Edited - กูเกิล (Google) และไมโครซอฟท์ (Microsoft) กลายเป็น 2 บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ที่ประกาศผลประกอบการช่วงสัปดาห์หลังสงกรานต์แล้วได้กำไรเพิ่มขึ้น โดยเบอร์ 1 ผู้ผลิตชิปพีซีอย่างอินเทล (Intel) ประกาศผลกำไรและรายได้ลดลงตามตลาดคอมพิวเตอร์พีซีที่ชะลอตัว เช่นเดียวกับบริการงานไอทีอย่างไอบีเอ็ม (IBM) ซึ่งทำยอดขายได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ พร้อมกับโนเกีย (Nokia) ที่ขาดทุนอีกครั้ง
แม้จะได้รับผลจากตลาดพีซีชะลอตัว คู่แข่งของอินเทลอย่างเอเอ็มดี (AMD) กลับสามารถทำรายได้มากขึ้นในช่วงต้นปี 2013 ที่ผ่านมา แต่บัญชีก็ยังติดตัวแดงเช่นเดิม ขณะที่ไมโครซอฟท์ (Microsoft) สามารถทำรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น ทั้งที่ยังทรงตัวในธุรกิจ Windows
ด้านบริษัทออนไลน์อย่างยาฮู (Yahoo) สถานการณ์รายได้ของยาฮูในช่วงต้นปีนั้นลดลงก็จริง แต่ยังสามารถควบคุมต้นทุนจนทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้น เรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนได้ระดับหนึ่ง
***อินเทล-เอเอ็มดีดิ้นหนีพีซีขาลง
อินเทล ผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์พีซีอันดับ 1 ของโลกรายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2013 ว่ามีรายได้รวม 1.26 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีกำไรสุทธิ 2 พันล้านเหรียญ คิดเป็น 40 เซนต์ต่อหุ้น
เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2012 กำไรของอินเทลถือว่าลดลงถึง 17% ครั้งนั้นอินเทลระบุว่ามีกำไร 2.5 พันล้านเหรียญ ขณะที่รายได้รวมลดลง 7% จาก 1.35 หมื่นล้านเหรียญ
พอล โอเทลินิ (Paul Otellini) ประธานและซีอีโอของอินเทลที่กำลังจะลงจากตำแหน่งในเดือนพฤษภาคมนี้เชื่อมั่นว่าสถาปัตยกรรมในอนาคตของอินเทลจะสามารถช่วยกู้สถานการณ์ของบริษัทได้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่สายการผลิตชิปเทคโนโลยี 14 นาโนเมตร ซึ่งจะนำไปสู่การเปิดตัวโปรเซสเซอร์รุ่นใหม่ต่อไป
เพียง 2 วันหลังจากอินเทลประกาศผลประกอบการ เอเอ็มดีรายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2013 ว่าขาดทุนราว 146 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ถือว่าดีกว่า 473 ล้านเหรียญที่เอเอ็มดีประกาศขาดทุนไว้ในไตรมาสก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม รายได้รวมของเอเอ็มดีนั้นอยู่ที่ 1.09 พันล้านเหรียญเท่านั้น ลดลงราว 500 เหรียญเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2012 ส่งให้นักลงทุนไม่มั่นใจจนทำให้มูลค่าหุ้นของเอเอ็มดีตกต่ำลงระยะหนึ่ง
จุดนี้ ผู้บริหารเอเอ็มดีเชื่อว่าบริษัทจะสามารถกลับมาทำกำไรได้ในอีกไม่กี่ไตรมาสนับจากนี้ โดยเฉพาะเมื่อเอเอ็มดีสามารถบุกตลาดใหม่อย่างเครื่องเล่นเกม PS4 และสินค้าอื่นนอกเหนือจากพีซีที่จะใช้ชิปของเอเอ็มดีในอนาคต
