xs
xsm
sm
md
lg

Updated - ไมโครซอฟท์ทุ่ม 5.44 พันล้านยูโรฮุบธุรกิจมือถือโนเกีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Steve Ballmer ซีอีโอไมโครซอฟท์และ Stephen Elop ซีอีโอโนเกีย
สื่อต่างประเทศรายงาน ยักษ์ใหญ่ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ยืนยันพร้อมซื้อกิจการโทรศัพท์มือถือของโนเกีย (Nokia) อย่างเป็นทางการด้วยมูลค่า 5.44 พันล้านยูโร (ราว 2.33 แสนล้านบาท) คาดดีลนี้จะแล้วเสร็จช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า (2014) ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการขออนุมัติจากผู้ถือหุ้น และการตรวจสอบจากหน่วยงานกำกับดูแลระดับประเทศ

การที่ไมโครซอฟท์เปิดเผยแผนซื้อกิจการของโนเกียนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เหนือความคาดหมาย เนื่องจากโนเกียเป็นพันธมิตรอันดับ 1 ซึ่งทำสัญญากับไมโครซอฟท์ว่าจะผลิตสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการวินโดวส์โฟนเป็นหลักตั้งแต่ปี 2011 ที่ผ่านมา โดยล่าสุด โนเกียออกแถลงการณ์ยืนยันว่าจะยังเน้นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายใต้แบรนด์โนเกียเช่นเดิม

ดีลไมโครซอฟท์ซื้อโนเกียจะครอบคลุมเฉพาะแผนกให้บริการและอุปกรณ์ของโนเกีย (devices and services division) ซึ่งเป็นแผนกที่ดูแลการทำธุรกิจสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต (ในอนาคต) ทั้งหมด จุดนี้ข้อมูลระบุว่า ไมโครซอฟท์จะจ่ายเงินมูลค่า 3.7 พันล้านยูโรเพื่อธุรกิจจัดจำหน่ายและผลิตอุปกรณ์ของโนเกีย (ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท) ขณะที่อีก 1.65 พันล้านยูโรจะเป็นค่าสิทธิบัตรที่โนเกียถืออยู่ (ราว 7 หมื่นล้านบาท)

หากคำนวณรวมทั้งหมด ถือว่าไมโครซอฟท์สามารถควบรวมธุรกิจโทรศัพท์มือถือของโนเกียในมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านบาท โดยไมโครซอฟท์จะโอนพนักงานทั้ง 32,000 คนของโนเกียไปเป็นพนักงานในเครือไมโครซอฟท์ ซึ่งประกอบด้วยพนักงาน 4,700 คนในประเทศฟินแลนด์ และ 18,300 คนที่อยู่ในฝ่ายการผลิต ประกอบ และพัฒนาอุปกรณ์ทั่วโลก ขณะที่ซีอีโอโนเกีย “สตีเฟน อีลอป (Stephen Elop)” ก็จะถูกถ่ายโอนไปอยู่สังกัดไมโครซอฟท์เช่นกัน ถือเป็นการคืนรังกลับถิ่นเก่าเนื่องจากอีลอปเคยทำงานที่ไมโครซอฟท์มาก่อนจะมารับตำแหน่งซีอีโอโนเกีย

ล่าสุดไมโครซอฟท์ออกแถลงการณ์ว่า ซีอีโออีลอปจะยุติบทบาทซีอีโอโนเกียเพื่อรับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมพัฒนาอุปกรณ์พกพาของไมโครซอฟท์อย่างเป็นทางการ และจะมีริสโต ซิลาสมา (Risto Siilasmaa) ประธานบอร์ดบริหารของโนเกียขึ้นรักษาการแทน ขณะที่ประธานฝ่ายสมาร์ทดีไวซ์อย่างโจ ฮาร์โลว์ (Jo Harlow) และประธานฝ่ายปฏิบัติการ โจชัว พัตกิรันตา (Juha Putkiranta) รวมถึงผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาฟีเจอร์โฟน ทิโม ทอยกาเนน (Timo Toikkanen) และรองประธานฝ่ายการตลาด คริส วีเบอร์ (Chris Weber) จะเข้าร่วมทีมของอีลอปที่จะทำงานขึ้นตรงต่อไมโครซอฟท์

