ดีแทคต่อยอด dtac Accelerate ดึงผู้เชี่ยวชาญในด้านการก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีประเภทบริษัทเกิดใหม่ หรือ Startups แห่งซิลิคอน วัลเลย์ มาให้ความรู้ แนะนำ และสร้างไอเดีย รวมถึงโอกาสให้แก่นักลงทุนมือใหม่ เผยเมืองไทยมีนักลงทุนพร้อมร่วมทุนกับธุรกิจใหม่กว่า 1,000 ล้านบาท ด้านผู้ก่อตั้ง Blackbox ชี้ Startups ของไทยมีคุณภาพมีคุณสมบัติเด่นเรื่องถ่อมตน รับฟัง และปรับใช้ได้ดี แนะความสำเร็จสำหรับมือใหม่ต้องมี 5 สิ่งสำคัญ คือ ทีม ผลิตภัณฑ์ บิสิเนสโมเดล เงินทุน และลูกค้า ที่ต้องสอดคล้องกัน ที่สำคัญธุรกิจต้องพร้อมก่อนตามหานักลงทุน
เรืองโรจน์ พูนผล (กระทิง) ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายผลิตภัณฑ์ ดีแทค กล่าวว่า หลังจากที่ดีแทคได้จัดโครงการ dtac Accelerate เพื่อประกวดผลงานโมบายล์แอปพลิเคชัน ในธีม Wizard of App เฟ้นหาสุดยอดนักพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นและคัดเลือกให้เหลือ 20 ทีมที่เข้ารอบไปแล้วนั้น ล่าสุดดีแทคจึงได้นำ ฟาดิ บิชารา ผู้ก่อตั้งบริษัท Blackbox ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านการก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีประเภทบริษัทเกิดใหม่ หรือ Startups ให้เป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จ มาให้ความรู้และแนะนำช่วยเหลือผู้ลงทุนมือใหม่เหล่านี้ให้สามารถมีไอเดียเพื่อนำไปต่อยอดเป็นธุรกิจที่เกิดและมีโอกาสเติบโตได้จริงในอนาคต
ฟาดิ บิชารา มีผลงานมากมายในซิลิคอน วัลเลย์ สหรัฐอเมริกา และในอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Blackbox ซึ่งเน้นให้คำปรึกษาและข้อแนะนำช่วยเหลือนักธุรกิจ-ผู้ลงทุนมือใหม่ไม่ว่าจะมีกิจการตั้งอยู่ที่ใดในโลก นอกจากนี้ ฟาดิยังดำรงตำแหน่ง Venture Partner ของบริษัท Sinbad Ventures ซึ่งเน้นการลงทุนในเฟสแรกของบริษัทเทคโนโลยีที่จัดตั้งใหม่ในอาระเบีย และที่สำคัญคือยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้อีกหลายองค์กรที่ให้บริการแก่บริษัท startups อีกหลายแห่งทั่วโลก
“หลังจากที่ดำเนินโครงการมาได้ระยะหนึ่ง ดีแทคพบว่ามีหลายบริษัทที่รู้สึกว่า Startups ไทยมีคุณภาพ และมีโอกาสทางธุรกิจจึงได้จัดให้มีอีเวนต์ให้ผู้เชี่ยวชาญได้เจอกับ Startups เพื่อต่อยอดพวกเขาเหล่านี้ให้เชี่ยวชาญมากขึ้น รวมไปถึงหลักๆ ของโครงการ dtac Accelerate ต้องการช่วยให้เมืองไทยเป็นฮับของ Startups ในเซาท์อีสต์เอเซีย จึงได้นำผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ มีนักลงทุนมาฟังโครงการต่างๆ ที่ส่งเข้าประกวดเพื่อให้ฟีดแบ็กโดยตรงให้ Startups นำไปใช้ประโยชน์ รวมไปถึงการมาแนะนำในเรื่องต่างๆ ที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งขณะนี้พบว่ามีเงินลงทุนจากนักลงทุนที่พร้อมจะเป็นเวนเจอร์แคปปิตอลกับบริษัทเกิดใหม่กว่า 1,000 ล้านบาท”
ด้าน ฟาดิ บิชารา ผู้ก่อตั้งบริษัท Blackbox กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีโอกาสในการช่วยสร้างโอกาสทางการขายให้แก่บริษัทต่างๆ มาแล้วทั่วโลก และการมาเมืองไทยในครั้งนี้ต้องการที่จะสร้างสะพานเชื่อมต่อจากกรุงเทพฯ ไปซิลิคอน วัลเลย์ เพื่อช่วยผู้ประกอบการในเมืองไทยสามารถประสบความสำเร็จที่ซิลิคอน วัลเลย์ โดยหลังจากที่ได้พบปะกับผู้ประกอบการไทยแล้วพบว่า Startups ของไทยมีคุณภาพ มีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก และมีคุณสมบัติเด่นหลายอย่างที่ประเทศอื่นๆ ไม่มี
