อัลไลด์ เทเลซิส ยักษ์เน็ตเวิร์คจากญี่ปุ่น เผยทิศทางธุรกิจปี 2557 ชี้แนวโน้มตลาดระบบเครือข่ายสู่การช่วยลดต้นทุนการเป็นเจ้าของให้กับลูกค้า พร้อมชูเทคโนโลยีเอเอ็มเอฟ (AMF) ช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการภายในระบบเครือข่าย ตั้งเป้าปีนี้เติบโต 10%
นายเจคอบ ดุช ผู้อำนวยการ ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก และผู้อำนวยการด้านการพัฒนาธุรกิจทั่วโลก บริษัท อัลไลด์ เทเลซิส เค.เค. กล่าวถึงภาพรวมตลาดระบบเครือข่ายในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกว่า ลูกค้ามีจำนวนมากขึ้นที่เริ่มมองหาผู้ค้าที่ช่วยให้เขาได้รับประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนในระบบเครือข่าย
ในขณะเดียวกันก็ต้องการเสียค่าใช้จ่ายน้อยลงและพบว่ากว่า 60% ขององค์กร มีความกังวลในเรื่องการบริหารจัดการระบบเครือข่ายและการซ่อมบำรุงเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งอัลไลด์ เทเลซิสเป็นผู้ค้าระบบเครือข่ายที่นำเสนอเทคโนโลยีที่เป็นนวตกรรมเพื่อลดต้นทุนการเป็นเจ้าของ (Total Cost of Ownership) เพียงรายเดียว และมีความยืดหยุ่นและใช้งานง่าย
โดยในปีที่ผ่านมาอัลไลด์ เทเลซิส ได้นำเสนอเทคโนโลยีเอเอ็มเอฟ (AMF-Allied Telesis Management Framework) สำหรับบริหารจัดการดูแลระบบเครือข่ายให้ง่ายขึ้นมาให้บริการ โดยผลปรากฏว่า ภายหลังจากการเปิดตัวเทคโนโลยีนี้ก็มีผู้สนใจมากขึ้น ซึ่งในปีนี้ อัลไลด์ เทเลซิสยังคงนำเสนอเทคโนโลยี เอเอ็มเอฟอย่างต่อเนื่อง และจะมีผลิตภัณฑ์ที่รองรับเทคโนโลยีดังกล่าวมากขึ้น
“ในปีนี้เราคาดว่าจะมีอัตราการเติบโต 30% ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มโรงพยาบาล ระบบขนส่ง และราชการ ซึ่งอัลไลด์ เทเลซิสมั่นใจว่าด้วยจุดแข็งของเราที่นอกจากจะเป็นผู้ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีแล้วยังเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอีกด้วยซึ่งส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของอัลไลด์ เทเลซิสมีคุณภาพสูงและตรงตามความต้องการของลูกค้า”
ทั้งนี้บริษัท อัลไลด์ เทเลซิส เป็นหนึ่งในผู้นำตลาดด้านระบบเครือข่ายของโลก มีส่วนแบ่งตลาดติดอันดับ 1 ใน 5 ผู้นำด้านระบบเครือข่ายของโลก มียอดรายได้รวมทั่วโลกประมาณ 29.9 พันล้านเยน และในเอเชีย ในปีที่ผ่านมา บริษัท อัลไลด์ เทเลซิสมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 8% จากตลาดทั่วโลก
ด้านนายธีรยุทธ หงษ์คณานุเคราะห์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อัลไลด์ เทเลซิส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางธุรกิจของอัลไลด์ เทเลซิส ปี 2557 ในประเทศไทย ว่า ในปีนี้อัลไลด์ เทเซิส จะมุ่งเน้นการนำเสนอเรื่องความคุ้มค่าของการเป็นเจ้าของ (Total Cost of Ownership) หรือ ความคุ้มค่าในการลงทุนโดยรวมในประเทศไทย
โดยจะชี้ให้เห็นว่านอกจากจะต้องพิจารณาในเรื่องของประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ในระบบเครือข่ายแล้ว ยังต้องมองเรื่องระหว่างการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟ การดูแลรักษา พื้นที่ในการติดตั้งอุปกรณ์ และเจ้าหน้าที่
