โลกของสมาร์ทโฟนนั้นแบ่งออกเป็น 3 ก๊ก 3 ค่ายมานาน ทั้งแอนดรอยด์ ไอโอเอส และวินโดวส์โฟน แต่ดีลบรรลือโลกที่ไมโครซอฟท์ประกาศเทกระเป๋า 7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 2 แสนล้านบาทซื้อหน่วยธุรกิจของโนเกียเมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมานั้นทำให้การแข่งขันของระบบปฏิบัติการบนอุปกรณ์พกพาทั้ง 3 ก๊กทวีความดุเดือดขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะในแง่ของความพยายามในการ "หนี" จากตำแหน่งเบอร์ 3 ของไมโครซอฟท์ เพื่อให้สามารถขึ้นมาแข่งกับแอปเปิลและกูเกิลซึ่งเป็น 2 ก๊กใหญ่ที่สุดในตลาดสมาร์ทโฟนนาทีนี้ได้ดีขึ้น
แต่ปัญหาคือ ความพยายามหนีด้วยการซื้อกิจการมือถือของโนเกียจะได้ผลจริงหรือ เพราะนักสังเกตการณ์เชื่อว่าสิ่งที่ทำให้วินโดวส์โฟนยังวนย่ำอยู่ที่ตำแหน่งอันดับ 3 ของตลาดโมบายโอเอส คือการขาดคุณสมบัติและความสามารถในตัวระบบปฏิบัติการเอง ที่สำคัญ ไมโครซอฟท์อาจต้องเผชิญกับความท้าทายเรื่องผลประกอบการ ซึ่งยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิลพบเจอมาแล้ว และยัง"เจ็บตัว"ถึงวันนี้หลังจากทุ่มเงินซื้อกิจการโทรศัพท์มือถือของโมโตโรลา
อย่างไรก็ตาม ผลจากการซื้อโนเกียของไมโครซอฟท์นั้นถือเป็นการตอกย้ำเทรนด์อุตสาหกรรมไอซีทีทั่วโลก (อุตสาหกรรมสารสนเทศและการสื่อสาร) ว่ายุคทองของบริษัทยุโรปที่ดำเนินธุรกิจควบคู่ระบบเครือข่ายและโทรศัพท์มือถือนั้นได้ปิดฉากลงแล้ว เช่น อิริกสันที่เคยโลดแล่นในวงการโทรศัพท์มือถือด้วยชื่อโซนี่อิริกสัน ก็ปิดฉากเพราะโซนี่ซื้อคืนหุ้นกิจการโทรศัพท์มือถือกลับคืนไปทั้งหมด หรือซีเมนส์ที่หยุดทำตลาดโทรศัพท์มือถือไปก่อนใคร และล่าสุดคือโนเกีย ที่กำลังโอนย้ายหน่วยธุรกิจโทรศัพท์มือถือไปซบอกบริษัทสัญชาติอเมริกัน
***วินโดวส์โฟนยังเหมือนเดิม
สตีฟ บอลเมอร์ (Steve Ballmer) ซีอีโอไมโครซอฟท์ที่ประกาศกำหนดการเกษียณจากตำแหน่งซีอีโอในเดือนสิงหาคม ยืนยันว่าการซื้อขายกิจการครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งพนักงาน ผู้ถือหุ้น และลูกค้าของทั้ง 2 บริษัท โดยภายใต้ดีลนี้โนเกียตกลงยกสิทธิในเทคโนโลยีของผู้ผลิตชิปอย่างควอลคอมม์ที่โนเกียทำไว้ในระยะยาวให้ไมโครซอฟท์ด้วย
ในเชิงปฏิบัติ การที่โนเกียเป็นหนึ่งในหน่วยธุรกิจของไมโครซอฟท์นั้นสะท้อนว่าไมโครซอฟท์จะสามารถติดตั้งระบบปฏิบัติการใหม่หรือคุณสมบัติใหม่ในโทรศัพท์มือถือแบรนด์โนเกียได้เร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้การเปิดตัวผลิตภัณธ์ใหม่ทำได้เร็วกว่าเดิม ขณะเดียวกันไมโครซอฟท์ก็จะสามารถเป็นนายทุนกระเป๋าหนักเพื่อให้โนเกียสามารถทำตลาดได้แรงยิ่งขึ้น