“Startups เมืองไทยมีความถ่อมตัว และพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นจากหลายๆ ด้านเพื่อจะมาปรับปรุงธุรกิจของตน ต่างจาก Startups ในฝั่งยุโรปที่คนจะไม่ยอมแชร์ไอเดียกัน แต่ของไทยยอมแชร์ไอเดียกันโดยที่ไม่กลัวว่าจะทำให้ตัวเองเสียเปรียบ โดยจากการรับฟังข้อมูลในเบื้องต้นจาก 20 ทีมที่เข้ารอบ พบว่ามีจำนวน 3-5 บริษัทที่คาดว่าน่าจะเข้ามาลงทุนได้”
ฟาดิกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ Startups จะประสบความสำเร็จประกอบด้วย 5 สิ่ง คือ ทีม ผลิตภัณฑ์ บิสิเนสโมเดล เงินทุน และลูกค้า ซึ่งทั้งหมดต้องสอดคล้องกัน และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทีม ที่จะต้องมีความกระตือรือร้นที่จะทำธุรกิจ สามารถสร้างผลงานคุณภาพที่เหมาะสมกับตลาด มีความเข้าใจตลาด เห็นอกเห็นใจลูกค้า และที่ขาดไม่ได้คือการระดมเพื่อนระดมมิตรเพื่อใช้เป็นตัวช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ มีผลิตภัณฑ์ที่ดีและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้ชัดเจนก่อนที่จะตามหานักลงทุน
ทั้งนี้ Startups ต้องทำบริษัทให้พร้อมในทุกด้านก่อนที่จะเข้าหานักลงทุน เพราะเงินหาไม่ยาก ข้อดีของ Startups ไทยคือแม้จะมีประสบการณ์น้อยแต่ก็เรียนรู้อย่างรวดเร็ว สามารถนำฟีดแบ็กที่ได้รับมาปรับใช้กับธุรกิจที่กำลังทำได้เป็นอย่างดี จึงได้เปรียบกว่ายุโรปจะหานักลงทุนก่อนที่จะหาตลาดและลูกค้า ซึ่งนักลงทุนที่เข้ามาเร็วเกินไปก็จะผลักดันให้เราต้องเร่งสร้างรายได้ทั้งที่ตัวธุรกิจเองอาจจะยังไม่มีความพร้อม
ฟาดิกล่าวว่า การเลือกที่จะเข้าไปลงทุนในบริษัทใดๆ ก็ตาม นักลงทุนจะมองว่าบริษัทเหล่านั้นขนาดของตลาดต้องใหญ่เพียงพอ มีทีมที่มีความเข้มแข็ง และมีปัจจัยทางการแข่งขันที่เหนือคู่แข่ง ส่วนสิ่งที่ทำให้นักลงทุนไม่สนใจที่จะเข้าไปร่วมในบริษัทเหล่านั้นคือ ไม่มีวิชันที่ใหญ่พอ และที่สำคัญคือ นักลงทุนจะไม่ลงทุนทันทีแต่จะรอดูว่าบริษัท Startups ทำได้จริงหรือเปล่า ซึ่งขณะนี้ประเทศที่กำลังมี Startups ที่มาแรงคือ สิงคโปร์ อิสราเอล และเบอร์ลิน
“เมืองไทยมีโซเซียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการแชร์บนอินสตาแกรมในปริมาณที่สูงมาก และคนไทยสามารถขายของได้บนเฟซบุ๊ก อินสตาแกรมได้ ซึ่งต่อไปเมื่อมี 3 จีเต็มรูปแบบจะยิ่งสร้างโอกาสให้แก่ธุรกิจไทยมากขึ้น สำหรับเทรนด์การพัฒนาแอปพลิเคชันจะมุ่งไปทางโซเซียลเน็ตเวิร์ก การเชื่อมต่อระหว่างดีไวซ์กับดีไวซ์ เชื่อมต่อระหว่างดีไวซ์กับแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต และการมีเซ็นเซอร์เป็นตัวสำคัญในการเชื่อมต่อต่างๆ ระหว่างอุปกรณ์กับทุกๆ สิ่ง แม้กระทั่งร่างกายมนุษย์ ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิต โดยจะมีการพัฒนาบนแอปพลิชันขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์มเหล่านั้น และอนาคตเทเลคอมจะเป็นเสมือนกระดูกสันหลังที่จะมีทุกสิ่งมาร่วม”
Company Related Link :
DTAC