้นจะต้องมีการนำเสนอแผนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการโทรทัศน์รายเดิม มาเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ประเภทกิจการบริการสาธารณะ ประเภทที่ 2 ซึ่งจะมีระยะเวลาใบอนุญาตไม่เกิน 15 ปี

สำหรับการพิจารณาใบอนุญาตในรอบแรก เบื้องต้นจะมีระยะเวลาใบอนุญาต 4 ปีแต่ช่อง 5 จะต้องปรับผังรายการประเภทข่าวสาระตั้งแต่ปีที่ได้เริ่มรับใบอนุญาตผู้ประกอบการรายเดิม คือในปี 2557 สัดส่วนรายการที่เป็นข่าวสาระ 45% ของผังรายการ ปี 2558 สัดส่วนข่าวสาระ 50% ของผังรายการ ปี 2559 สัดส่วนข่าวสาระ 60% ของผังรายการ ปี 2556 สัดส่วนข่าวสาระ 70% ของผังรายการ เพื่อเข้าสู่การเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ประเภทกิจการบริการสาธารณะ ประเภทที่ 2

ทั้งนี้ ช่อง 5 ได้นำเสนอแผนตามมาตรา 74 ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่กำหนดว่า ให้ส่วนงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ประกอบกิจการนั้นได้ต่อไปจนถึงวันที่กำหนดในแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ใช้บังคับ ซึ่งหากมีความประสงค์จะประกอบกิจการต่อให้จัดทำแผนประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์เพื่อขอรับใบอนุญาต

ส่วนแผนการรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ประเภทกิจการ บริการสาธารณะ ประเภทที่ 2 ของช่อง 5 จะเป็นต้นแบบ สำหรับสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท.) กรมประชาสัมพันธ์ หรือช่อง 11 และสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ที่จะต้องส่ง แผนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การให้บริการโทรทัศน์ ประเภทกิจการ บริการสาธารณะ และแผนการยุติการออกอากาศในระบบแอนะล็อก ซึ่งช่อง 11 จะต้องขอเป็นผู้รับใบอนุญาตประเภทกิจการ บริการสาธารณะ ประเภทที่ 3 (ช่องข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชนและรัฐสภากับประชาชน) ขณะที่ช่องไทยพีบีเอสจะเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ประเภทกิจการ บริการสาธารณะ ประเภทที่ 2

“ช่องไทยพีบีเอส จะเป็นต้นแบบของการยุติแอนะล็อก โดยช่องไทยพีบีเอสเคยส่งแผนมาให้ กสทช.แล้วครั้งหนึ่ง แต่เราก็ได้ให้ทางช่องนำกลับไปแก้ไขมาใหม่ ซึ่งก็ยังไม่ได้ส่งกลับมาให้ทาง กสทช.”

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาที่จะต้องส่งแผนยุติมี 2 ระยะ คือ 1. หลังจากออกอากาศทีวีระบบดิจิตอลแล้วจะต้องส่งแผนภายใน 1 ปี 8 เดือน 2. การออกอากาศระบบดิจิตอลจะต้องครอบคลุม 95% ส่วนช่อง 11 ยังไม่ได้ส่งแผนใดๆ มาเลย โดยช่องที่เป็นบริการสาธารณะมีทั้งหมด 12 ช่อง แบ่งเป็น 4 ช่องที่เป็นผู้ประกอบการรายเดิม ออกอากาศคู่ขนาน ที่เหลือเป็นรายใหม่อีก 8 ช่อง

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาการแจ้งยืนยันช่องรายการและโครงข่ายแบบบอกรับสมาชิกเพิ่มเติม ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 27/2557 ที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตถ่ายทอดออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ที่ได้รับอนุญาต ผ่านทางระบบการใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดิน ระบบผ่านดาวเทียม และเคเบิล ในกรณีที่ผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกได้รับอนุญาตออกอากาศได้ตามปกติผ่านทางโครงข่ายระบบผ่านดาวเทียม และเคเบิลแบบบอกรับสมาชิก

โดยช่องรายการบอกรับสมาชิก ที่สามารถออกอกาศบนโครงข่ายแบบบอกรับสมาชิก สำหรับกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่ ได้แจ้งยืนยันการเป็นผู้ให้บริการแบบบอกรับสมาชิกเพิ่มเติม จำนวน 90 ช่องรายการ แต่ กสท.ได้เห็นชอบจำนวน 40 ช่องรายการ รวมเป็น 387 ช่องรายการ ส่วนอีก 50 ช่องรายการ ยังคงมีเนื้อหารายการเกี่ยวกับการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์หรือสินค้าบริโภค จึงส่งให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ เพื่อตรวจสอบและพิจารณาต่อไป

ที่ประชุมยังเห็นชอบการยืนยันประเภทการให้บริการโครงข่ายแบบบอกรับสมาชิกของ บริษัท พีเอสไอ บรอดคาสติ้ง จำกัด ส่วนกรณีการฟ้องร้องการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ที่จะมีขึ้น 12 มิ.ย.-13 ก.ค.นี้ ระหว่าง กสทช.กับบริษัท อาร์เอสผู้ได้รับลิขสิทธิ์การถ่ายทอด โดยศาลจะนัดพิจารณาในวันที่ 10 มิ.ย.นี้เป็นครั้งแรก และยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในคดีดังกล่าว

Company Relate Link :
กสทช.
กำลังโหลดความคิดเห็น