พรินเตอร์ เป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากธุรกิจไอทีที่หดตัวลง และเมื่อบวกกับผลกระทบจากสถานการณ์บ้านเมืองยิ่งทำให้ตลาดนี้ทรุดตัวลงไปอีก ถึงแม้ยอดขายจะไม่ได้ตกลงทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ แต่เมื่อภาพรวมรายได้ลดลง ก็ทำให้แบรนด์ต่างๆ จำเป็นต้องหาทางเอาตัวรอดในยามวิกฤตเช่นนี้
กลยุทธ์สำคัญที่แต่ละแบรนด์นำมาใช้ คือ นับจากนี้จะไม่เห็นการส่งผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายกลุ่มและหลากหลายราคาหรือราคาสูงมากมายอีกต่อไป แต่จะเห็นการมุ่งเน้นรักษาความแข็งแกร่งในผลิตภัณฑ์ที่ตนเองสามารถสร้างรายได้ และเน้นทำในสิ่งที่ตนถนัดออกมามากขึ้น แต่อาจจะมีผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอื่นบ้างประปรายเพื่อตอบสนองแฟนพันธุ์แท้ที่ยังคงภักดีในแบรนด์อยู่ ซึ่งหากวิเคราะห์แบรนด์ชั้นนำอย่างเอปสัน บราเดอร์ เอชพี จะเห็นว่ามี 4 กลยุทธ์สำคัญที่เลือกใช้ ประกอบด้วย
1.มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ถนัดให้โดดเด่นขึ้นไปอีก
อิงก์เจ็ตพรินเตอร์แบบซิงเกิลฟังก์ชันกลายเป็นกลุ่มสินค้าที่ซบเซาที่สุดในตลาดพรินเตอร์ในปีที่ผ่านมา เพราะมียอดขายตกลงไปถึง 26% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่จากการปรับตัวของผู้นำตลาดอย่างเอปสันทำให้ยอดขายของแบรนด์นี้ยังพอเติบโตอยู่บ้าง และด้วยการทำตลาดแบบหมึกแทงก์แท้เป็นรายแรกในปีที่ผ่านมา เน้นต้นทุนต่ำและการพิมพ์ได้ปริมาณเพิ่มมากขึ้น ทำให้ปีนี้ผู้บริโภคในเมืองไทยได้รับรู้ถึงศัพท์ใหม่อย่าง พรินเตอร์ประเภทหมึกพิมพ์ความจุสูงหรือ High Yield Printer Market
พรินเตอร์ประเภทหมึกพิมพ์ความจุสูงนั้นในความจริงแล้วคือการใช้งานหมึกพิมพ์ประเภทที่สามารถพิมพ์งานได้มากในขณะที่มีต้นทุนต่อแผ่นลดลง และจัดอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์พรินเตอร์ในกลุ่ม L series ซึ่งก็คือพรินเตอร์แทงก์แท้ที่ยังคงสร้างยอดขายให้กับเอปสันนั่นเอง ซึ่ง ยรรยง มุนีมงคลทร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอปสัน กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจในปี 2014 นี้ เอปสันมองว่าผู้บริโภคจะคำนึงถึงต้นทุนต่อแผ่นมากขึ้น ดังนั้นเอปสันจึงมุ่งเน้นที่จะนำ L series ผลิตภัณฑ์หลักที่จะรุกตลาดในปีนี้และจะมีการนำเสนออย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับบราเดอร์ ที่ในปีที่ผ่านมาแม้จะมีการเติบโตถึง 11% แต่ก็ถือว่าลดลงกว่าในช่วง 3 ไตรมาสแรกซึ่งมียอดเติบโตอยู่ที่ 13% และสินค้าส่วนใหญ่ที่ทำให้เติบโตก็จะเป็นในกลุ่มของผลิตภัณฑ์มัลติฟังก์ชัน ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่าในปีนี้บราเดอร์ก็จะเน้นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มมัลติฟังก์ชันเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยจะส่งเครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ทมัลติฟังก์ชันรุ่นใหม่ๆ ที่เน้นในประสิทธิภาพและความคุ้มค่า รวมไปถึงการประหยัดหมึกพิมพ์ และถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองงานพิมพ์ในปริมาณมาก
เช่นเดียวกับเอชพีที่ ปวิณ วรพฤกษ์ ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มธุรกิจการพิมพ์และคอมพิวเตอร์ บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาพรินเตอร์ของเอชพีก็มียอดขายที่ตกลงเช่นกัน ดังนั้นการทำตลาดในปีนี้จะเน้นการเจาะตลาดในเซ็กเมนต์ที่สามารถเติบโตได้ ส่วนเซ็กเมนต์ไหนที่ไม่ทำรายได้ก็จะไม่เน้นมากนัก และเอชพีจะใช้การเจาะเซ็กเมนต์ในลักษณะนี้เป็นตัวทำให้ตลาดพรินเตอร์สามารถ ผ่านวิกฤตที่เกิดขึ้นได้
