xs
xsm
sm
md
lg

ทำเงินบนโลกไอที (100) : 6 วิธีเขียนแอปฯให้ขายได้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ใครที่มีข้อสงสัยเรื่องกระบวนการขายแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์พกพา บทความนี้จะตอบความข้องใจของคณได้ครบถ้วน ทั้งกรณีศึกษาพื้นฐานความรู้เรื่องรูปแบบการทำธุรกิจในวงการนี้ รวมถึง 6 ปัจจัยหลักที่จะทำให้แอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นมานั้นได้รับความนิยมและ"ทำเงินได้"

***เขียนแอพฯ ขายเอง รวยได้อย่างไร?
บทความโดย ธรรณพ สมประสงค์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Thaiware.com

ปัจจุบันนี้มีแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือรุ่นต่างๆที่ถูกพัฒนาและปล่อยออกมาให้ผู้ใช้งานดาวน์โหลดอย่างมากมาย ทั้งแอปไทย หรือแอปต่างประเทศ แอปบนโทรศัพท์แอนดรอยด์ หรือแอปบนโทรศัพท์ไอโอเอส (iOS) เรียกได้ว่าออกมากันได้แทบทุกวัน จนมันแทบจะเป็นโลกของการแข่งขันหารายได้อีกโลกหนึ่งที่ต้องแย่งชิงกันอย่างดุเดือด

แน่นอนว่าการพัฒนาแอปต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงออกมาได้อย่างสมบูรณ์นั้น หากมองในแง่ของค่าใช้จ่าย ก็ถือว่ามีค่อนข้างสูงเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าอุปกรณ์ อย่างเช่นการที่จะพัฒนาแอป iOS มาสัก 1 แอป ก็ต้องซื้อเครื่องแมคฯ เพื่อมาใช้พัฒนา นอกจากนี้ยังมี ค่าเรียนรู้ ค่าฝึกอบรม ค่าแรงของพนักงาน (หากพัฒนากันเป็นทีม) และอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย และคำถามคือ ต้นทุนที่ลงทุนลงแรงไปเหล่านี้ เมื่อไหร่มันถึงจะได้คืนทุน และผู้พัฒนาแอปฯ ส่วนใหญ่หารายได้มาจากอะไร ทางตรงหรือทางอ้อม มีกรณีศึกษามาให้อ่านดังนี้

1. ขายแอปโดยตรง: วิธีการนี้หมายถึง การที่ผู้ใช้งานจะได้มาซึ่งแอป นี้ทางเดียวที่จะได้คือ ต้องเสียเงินซื้อ (Purchase) มาเท่านั้น หากผู้พัฒนามั่นใจอย่างแน่วแน่ว่า แอปคุณมีดีพอที่จะขายได้ และมีคนซื้อ หรือมีการตลาดที่ดีพอก็สามารถใช้วิธีนี้ทำได้ ส่วนมากจะเน้นไปทางแอปฯเฉพาะทาง หาได้ยากตามท้องตลาด อย่างเช่น แอปแผนที่นำทาง (GPS) แอปดูกล้องวงจรปิดบนมือถือ แอปแต่งรูป หรือแอปเกมชื่อดังต่างๆ เป็นต้น

หากพูดถึงแอปเกมไทยละก็คงจะหนีไม่พ้นเกมไพ่สลาฟออนไลน์ (Slave Online) ที่ขายในราคา $0.99 แต่ก็มีคนซื้อกันอย่างถล่มทลาย จนติดอันดับแอปจ่ายเงินของแอปสโตร์กันมาแล้ว ในระยะหนึ่ง

2. ซื้อบริการเสริมในแอป (In app Purchase) : วิธีนี้ก็เป็นโมเดลการหารายได้อีกหนึ่งวิธีที่ทางผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน ส่วนใหญ่ชอบใช้กัน เพราะส่วนมากแอปในประเภทนี้มักจะมาในรูปแบบของการแจกฟรี หรือให้ดาวน์โหลดฟรีไปใช้ในตอนแรกก่อน แต่เมื่อเปิดแอปขึ้นมา ก็จะหาเรื่องให้เสียเงินจนได้ ด้วยโมเดลคร่าวๆ ดังต่อไปนี้