สำหรับโนเกีย ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือสัญชาติฟินแลนด์จะยังมีธุรกิจเครือข่ายหรือเน็ตเวิร์กกิ้งอยู่ในมือ พร้อมกับเทคโนโลยีด้านแผนที่และด้านโลเกชันต่อไป จุดนี้ทำให้ไมโครซอฟท์ต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรบริการแผนที่ “เฮียร์ (HERE)” ให้แก่ไมโครซอฟท์เป็นราย 4 ปี เพื่อนำระบบ HERE ไปติดตั้งในสมาร์ทโฟนที่ผลิตใต้ชายคาไมโครซอฟท์ ซึ่งเป็นเครื่องการันตีได้ระดับหนึ่งว่าระบบแผนที่ของโนเกียจะยังถูกใช้ในสมาร์ทโฟนแบรนด์โนเกียเช่นเดิมอย่างน้อยก็ในช่วงแรก และเราจะได้เห็นการบุกตลาดระบบนำทางในรถยนต์และอุปกรณ์อื่นภายใต้ชื่อ HERE ในอนาคต

การตกลงซื้อขายกิจการครั้งนี้เกิดขึ้น 2-3 สัปดาห์หลังจากที่สำนักข่าววอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานว่าไมโครซอฟท์ล้มเหลวในการเจรจาเพื่อซื้อกิจการโนเกีย อย่างไรก็ตาม สตีฟ บอลเมอร์ (Steve Ballmer) ซีอีโอไมโครซอฟท์ที่ประกาศกำหนดการเกษียณจากตำแหน่งซีอีโอในเดือนสิงหาคม ยืนยันว่าการซื้อขายกิจการครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งพนักงาน ผู้ถือหุ้น และลูกค้าของทั้ง 2 บริษัท โดยภายใต้ดีลนี้โนเกียตกลงยกสิทธิในเทคโนโลยีของผู้ผลิตชิปอย่างควอลคอมม์ที่โนเกียทำไว้ในระยะยาวให้ไมโครซอฟท์ด้วย

ก่อนหน้านี้ โนเกียเคยตกเป็นข่าวว่ายักษ์ใหญ่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนสัญชาติจีนอย่าง “หัวเว่ย (Huawei)” สนใจซื้อกิจการโนเกียเช่นกัน ข่าวลือครั้งนั้นทำให้หุ้นโนเกียเพิ่มขึ้น 11% แตะระดับสูงสุดที่ 4.12 เหรียญสหรัฐเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าการซื้อขายครั้งนี้จะส่งผลถึงมูลค่าหุ้นของโนเกียเช่นกัน

ที่ผ่านมาหุ้นโนเกียไม่คึกคักเท่าใดนักเนื่องจากรายได้ของบริษัทที่ไม่เติบโตเท่าที่ควร โดยช่วงไตรมาส 1 ของปีนี้โนเกียมีรายได้รวม 7.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 20% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อน กำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 236 ล้านเหรียญสหรัฐ หักลบแล้วเท่ากับโนเกียขาดทุนสุทธิ 150 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ไตรมาส 2 ปี 2013 โนเกียทำรายได้ลดลงอีก 24% คิดเป็นมูลค่า 5.69 พันล้านยูโร บนกำไรจากการดำเนินงาน 303 ล้านยูโร และยังคงขาดทุนสุทธิ 115 ล้านยูโร

แต่สิ่งที่โนเกียประกาศนั้นมีข่าวดีอยู่บ้าง นั่นคือยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟน “ลูเมีย (Lumia)” สูงเป็นประวัติการณ์ 7.4 ล้านเครื่องในไตรมาส 2 ปี 2013 ที่ผ่านมา ทำให้มีการสรุปว่าปัจจุบันสมาร์ทโฟนวินโดวส์โฟน (Windows Phone) นั้นสามารถจำหน่ายได้มากกว่าสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการแบล็กเบอร์รี (BlackBerry) หรือบีบีแล้ว โดยสำนักวิจัยไอดีซีระบุว่าส่วนแบ่งตลาดวินโดวส์โฟนนั้นมีมากกว่า 3.7% ของยอดจัดส่งสมาร์ทโฟนในไตรมาส 2 ของปี 2013
กำลังโหลดความคิดเห็น