2.เจาะกลุ่มลูกค้าใหม่-หนีไปต่างจังหวัด ชดเชยรายได้
นอกจากนี้บราเดอร์ยังสร้างการเติบโตด้วยการมุ่งเข้าไปเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ และหาการตลาดใหม่ๆ ที่นับว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ตั้งแต่มิวสิคมาร์เก็ตติงเมื่อปลายปีที่ผ่านมา รวมไปถึงการเปิดตัวพรีเซนต์เตอร์คนใหม่ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ให้มากขึ้น ธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายขายและการตลาด บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล ประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาบราเดอร์ได้เปิดตัวพรีเซ็นต์เตอร์อย่าง ดีเจพุฒ - พุฒิชัย เกษตรสิน เพื่อความเป็นแบรนด์ที่ดูทันสมัยวัยรุ่นมากกว่าที่จะดูมีอายุเหมือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้หันมาส่งเสริมสปอร์ตมาร์เก็ตติง ด้วยการสนับสนุนนักกอล์ฟดาวรุ่งของไทย อย่าง 'โปรหมู' หรือนางสาวอรนรินทร์ สัตยาบรรพต สำหรับการแข่งขัน ในรายการ เจแปน แอลพีจีเอ ทัวร์ 2014 (Japan LPGA Tour 2014)
ทั้ง 2กลยุทธ์ทางการตลาดนี้ถือครั้งแรกของบราเดอร์ที่มีพรีเซ็นเตอร์ และทำการสนับสนุนวงการกีฬาไทย ซึ่งแม้จะวัดผลไม่ได้ว่าจะสามารถสร้างลูกค้าใหม่ได้มากน้อยแค่ไหน แต่อย่างน้อยก็ทำให้ลูกค้าได้เห็นแบรนด์บราเดอร์ในมุมใหม่ๆ มากขึ้นใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้น ซึ่งนอกจากการสนับสนุนทางด้านนี้แล้ว บราเดอร์ยังได้เล็งตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดต่างจังหวัดที่ยังมีอัตราการเติบโตอยู่ เพื่อชดเชยกับรายได้ในกรุงเทพฯที่เริ่มหดหายไปอันเนื่องมาจากเหตุการณ์บ้านเมือง
บราเดอร์มองว่าตลาดต่างจังหวัดยังมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีก เนื่องจากเริ่มมีการขยายตัวด้านเศรษฐกิจไปในต่างจังหวัดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการด้านที่อยู่อาศัยการสร้างถนนหนทาง หรือแม้กระทั่งนโยบายที่ต้องการกระจายศูนย์กลางเศรษฐกิจไปยังต่างจังหวัด ล้วนแต่เป็นแรงหนุนแทบทั้งสิ้น ดังนั้นแทนที่จะอยู่ในกรุงเทพฯซึ่งทำตลาดยากขึ้นทุกวัน หนีออกไปต่างจังหวัดน่าจะง่ายกว่า
3.เพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ เติมเต็มทุกการใช้งานของออฟฟิศ
การมีผลิตภัณฑ์พรินเตอร์เพียงอย่างเดียว แม้จะมีครบทุกรุ่นตอบสนองได้ทุกตลาด แต่คงไม่เพียงพออีกต่อไปสำหรับการสร้างรายได้ยุคนี้ ดังนั้นการตลาดตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาหลากหลายแบรนด์ต่างออกผลิตภัณฑ์เพื่อการใช้งานในออฟฟิศกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบราเดอร์ที่ส่งผลิตภัณฑ์สแกนเนอร์ เข้ามาทำตลาดเป็นครั้งแรก หลังจากที่ได้เล็งเห็นว่าปัจจุบันมีการส่งข้อมูลในรูปแบบดิจิตอลมากขึ้น ซึ่งสแกนเนอร์จะเป็นตัวหนึ่งที่จะตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้
โดยสแกนเนอร์รุ่นใหม่ที่นำเสนอนี้จะสามารถเปลี่ยนจากเอกสารเป็นไฟล์ นำเสนอเพื่อเจาะกลุ่มเซลล์ ไฟแนนซ์ กลุ่มออฟฟิศ และกลุ่มที่ใช้ตามบ้าน เน้นประสิทธิภาพของการสแกนที่จะช่วยเติมเต็มทุกกลุ่มตลาดด้วยความหลากหลายของกลุ่มผลิตภัณฑ์ ยังไม่รวมการเสริมไลน์ในผลิตภัณฑ์ทั้ง เครื่องพิมพ์ฉลาก แฟกซ์ และจักรเย็บผ้า ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่นอกเหนือจากพรินเตอร์นี้ แม้จะสร้างรายได้เพียง 10% แต่ก็ถือว่าเป็นการเปิดตลาดใหม่ที่ช่วยสร้างรายได้เพิ่มได้เป็นอย่างดี โดยบราเดอร์เตรียมส่งสแกนเนอร์ลงตลาดอีก 6 รุ่น ประกอบด้วย กลุ่มเดสก์ทอปสแกนเนอร์ 4 รุ่น และกลุ่มโมบายสแกนเนอร์ 2 รุ่น