2.1 โฆษณา : แบนเนอร์โฆษณาขนาดมาตรฐาน 320 x 50 พิกเซล ที่มันจะมาคอยปรากฏอยู่ ด้านบน ตรงกลาง หรือด้านล่างสุด ของหน้าจอมือถือคุณ มันจะคอยมารังควาญใจคุณอยู่ตลอดเวลา ด้วยหน้าจอที่แคบและเล็กบางทีเผลอไปกดโดนมัน มันก็จะเปิดหน้าใหม่ขึ้นมาก็ต้องเสียเวลาปิดแล้วเปิดแอปกลับขึ้นมาใหม่อีก เสียเวลาหงุดหงิด แต่หากไม่ต้องการให้แอปดังกล่าวแสดงขึ้นมา มีวิธีง่ายๆ คือจ่ายเงินซื้อฟังก์ชั่นปิดโฆษณา ไม่ให้มันแสดงผลขึ้นมารบกวนอีก ในราคา $0.99 หรือ $1.99 ก็ว่ากันไป

2.2 : ไอเท็มเกม : โหลดให้ไปเล่นกันฟรีจริง แต่ความสามารถนี้เกิดขึ้นในเกม อย่างเช่นเกมตีปิงปอง VTT (Virtual Table Tennis) เกมแรกที่ทำให้ ผู้เขียนต้องเสียเงินซื้อกับมันจนได้ เพราะการตีปิงปองมีไม้หลากหลายให้เลือกตี แต่ละชนิดก็จะมีจุดเด่น จุดด้อย ต่างกันไป เช่นตีแรง ตีไซด์โค้ง เป็นต้น หากอยากจะได้มาครอบครองมีสองทางคือ หนึ่งเล่นไปเรื่อยๆ ชนะก็เก็บเหรียญทีละหนึ่งเหรียญ ต้องเล่นไปเป็นร้อยๆ ครั้งถึงจะซื้อไม้ใหม่ได้ กับสองคือ เสียเงินจริงๆ ซื้อซึ่งตอนแรกก็พยายามอยู่ แต่ตอนหลังใจอ่อนยอมซื้อ เพราะราคาเท่ากับข้าวจานเดียว (คิดซะอย่างนี้) นอกจากนี้ยังมีลูกล่อลูกชนอีกเพียบ อย่างเช่นอยากเล่นพลังไม่หมด พลังขึ้นเร็วก็ต้องซื้อเครื่องดื่ม

2.3 การปิดความสามารถบางอย่าง : มีแอปบางประเภทที่แจกให้คุณดาวน์โหลดไปใช้กันฟรี แต่ก็มีแอบปิดความสามารถบางอย่างเอาไว้ ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ต้องกัดฟันซื้อ อย่างเช่น แอปกล้องวงจรปิด บางครั้งปิดความสามารถด้านการดูย้อนหลัง การอัดวีดีโอบันทึกเอาไว้ ดูภาพปัจจุบันได้อย่างเดียว หากอยากได้ก็ต้องซื้อความสามารถตรงนี้กลับมาก็ต้องเสียเงินซื้อไปตามระเบียบ

3. เก็บโปรไฟล์จากการปล่อยแอปแจกฟรี : แบบนี้คือสร้างแอปแจกฟรี ผู้พัฒนาอาจจะทำเพราะใจรัก ความชอบหรือความถนัดส่วนตัว คนดาวน์โหลดไปใช้เป็นจำนวนมาก แอปเป็นที่นิยม สิ่งที่จะสร้างรายได้ที่ตามมาคือผลงานของคุณ นำไปเป็นตัวอ้างอิงหรือพอร์ตโฟลิโอติดตัวคุณไปได้ ซึ่งขอบอกว่าส่วนมากตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน ผู้พัฒนาแอปหรือโปรแกรมไทย จะใช้โมเดลนี้มาโดยตลอดเสียส่วนใหญ่