แต่ในสายตานักวิเคราะห์ ปัญหาที่ทำให้อุปกรณ์ระบบปฏิบัติการวินโดวส์โฟนไม่ได้รับความนิยมนั้นอาจไม่ได้อยู่ที่ฮาร์ดแวร์อย่างนโยบายที่ไมโครซอฟท์กำลังเดินอยู่ในขณะนี้ ทำให้สินทรัพย์ที่เป็นซอฟต์แวร์หรือความเชี่ยวชาญด้านฮาร์ดแวร์ของโนเกียอาจไม่ได้ช่วยให้ไมโครซอฟท์พัฒนาระบบปฏิบัติการที่ดีขึ้น
วันนี้ วินโดวส์โฟนยกตัวเองว่าเป็นระบบปฏิบัติการที่ออกแบบสะอาดตา สดใส และใช้งานง่าย แต่ช่องว่างที่วินโดวส์โฟนยังไม่สามารถเติมเต็มได้สำเร็จยังมีหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือจำนวนแอปพลิเคชันที่ยังทิ้งห่าง 2 ก๊กใหญ่ในตลาดอย่างแอนดรอยด์และไอโอเอส แม้ว่าไมโครซอฟท์จะสามารถเพิ่มจำนวนแอปพลิเคชันที่รองรับวินโดวส์โฟนได้เป็น 1.7 แสนแอปพลิเคชันได้ และมีแอปพลิเคชันยอดนิยมอย่าง Pandora, Facebook, Twitter, Netflix และ YouTube แล้ว แต่ก็ยังขาดแอปพลิเคชันสีสันอย่าง Candy Crush, Instagram และ Dropbox ฯลฯ
ที่สำคัญ การซื้อโนเกียอาจไม่ช่วยให้ไมโครซอฟท์แก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนบริการและแอปพลิเคชันที่สอดประสานกันเป็นระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจหรืออีโคซิสเต็มตามแบบที่กูเกิลมี ซึ่งปัจจุบัน ชาวไอทีจำนวนไม่น้อยต้องการเปิดอ่านอีเมลจากบริการจีเมล (Gmail) ผ่านแอปพลิเคชันอีเมลในสมาร์ทโฟน และใช้บริการค้นหาข้อมูลจากกูเกิล ไม่ใช่ระบบบิง (Bing) ของไมโครซอฟท์ ยังมีบริการเสริมอย่างบริการพื้นที่ฝากไฟล์กูเกิลไดร์ฟ (Google Drive) และกูเกิลพลัส (Google+) ทั้งหมดนี้พบว่าวินโดวส์โฟนยังมีช่องว่างที่ขาดหายไป
จริงอยู่ที่การซื้อโนเกียจะทำให้ไมโครซอฟท์สามารถดำเนินยุทธศาสตร์แบบเดียวกับแอปเปิล ซึ่งรวมศูนย์ทั้งฝ่ายพัฒนาซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ไว้ในบริษัทแห่งเดียว แต่สิ่งที่แอปเปิลเป็นอยู่นั้นเกิดขึ้นมานานเกิน 20 ปีแล้ว และแอปเปิลก็มีระบบอีโตซิสเต็มที่เหนียวแน่นไม่เป็นรองใคร ทำให้การควบรวมกิจการมือถือของโนเกียไม่สามารถเป็นเครื่องการันตีได้เลยว่า การมุ่งมั่นเป็นบริษัทที่ครบเครื่องทั้งฮาร์ดแวรืและซอฟต์แวร์จะช่วยให้ไมโครซอฟท์ไต่ระดับจากการเป็นเบอร์ 3 ในตลาดระบบปฏิบัติการสำหรับอุปกรณ์พกพาได้อย่างที่หวัง
***ตามรอยดีลกูเกิล-โมโตโรลา
นักวิเคราะห์เชื่อว่า ชะตากรรมที่ไมโครซอฟท์ต้องเผชิญนับจากนี้จะไม่แตกต่างจากเมื่อครั้งกูเกิลซื้อหน่วยธุรกิจโทรศัพท์มือถือของโมโตโรลา (Motorola) ซึ่งทำให้ตัวเลขผลกำไรหรือ profit margin ของกูเกิลลดลงต่อเนื่อง 7 จุด (percentage point) นับตั้งแต่กูเกิลซื้อธุรกิจมือถือโมโตโรลาเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2012 โดยตัวเลขขาดทุนของโมโตโรลานั้นคิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยเมื่อเทียบกับรายได้ที่กูเกิลทำได้