***กูเกิล-ไมโครซอฟท์ รายได้รวมยังโต
ยักษ์ใหญ่ไอทีทั้งไมโครซอฟท์และกูเกิลต่างประกาศรายรับรวมของบริษัทที่เติบโต ผลจากการเปลี่ยนนโยบายบริษัทไปให้ความสำคัญกับอุปกรณ์พกพาและแท็บเล็ตมากขึ้น เฉพาะธุรกิจออนไลน์ของกูเกิลนั้นมีรายรับรวมเพิ่มขึ้น 23% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี ทำให้กูเกิลมีกำไรเบ็ดเสร็จ 3.35 พันล้านเหรียญสหรัฐฯทั้งที่แนวโน้มการโฆษณาบนอุปกรณ์พกพานั้นมีแต่จะราคาถูกลง
แลร์รี่ เพจ (Larry Page) ซีอีโอกูเกิลพอใจกับผลประกอบการไตรมาสนี้ โดยบอกว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่แข็งแกร่งของกูเกิลในปี 2013 บริษัทสามารถทำรายได้รวม 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 31% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อน
กูเกิลระบุว่ารายได้โฆษณาบนเว็บไซต์ google.com ยังคงเป็นรายได้หลักของบริษัท โดยคิดเป็น 67% ของรายได้รวม รองลงมาเป็นธุรกิจ Adsense ที่คิดเป็นสัดส่วน 25% ทั้งหมดนี้ส่งให้มูลค่าหุ้นกูเกิลที่เคยพุ่งสูงสุดที่ 844 เหรียญสหรัฐฯเมื่อเดือนมีนาคม กลับเพิ่มขึ้นอีก 1.5% ไปปิดที่ 777 เหรียญสหรัฐฯเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
ไมโครซอฟท์ก็ประกาศรายได้เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ผ่านมาเช่นกัน ระบุว่าสามารถทำกำไรสุทธิ 6.1 พันล้านเหรียญ คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับ 5.1 พันล้านเหรียญที่ทำได้ในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว โดยรายรับรวมตลอด 3 เดือนสามารถทำได้ 2.05 หมื่นล้านเหรียญ คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 18% เท่ากัน
ผลประกอบการนี้ถือว่าดีมากเมื่อเทียบกับยอดจำหน่ายพีซีที่ลดลง 14% ในช่วง 3 เดือนต้นปี 2013 จุดนี้ไมโครซอฟท์ยกความดีให้กับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขายไลเซนส์ใช้งานซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ในรูปแบบใหม่ซึ่งสามารถเติบโตแซงหน้ารายได้จากตลาดคอมพิวเตอร์พีซีที่หายไป โดยไมโครซอฟท์ยอมรับว่ารายรับจากการจำหน่ายไลเซนส์ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (Windows) สำหรับติดตั้งในคอมพิวเตอร์นั้นคิดเป็น 20% ของรายได้รวมเท่านั้น
อีกจุดที่น่าสนใจคือ 45% ของรายรับรวมไมโครซอฟท์นั้นมาจากสัญญาไลเซนส์อายุหลายปีที่ไมโครซอฟท์ทำกับบริษัทใหญ่ทั่วโลก กลุ่มบริษัทเหล่านี้จะตกลงจ่ายเงินหลายล้านเหรียญแก่ไมโครซอฟท์เพื่อสิทธิในการใช้งานวินโดวส์ และซอฟต์แวร์สร้างงานเอกสารอย่างไมโครซอฟท์ออฟฟิศ (Office) นาน 3 ปี ซึ่งไมโครซอฟท์มีการปรับรูปแบบสัญญาให้องค์กรใหญ่ระดับโลกสามารถเลือกใช้บริการบนกลุ่มเมฆของไมโครซอฟท์ทั้ง Office 365, Windows Azure, Xbox LIVE และ Skype ได้เช่นกัน