ยกตัวอย่างบ้านบ้านซอฟท์ ผู้พัฒนาแอปฯ บนมือถือ และโปรแกรมบนพีซีจากเชียงใหม่ ที่พัฒนาผลงานแอปออกมามากมาย เรียกได้ว่าตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบเลยก็ว่าได้ มีทั้งแอปเช็คตารางรถไฟ แอปตรวจสอบโทรศัพท์มือถือ แอปดูราคาทอง แอปนับระยะปลอดภัยของผู้หญิง แอปฟังธรรมะ แอปดูทีวีออนไลน์ และยาวไปจนถึง โปรแกรมด้านธุรกิจอย่าง โปรแกรมร้านอาหาร โปรแกรมพิมพ์บาร์โค้ด และอื่นๆ อีกเพียบดูรายละเอียดได้ที่นี่ http://software.thaiware.com/tag/BanBanSoft

อีกเจ้านึงคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด นาโนซอฟท์ แอนด์ โซลูชั่น ก่อตั้งมาพร้อมๆ กับเว็บไซต์ไทยแวร์ดอทคอมเมื่อประมาณ 14 ปีแล้ว (ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542) เจ้านี้พัฒนาซอฟต์แวร์สำเร็จรูป อย่างโปรแกรมร้านอาหาร โปรแกรมโรงแรม โปรแกรมสต็อกสินค้า โปรแกรมหอพัก โปรแกรมเงินเดือน และอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดแน่นอนว่าเป็นโปรแกรมที่ขายแน่นอน แต่อาจจะมีการปล่อยให้ทดลองใช้ก่อน 30 วัน หากลูกค้าท่านใดพอใจก็ซื้อไปใช้ต่อแบบถาวร

แต่เจ้านี้มีกลยุทธ์ที่ไม่ซ้ำแบบใครในการสร้างแบรนด์ของตัวเองให้เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างนั่นคือ การพัฒนาซอฟต์แวร์แจกฟรี ที่เป็นประโยชน์และตอบสนองความต้องการของคนไทยออกมามากมายอาทิเช่น โปรแกรมบัญชีครัวเรือน โปรแกรมพิมพ์ใบเสร็จรับเงิน โปรแกรมบัตรคิว โปรแกรมตั้งเวลาปิดคอมพิวเตอร์ โปรแกรมตรวจสอบจอ PDF และล่าสุดอย่าง โปรแกรมคำนวณสินสอดของเจ้าบ่าว ที่จะนำไปขอเจ้าสาว และออกมาถูกเวลาจริงๆ นั่นคือก่อนวันวาเลนไทน์ไม่นาน ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดีมากๆ เลยทีเดียว

***ทำอย่างไรให้สามารถพัฒนาแอปฯ แล้วนำไปขายได้

วัตถุประสงค์แอปต้องชัดเจน : หากเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าคุณต้องการพัฒนาแอปฯ เพื่อเงินต้องมีการคิด วางแผนอย่างรอบคอบ ว่าผลงานที่ออกมาจะต้องดีพอ ที่จะขายและมีคนซื้อได้ เพราะการที่คนเขาจะซื้อแอปฯ หรือ ซื้อโปรแกรมบนพีซี ไปติดตั้งที่เครื่องสักตัวนึงได้ ทางผู้บริโภคเองเขาก็ต้องคิดอย่างรอบคอบเช่นเดียวกันในการซื้อแอปฯ ไปติดตั้งที่เครื่องสักตัว ว่ามันตอบโจทย์ความต้องการของเขาได้มากน้อยเพียงใด เอาใจเขามาใส่ใจเราว่าหากเราเป็นลูกค้า เราจะซื้อแอปฯ นี้หรือไม่ แต่หากทำเพื่อต้องการชื่อเสียง หรือ พอร์ตฟอลิโอ สวยๆ นั้นไม่ต้องคิดมาก คิดเยอะ อาจจะไม่ต้องมีฟังก์ชันอะไรหรูหรา ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอทางของเรา แต่อาจจะต้องใช้เวลาสักระยะว่ากว่าจะได้เงิน หรือคืนทุน