ในมุมของโนเกีย ช่วงไตรมาส 1 ของปี 2013 โนเกียมีรายได้รวม 7.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 20% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อน กำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 179 ล้านยูโร หักลบแล้วเท่ากับโนเกียขาดทุนสุทธิ 114 ล้านยูโร ขณะที่ไตรมาส 2 ปี 2013 โนเกียทำรายได้ลดลงอีก 24% คิดเป็นมูลค่า 5.69 พันล้านยูโร บนกำไรจากการดำเนินงาน 303 ล้านยูโร และยังคงขาดทุนสุทธิ 115 ล้านยูโร
ไมโครซอฟท์จะต้องอุ้มโนเกียพร้อมกับรับมือกับค่าใช้จ่ายจากการซื้อหน่วยธุรกิจโนเกียซึ่งมีมูลค่ารวมมากกว่า 7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแม้จะน้อยกว่าที่กูเกิลทุ่มเงิน 1.24 หมื่นล้านเหรียญซื้อธุรกิจมือถือของโมโตโรลา แต่ก็ถือว่าโอกาสที่ผลประกอบการไมโครซอฟท์ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2014 จะได้รับผลกระทบนั้นมีแน่นอน โดยไตรมาสดังกล่าวเป็นช่วงที่คาดว่าการซื้อขายกิจการจะแล้วเสร็จ
เหตุที่ทำให้มูลค่าการซื้อโมโตโรลาของกูเกิล มีจำนวนสูงกว่าการซื้อโนเกียของไมโครซอฟท์ คือจำนวนสิทธิบัตรที่กูเกิลจะได้รับจากโมโตโรลานั้นมีมากกว่า 17,000 รายการ แต่กรณีของไมโครซอฟท์และโนเกียนั้นไม่มีการเปิดเผย
ในส่วนของกูเกิล ยักษ์ใหญ่เสิร์ชเอนจิ้นไม่เสียเวลารอโดยลงมือปลดพนักงานทันทีมากกว่า 4,000 ตำแหน่งหรือ 20% ในปี 2012 และวางแผนปลดต่อเนื่องอีก 1,200 ตำแหน่ง รวมถึงมาตรการลดค่าใช้จ่ายมากมาย จุดนี้ยังต้องติดตามรอดูในกรณีของไมโครซอฟท์ เนื่องจากไมโครซอฟท์ยืนยันว่าจะโอนพนักงานทั้ง 32,000 คนของโนเกียไปเป็นพนักงานในเครือไมโครซอฟท์ ซึ่งประกอบด้วยพนักงาน 4,700 คนในประเทศฟินแลนด์ และ 18,300 คนที่อยู่ในฝ่ายการผลิต ประกอบ และพัฒนาอุปกรณ์ทั่วโลก เบ็ดเสร็จแล้วจะทำให้ไมโครซอฟท์มีพนักงานมากกว่า 1 แสนคน
เบื้องต้น นักวิเคราะห์เชื่อว่ามาร์จิ้นของไมโครซอฟท์จะลดลงเหลือ 35% ในไตรมาส 4 ปีนี้ ลดลงจาก 40% ในปีที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่มีการให้ความเห็นใดๆจากไมโครซอฟท์.
***รู้หรือไม่
- โนเกียเคยปลดพนักงานรอบใหญ่ 20,000 คนเมื่อเดือนมกราคม 2556
- ขณะนี้ ริสโต ซิลาสมา (Risto Siilasmaa) ประธานบอร์ดบริหารของโนเกียขึ้นรักษาการณ์ซีอีโอโนเกีย
- ก่อนหน้านี้ โนเกียเคยตกเป็นข่าวว่ายักษ์ใหญ่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนสัญชาติจีนอย่าง “หัวเหว่ย (Huawei)” สนใจซื้อกิจการโนเกียเช่นกัน
- ส่วนแบ่งตลาดวินโดวส์โฟนไตรมาส 2 ปี 2013 คือ 3.7% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาร์ทโฟนที่ผลิตโดยโนเกีย (ข้อมูลจากบริษัทวิจัยไอดีซี)