xs
xsm
sm
md
lg

“นที” เปรยกรณีถือหุ้นไขว้เข้าประมูลทีวีดิจิตอลต้องเคลียร์กันเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“นที” ชี้ปัญหากรณีที่มีผู้เข้าซื้อซองประมูลทีวีดิจิตอลถือหุ้นไขว้ผู้ประกอบการต้องเคลียร์กันเองก่อนวันยื่นซอง พร้อมมั่นใจจะชนะคดีอาร์เอสฟ้องประเด็นบอลโลก 2014 แน่นอนหลังอาร์เอสอินเตอร์ฯ ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับ กสทช.

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า การประชุมบอร์ด กสท. วันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานสัญญาให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก โดยขั้นตอนต่อไปจะนำเข้าบอร์ด กสทช.เพื่อพิจารณา ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ต่อไป

ทั้งนี้ บอร์ด กสท.ยังได้อนุมัติรายได้จากการเปิดจำหน่ายเอกสารการประมูลขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ หรือประมูลทีวีดิจิตอล ช่องธุรกิจทั้ง 24 ช่อง ซึ่งมียอดการจำหน่ายซองรวม 49 ล้านบาท (ไม่รวมภาษี) เพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดประมูลทีวีดิจิตอลที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ธ.ค. 56 นี้ต่อไป

ขณะที่ในกรณีของบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด หรือช่อง 7 และบริษัท จันทร์25 จำกัด ที่มี น.ส.สุรางค์ เปรมปรีดิ์ เป็นเจ้าของ ที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตกันในกรณีที่มีผู้ถือหุ้นร่วมกันของ น.ส.สุรางค์ แต่กลับซื้อซองเอกสารในช่อง HD เหมือนกัน

ทาง กสท.จะยังไม่ตรวจสอบจนกว่าจะมีการยื่นซองเอกสารให้แก่ กสทช. อย่างเป็นทางการเสียก่อน รวมไปถึงผู้ประกอบการบางรายที่ยังคงมีการบริหารควบทั้ง 2 บริษัท มีผู้ถือหุ้นหรือเครือญาติผู้ถือหุ้นยังถือหุ้นไขว้กันระหว่าง 2 บริษัท ที่ผิดข้อกำหนด กสทช. จะยังมีเวลาแก้ไขให้ถูกต้องจนกว่าถึงเวลายื่นซองเอกสารให้แก่ กสทช. ซึ่ง กสทช.จะไม่มีการตรวจสอบย้อนหลังแต่อย่างใด

พ.อ.นทียังกล่าวภายหลังเข้าชี้แจงต่อศาลปกครองว่า การมาชี้แจงต่อศาลปกครองครั้งนี้ เนื่องมาจากกรณี บริษัท อาร์ เอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในเครือบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ขอให้ศาลมีการคุ้มครองชั่วคราว และยกเลิกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์ที่สำคัญที่ให้เผยแพร่ ได้เฉพาะบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป (มัสต์แฮฟ)

เนื่องจากประกาศดังกล่าวของ กสทช.ได้กำหนดให้การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี 2557 ต้องถ่ายทอดสดผ่านช่องฟรีทีวีครบทั้ง 64 คู่ โดย กสทช.ได้นำข้อมูลมาชี้แจงประกอบด้วย สาเหตุในการออกประกาศดังกล่าว เหตุผลอ้างอิงจากคำตัดสินของศาลยุติธรรมสูงสุดของสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ได้คัดค้านคำร้องของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ที่ได้ร้องเรียนข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศอังกฤษ และเบลเยียม ที่กำหนดให้ฟุตบอลโลกต้องถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวีเท่านั้น โดยศาลตัดสินให้การถ่ายทอดฟุตบอลโลก และฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ในพื้นที่ยุโรปต้องฉายผ่ายฟรีทีวีเท่านั้น เนื่องจากเป็นกีฬาของมวลมนุษยชาติ

“กสทช.มองว่าที่ผ่านมาคนไทยก็ได้ดูถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกมาตลอด เนื่องจากถือเป็นรายการกีฬาที่สำคัญ และมีประโยชน์ต่อสังคม ดังนั้นการออกประกาศดังกล่าวจึงเป็นการสมควรแล้ว แต่หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือเห็นพ้องกับทางอาร์เอส ปี 2557 ก็จะเป็นครั้งแรกที่คนไทยไม่ได้ดูบอลโลกผ่านฟรีทีวี แต่ก็เชื่อว่าผลจะออกมาชนะเพราะผู้ฟ้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับ กสทช.แต่อย่างใด เนื่องจากไม่เคยได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการใดเลยจาก กสทช.”

อย่างไรก็ดี กรณีที่บริษัทอาร์เอสได้ยื่นฟ้อง กสทช.ต่อศาลปกครอง ในประเด็นการออกประกาศมัสต์แฮฟ เนื่องจากอาร์เอส ในฐานะผู้ถือครองลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 มีความต้องการจัดให้มีการถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวีเพียง 22 คู่ จากที่มีทั้งหมด 64 เท่านั้น และหากต้องการรับชมครบทั้ง 64 คู่ จะต้องมาจากการรับชมผ่านกล่องทีวีดาวเทียม “ซันบอกซ์” ของอาร์เอส หรือกล่องทีวีดาวเทียมของพันธมิตรทางธุรกิจของอาร์เอสเท่านั้น อีกทั้งอาร์เอสเห็นว่าประกาศดังกล่าวของ กสทช.เกิดขึ้นภายหลังอาร์เอสชนะประมูลและเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Company Relate Link :
กสทช.
กำลังโหลดความคิดเห็น