สำหรับอัลไลด์ เทเลซิส มีเทคโนโลยีเอเอ็มเอฟ (AMF - Allied Telesis Management Framework) เป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการดูแลระบบเครือข่ายให้ง่ายขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ที่ดูแลระบบเครือข่ายไม่เป็นจำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ เพราะหากสวิตซ์ในระบบเครือข่ายเกิดปัญหา เทคโนโลยีเอเอ็มเอฟที่ติดตั้งในอุปกรณ์สวิตซ์ของอัลไลด์ เทเลซิสจะช่วยทำให้สวิตซ์ใหม่ที่ติดตั้งแทนที่สามารถทำงานได้ทันทีและอย่างถูกต้องโดยอัตโนมัติ ซึ่งแตกต่างจากเทคโนโลยีเอสดีเอ็น SDN (Software Defined Networking) ที่ต้องอาศัยตัวควบคุมซอฟต์แวร์ขั้นพื้นฐานจากภายนอกไปยังระบบเครือข่ายทำให้มีความซับซ้อนกว่า
นอกจากนั้นแล้ว บริษัทฯ ยังนำเสนอการบริการที่หลากหลายให้ลูกค้าเลือก ได้แก่ การบริการที่เรียกว่า เน็ต โคเวอร์ (Net.Cover) สำหรับกรณีผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหาลูกค้าสามารถรับผลิตภัณฑ์ทดแทนได้รวดเร็วภายใน 4 ช.ม.หรือวันทำการถัดไปซึ่งจะเป็นไปตามระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ เช่น 24 ช.ม. ใน 7 วัน และ 8 ช.ม. ใน 5 วัน โดยสามารถเลือกได้ว่าจะให้ทางบริษัทฯ ติดตั้งให้ หรือติดตั้งเอง และอีกหนึ่งการบริการ คือ เน็ต โปรเฟสชันแนล (Net.Professional) ที่ลูกค้าสามารถรับบริการตามความต้องการขององค์กรตั้งแต่การออกแบบ และการติดตั้งจากผู้เชี่ยวชาญของอัลไลด์ เทเลซิส
สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักในปีนี้มี 5 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ 1.หน่วยงานราชการ 2.ผู้ให้บริการ หรือเซอร์วิส โพรไวเดอร์ 3.กลุ่มโรงแรม 4.กลุ่มโรงพยาบาลหรือเฮลแคร์ และ 5.กลุ่มบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งในสองกลุ่มหลังนี้ บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากทางบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่น เห็นถึงการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย และเพื่อให้ได้รับบริการเช่นเดียวกับในประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดโรงพยาบาลนั้นประสบความสำเร็จอย่างมากในญี่ปุ่น ทำให้อัลไลด์ เทเลซิส จะนำโซลูชั่นมาพัฒนาและขยายธุรกิจในกลุ่มนี้ในไทยให้มากขึ้น
นายธีรยุทธ กล่าวต่อว่า สำหรับในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีสัดส่วนยอดขายจากกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ประมาณ 90% และ จากกลุ่มรีเทล ประมาณ 10% โดยมียอดขายเติบโต 40% และมีส่วนแบ่งการตลาดในส่วนของสวิตซ์เป็นอันดับ 3 ในประเทศไทย และตั้งเป้าปีนี้เติบโตไม่น้อยกว่า 10%
โดยคาดว่าภาพรวมตลาดระบบเครือข่ายในไทยน่าจะมีอัตราเติบโตประมาณ 10% และมีมูลค่าประมาณ 230 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 6,900 ล้านบาท ปัจจุบัน บริษัทฯ มีดิสตริบิวเตอร์ 2 ราย ได้แก่ บริษัท เอแวนท์กาด จำกัด และบริษัท ไนน์ ดิสทริบิวชั่น จำกัด
Company Relate Link :
Allied Telesis