xs
xsm
sm
md
lg

“กสท.”เล็งแทงเรื่องเสนอ คสช.ผ่อนปรนวิทยุชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กสท.เตรียมเสนอ คสช.ช่วยผ่อนปรนวิทยุชุมชนกว่า 3,500 สถานีที่โดนห้ามออกอากาศ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด “นที” ระบุกรณีบอลโลกรอพิจารณา 10 มิ.ย.นี้ ส่วนกรณีการขายต่อลิขสิทธิ์หากอาร์เอสชนะคดีก็สามารถทำได้

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ดกสท.วันที่ 6 มิ.ย.ว่า ที่ประชุมมีมติให้เสนอเงื่อนไขการออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชนให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาภายหลังก่อนหน้านี้คสช. ได้ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 15 เรื่อง ขอให้ระงับการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิล โทรทัศน์ระบบดิจิตอล และสถานีวิทยุชุมชน ส่งผลให้จนถึงขณะนี้สถานีวิทยุชุมชนทุกสถานียังไม่สามารถดำเนินการออกอากาศได้

ทั้งนี้สถานีวิทยุที่จะสามารถกลับมาออกอากาศได้นั้นจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ประกอบด้วย ต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการจากกสท. เท่านั้น เป็นผู้มีใบอนุญาตนำเข้าอุปกรณ์ ใบอนุญาตใช้เครื่องส่งสัญญาณ และเป็นผู้ที่ไม่ได้ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ในช่วงที่มีการออกอากาศ

อีกทั้งการให้บริการแก่ประชาชนต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขด้วยเช่นเดียวกัน ได้แก่ ต้องเคยผ่านการตรวจสอบคุณภาพเครื่องส่งสัญญาณใน 1 ปี หรือหากยังไม่เคยตรวจสอบคุณภาพเครื่องส่งสัญญาณ ต้องนำไปตรวจสอบกับศูนย์ตรวจสอบของ กสทช. ที่มีอยู่ 25 ศูนย์ ในสำนักงานเขตของ กสทช. 14 แห่งทั่วประเทศ โดยเงื่อนไขการตรวจสอบจะประกอบด้วย กำลังส่งต้องไม่เกิน 500 วัตต์ เสาสัญญาณสูงจากพื้นดินไม่เกิน 60 เมตร และรัสมีการออกอากาศไม่เกิน 20 กิโลเมตร

การให้บริการยังต้องจำกัดแค่ 1 สถานี ต่อ 1 นิติบุคคลเท่านั้น และการให้บริการยังต้องดำเนินการภายใต้ประกาศ คสช. ฉบับที่ 14 เรื่อง ห้ามสร้างความขัดแย้ง หรือต่อต้าน คสช. และ ฉบับที่ 18 เรื่อง การเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ ทั้งนี้ผู้ให้บริการสถานีวิทยุสามารถให้บริการได้เมื่อใดนั้น ขอให้รอการประกาศคำสั่งอย่างเป็นทางการของ คสช.

อย่างไรก็ดีปัจจุบันสถานีวิทยุชุมชนที่ได้รับใบอนุญาตทดลองออกอากาศจาก กสทช. มีทั้งสิ้นราว 4,700 สถานี ในจำนวนดังกล่าว หากตัดในส่วนของ สถานีวิทยุที่มีชื่อนิติบุคคลผู้ประกอบการซ้ำกันจะเหลือราว 3,500 สถานี ส่วนจำนวนสถานีวิทยุที่ลักลอบออกอากาศแบบผิดกฎหมายโดยไม่มีใบอนุญาตจาก กสทช. มีทั้งสิ้นราว 2,000 - 3,000 สถานี

ที่ประชุมยังบอร์ดกสท.ยังมีการอนุมัติสถานะช่องทีวีในระบบบอกรับสมาชิกเพิ่มเติมจำนวน 10 ช่องรายการ รวมจนถึงขณะนี้มีช่องรายการในระบบบอกรับสมาชิกแล้วทั้งสิ้น 360 ช่องรายการ และกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา 108 ช่องรายการ ส่วนผู้ให้บริการโครงข่ายในระบบบอกรับสมาชิก กสท. ได้อนุมัติสถานะเพิ่มเติม 4 ราย รวมปัจจุบันมีผู้ให้บริการในระบบบอกรับสมาชิกแล้วทั้งสิ้น 14 ราย

พ.อ.นที กล่าวว่า ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า บริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเม้นท์ จำกัด ในเครือ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ได้เตรียมขายต่อลิขสิทธิ์บางส่วนให้แก่ บริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด เพื่อให้ทรูวิชั่นส์ สามารถถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ได้ครบทั้ง 64 คู่ โดยตามหลักปฏิบัติแล้วการนำลิขสิทธิ์รายการดังกล่าว ที่มีลักษณะการให้บริการที่ขัดต่อประกาศ กสทช. ไปออกอากาศ จะต้องมีการแจ้ง และทำเรื่องขออนุญาตมายังกสทช.ก่อนแต่ขณะนี้ยังไม่พบว่าทาง อาร์เอส หรือ ทรูวิชั่นส์ ทำเรื่องมาขออนุญาตแต่อย่างใด

“อย่างไรก็ดี หากท้ายที่สุดศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินให้ อาร์เอส ชนะคดีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 จริงอาร์เอสก็สามารถนำลิขสิทธิ์รายการดังกล่าวที่ได้มาไปทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ซึ่งกสทช.พร้อมจะเคารพการตัดสินของศาลอยู่แล้ว”

สำหรับความคืบหน้าการตัดสินคดีที่ กสทช. ยื่นอุทธรณ์ ต่อศาลปกครองสูงสุด ในกรณีทีศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้เพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป (มัสต์แฮฟ) ที่ กสทช. บังคับใช้ให้ อาร์เอส ในฐานะผู้ถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ต้องถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครบทั้ง 64 คู่ ในขณะที่ อาร์เอส ต้องการถ่ายทอดสดเพียง 22 คู่เท่านั้น โดยล่าสุดศาลปกครองสูงสุด ได้แจ้งว่าจะสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ และจะพิจารณาคดีทันทีในวันที่ 10 มิ.ย.นี้

Company Relate Link :
กสทช.
กำลังโหลดความคิดเห็น