อินเทล (Intel) เปิดตัวชิปใหม่ 15 คอร์ประมวลผลสำหรับคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ หวังแจ้งเกิดเป็นขุมพลังสำหรับเครื่องแม่ข่ายยุคหน้าเพื่อให้บริการคลังข้อมูลมหาศาลหรือบิ๊กดาต้าที่จะหลั่งไหลมาจากระบบอินเทอร์เน็ตในสิ่งของเครื่องใช้ หรือ “อินเทอร์เน็ต ออฟ ทิงส์ (internet of things)”
หลักการของ “internet of things” คือการพัฒนาอุปกรณ์เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่สามารถเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ได้ ซึ่งจะทำให้อุปกรณ์นั้นมีความสามารถพิเศษที่อัจฉริยะกว่าเดิม ตัวอย่างสินค้าภายใต้แนวคิดนี้ได้แก่ ตู้เย็นออนไลน์ที่เจ้าของเครื่องสามารถตรวจสอบสิ่งของในตู้ขณะอยู่ที่ร้านค้า หรือระบบไฟฟ้าที่ผู้ใช้สามารถสั่งเปิดได้จากนอกบ้าน จุดนี้ทำให้อินเทลอาสาเปิดตัวชิปรุ่นใหม่ที่ช่วยให้บริษัทใหม่สามารถจัดการข้อมูลจากระบบ internet of things ได้แบบเรียลไทม์ทันใจและปลอดภัย
ชิปใหม่ของอินเทลถูกให้ชื่อว่า “E7" โดยอินเทลการันตีว่าชิปนี้ไม่ได้ถูกวางตัวเป็นคู่แข่งกับชิปสถาปัตยกรรม x86 ของคู่กัดอย่างเอเอ็มดี (Advanced Micro Devices) ในสถาปัตยกรรม x86 แต่ยังสามารถเทียบกับชิปสำหรับคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ “เพาเวอร์ ซีรีส์ (Power series)” ของยักษ์ใหญ่สีฟ้าไอบีเอ็ม (IBM)
ไดแอน ไบรเอนต์ (Diane Bryant) รองประธานอาวุโสและผู้จัดการทั่วไป กลุ่มธุรกิจศูนย์ข้อมูลของอินเทล ให้ข้อมูลว่า ชิปใหม่ตระกูล E7 นี้สามารถทำลายสถิติโลกด้านประสิทธิภาพถึง 20 ด้าน โดยเฉพาะด้านระบบประมวลผลเรียลไทม์ ซึ่งจะเหมาะสมมากต่อการจัดการข้อมูลจากเซ็นเซอร์ที่ถูกส่งมาสู่โลกออนไลน์
การเปิดตลาดชิปสำหรับเซิร์ฟเวอร์เพื่อรองรับยุค internet of things ของอินเทลนั้นถือเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจ เนื่องจากตลาดบิ๊กดาต้า (Big data) นั้นถูกประเมินว่าจะมีอัตราเติบโตเกิน 27% ต่อปี คาดว่าจะมีมูลค่ามากกว่า 3.24 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2017 (ข้อมูลจากบริษัทวิจัยไอดีซี)