ส่วนเอปสันที่ผ่านมามีการผลักดันสินค้าทั้งในและนอกกลุ่มพรินเตอร์อย่างต่อเนื่องมา โดยตลอด ที่เห็นได้ชัดเจนคือการเข้าไปกินส่วนแบ่งของตลาดการพิมพ์ผ้าหรือกลุ่ม ธุรกิจสิ่งทอ ซึ่งในอดีตต้องมีการลงทุนสูง เอปสันจึงได้ส่งเครื่องพิมพ์หน้ากว้างเข้าไปนำเสนอแม้รุ่นเดิมจะต้องพิมพ์บน กระดาษก่อนแล้วค่อยไปรีดลงเสื้อผ้า แต่ในปัจจุบันสามารถนำเสื้อหรือผ้าเข้าไปพรินต์ได้ทันที แถมยังหันมาใช้หมึกแทงก์ที่สามารถเติมและลดต้นทุนได้อีก
ยังไม่นับรวมผลิตภัณฑ์โปรเจ็กเตอร์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่เอปสันคาดหวังการเติบโตเช่นกัน แม้ในปีที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบไม่น้อย แต่หากยังคงไม่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้ามาเสริมคงจะทำให้ยอดขายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ซบเซาตามไปด้วย ดังนั้นในปีนี้เอปสันจึงหันมาเน้นเครื่องโปรเจ็กเตอร์ที่มีความสว่างสูงกว่า 3,000 ลูเมนส์ รวมไปถึงมีความสามารถในการเชื่อมต่อกับสมาร์ทดีไวส์ต่างๆ สามารถเชื่อมต่อ Wi-Fi หรือ HDMI นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ที่เจาะตลาดสินค้ากลุ่มธุรกิจ อาทิ เครื่องพิมพ์ด็อทเมทริกซ์ เครื่องพิมพ์ใบเสร็จ ที่ยังต้องนำเสนอกับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
4.AEC ขุมทรัพย์ใหม่ที่ใครๆ ก็ต้องการ
ตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียนถือว่าเนื้อหอมขึ้นมาทันที หลังจากกำลังจะกลายเป็นประชาคมที่เป็นหนึ่งเดียวกัน และหลายๆ ที่ได้เริ่มมีการเปิดประเทศ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่จะต้องเข้าไปสร้างรายได้ในตลาดใหม่เหล่านี้ โดยประเทศที่เนื้อหอมที่สุดตอนนี้คงหนีไม่พ้นพม่า
โดยการขยับด้านไอทีครั้งใหญ่ของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออย่าง เทเลนอร์ จากประเทศนอร์เวย์ และโอเรดู จากกาตาร์ จะกลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ตลาดไอทีพม่าเติบโตได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะตลาดเครื่องโทรศัพท์มือถือซึ่งจะมีผลต่อยอดให้เกิดธุรกิจต่างๆ ตามมา โดยขณะนี้คาดว่ามีจำนวนประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ราว 6 ล้านคน โดยมีอัตราความเร็วอยู่ที่ 1 เมกะบิต
ยรรยง กล่าวว่า จากการสอบถามตัวแทนจำหน่ายของเอปสันในพม่าพบว่า หลังจากพม่าได้ทำการเปิดประเทศส่งผลให้อุตสาหกรรมไอทีของพม่าเติบโตถึง 10-15% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ตลาดไอทีจะยังคงเล็กและมีร้านค้าที่เกี่ยวกับด้านนี้อยู่ประมาณ 70 ร้านเท่านั้น แต่สินค้าไอทีที่มียอดจำหน่ายสูงก็เป็นในกลุ่มของคอมพิวเตอร์ที่สัดส่วนกว่า 70% จะเป็นโน้ตบุ๊ก ส่วนอีก 30% เป็นเดสก์ท็อป ส่วนแท็บเล็ตก็ขายได้เช่นกัน
สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ ด้านไอทีที่มีการเติบโตอย่างเช่น เครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ต โดยกำลังซื้อสินค้าเหล่านี้ทั้งหมดส่วนใหญ่จะอยู่ในเมืองย่างกุ้งประมาณ 80% ซึ่งในขณะนี้เอปสันได้เตรียมความพร้อมในทุกด้าน เพื่อรอรับการเปิด AEC ที่กำลังจะมาถึงโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเป้าหมายอย่าง เวียดนาม พม่า กัมพูชา ลาว ซึ่งเอปสันจะใช้ไทยเป็นฮับของภูมิภาค เพื่อทำการตลาดและกระจายสินค้ารวมถึงพัฒนาศักยภาพทีมงานเอปสันในภูมิภาคนี้
Company Related Link :
Brother Thailand
CyberBiz Social