***ไอบีเอ็ม-โนเกีย-ยาฮู รายรับหด
นักวิเคราะห์หลายคนกำลังลุ้นว่าไอบีเอ็มจะอ่วมพิษหุ้นตกหรือไม่ หลังจากประกาศผลประกอบการต่ำกว่าคาดการณ์ โดยไตรมาสแรกของปี 2013 ไอบีเอ็มมีรายได้ลดลง 5% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อน ผลจากค่าเงินเยนอ่อนตัวช่วงเดือนมกราคมที่ทำให้ไอบีเอ็มสูญเงินรายได้ไปมากกว่า 7 เซนต์ต่อหุ้น และการพลาดดีลในยุโรปรวมถึงสหรัฐอเมริกา
3 เดือนแรกของปี 2013 ไอบีเอ็มทำรายได้รวมเบ็ดเสร็จ 2.341 หมื่นล้านเหรียญ ส่งให้กำไรสุทธิมีมูลค่า 3 พันล้านเหรียญ (ลดลง 1%) นักวิเคราะห์คาดว่าทิศทางรายได้ที่ลดลงนี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่องอีกหลายไตรมาส เช่นเดียวกับสถานการณ์ของยักษ์ใหญ่ซอฟต์แวร์ฐานข้อมูลระดับโลกอย่างออราเคิล (Oracle) ที่เพิ่งประกาศผลประกอบการลดลงในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
โนเกียเป็นอีกบริษัทที่ทำรายได้ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2013 ได้ไม่ดีนัก โดยมีรายได้รวม 7.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 20% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อน กำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 236 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หักลบแล้วเท่ากับโนเกียขาดทุนสุทธิ 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
แต่สิ่งที่โนเกียประกาศนั้นมีข่าวดีอยู่บ้าง นั่นคือยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนตระกูล Lumia ตลอดไตรมาสนั้นอยู่ที่ 5.6 ล้านเครื่อง คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับไตรมาสปลายปี 2012 ที่ Lumia สามารถจำหน่ายไป 4.4 ล้านเครื่อง โดยยอดจำหน่ายมือถือรวมตลอด 3 เดือนคือ 61.9 ล้านเครื่อง
อย่างไรก็ตาม ตลาดที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโนเกียอย่างอเมริกาเหนือนั้นมียอดจำหน่ายโทรศัพท์ลดลงเหลือ 400,000 เครื่องจากที่เคยทำได้หลัก 700,000 เครื่องในไตรมาสก่อนหน้า แต่ในมุมมูลค่า สมาร์ทโฟนตระกูล Lumia ช่วยผลักดันให้ตลาดจีนเติบอย่างชัดเจน
สถานการณ์รายได้หดนั้นลามมาถึงยาฮูด้วย โดยยาฮูรายงานว่าไตรมาสแรกของปี 2013 สามารถทำรายได้รวม 1.14 พันล้านเหรียญ ลดลง 7% เพราะรายได้จากการขายโฆษณาแบนเนอร์ออนไลน์ที่ลดลง ทำให้มูลค่าหุ้นยาฮูลดลง 4% ทันทีที่ประกาศ
Marissa Mayer ซีอีโอยาฮูให้ความมั่นใจกับผู้ถือหุ้นด้วยการประกาศว่า ยาฮูมีผู้ใช้งานประจำบนอุปกรณ์พกพามากกว่า 300 ล้านคนต่อเดือน ถือว่ามากกว่าไตรมาส 4 ปี 2012 ที่มีเพียง 200 ล้านคน ตัวเลขนี้แสดงว่ายาฮูมีโอกาสเติบโตได้ดีขึ้นในสังเวียนอุปกรณ์พกพาระยะยาว
รายได้จากการขายโฆษณาแบนเนอร์ออนไลน์คิดเป็นรายได้หลักที่ทำเงินให้ยาฮูมากกว่า 40% ของรายได้รวม แม้รายได้ส่วนนี้จะลดลง 11% แต่ยาฮูยังมีรายได้จากธุรกิจส่วนอื่น รวมถึงสัญญาระหว่างไมโครซอฟท์ที่ยังดำเนินต่อเนื่อง บวกกับการควบคุมค่าใช้จ่ายทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิ 390 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 36% เมื่อเทียบกับ 286 ล้านเหรียญที่เคยทำได้ในไตรมาสแรกปี 2012