ตั้งชื่อแอปฯ ต้องโดน : การตั้งชื่อแอปฯ ควรจะต้องสื่อความหมายของแอปฯ นั้นๆ ให้ชัดเจน ว่าเป็นแอปฯ ที่ถูกพัฒนาเพื่อวัตถุประสงค์อะไรกันแน่ ไม่ควรเป็นชื่อลอยๆ หรือ ชื่อแบรนด์ ที่ไม่ได้มีความหมายอะไร เพราะคนส่วนใหญ่จะค้นหาแอปฯ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตัวเขาเอง และที่สำคัญจะต้องไม่ซ้ำแบบใคร

รูปโปรไฟล์ต้องเด่น : การใช้รูปโปรไฟล์ของแอปฯ แม้จะมีพื้นที่สี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดเล็ก แต่ถือว่าส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด เพราะรูปโปรไฟล์ของแอปฯ คุณจะต้องสื่อความหมาย ทุกอย่างออกมา แล้วให้ผู้ที่เห็นรูป สามารถเข้าใจได้เร็วที่สุด

อยากโกอินเตอร์ต้องภาษาอังกฤษ : ควรจะมีภาษาอังกฤษ เป็นหลัก หากอยากทำภาษาไทยจริงๆ ขอให้มีสองภาษาจะดีกว่า

คำบรรยายต้องชัด : ไม่ว่าจะเป็นแอปฯ บนมือถือ (ทั้งระบบปฏิบัติการไอโอเอส และ แอนดรอยด์) หรือแม้แต่ โปรแกรมบนเครื่องพีซี จะต้องเขียนคำอธิบายให้ชัดเจน แสดงรายการ ความสามารถของมันออกมาเป็นข้อๆ อย่างละเอียด เรียกได้ว่าน้องๆ คู่มือการใช้งาน (User Manual) เลยก็ว่าได้ หากเขียนไม่เคลียร์ คนอื่นเขาก็ไม่โหลด ต้องเขียนอธิบายสรรพคุณให้เก่งๆ พูดง่ายๆ โม้ให้เก่งๆ นั่นเอง

วางแผนการโปรโมตแอปฯ เสียแต่เนิ่นๆ : ไม่ว่าจะเป็นแอปฯ ฟรี หรือ เสียเงิน แน่นอนว่าทางผู้พัฒนาแอปฯ คงจะต้องอยากให้ผลงานของตัวเองเป็นที่รู้จักในวงกว้างแน่ๆ หากเป็นแอปฯ เสียเงิน จะซื้อหรือไม่ซื้อก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง กำหนดวันเปิดตัวให้ชัดเจน คิดช่องทางการโปรโมต ในช่องต่างๆ อาทิเช่นเปิดเพจบนเฟสบุ๊ครอเอาไว้ก่อน หรือเข้ามาส่งโปรแกรมที่ Thaiware.com ได้เช่นกัน เพราะการนำแอปฯ ต่างๆ ไปเผยแพร่บนกูเกิลเพลย์ หรือ แอปสโตร์ นั้นเปรียบเสมือน ที่มหาสมุทรที่กว้างใหญ่มากๆ เพราะมีแอปฯ เป็นล้านๆ แอปฯ คนสามารถเข้าถึงแอปฯ ของคุณได้ยากเช่นกัน การนำข้อมูลของคุณมาส่งไว้ที่เว็บไซต์ Thaiware.com อย่างน้อยก็ถือเป็นการสร้างโอกาสให้คนไทยเข้าถึงแอปพลิเคชันของคุณได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม

ทั้งหมดนี้ก็เป็นโมเดลหรือวิธีการหารายได้ของการพัฒนาแอป หรือโปรแกรมที่นำมาเล่าสู่กันฟัง หวังว่าทุกท่านคงจะได้นำเอาเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ เป็นวิทยาทานนำไปใช้ในการต่อยอดเพื่อหารายได้ ได้นะครับ
เกมไพ่สลาฟออนไลน์ของคนไทย (Slave Online) ที่ขายในราคา $0.99 แต่ก็มีคนซื้อกันอย่างถล่มทลาย
รูปแบบการแสดงแบนเนอร์โฆษณาบนแอปพลิเคชัน
รูปแบบการขาย item ในเกม
กำลังโหลดความคิดเห็น