หลายคนบอกว่า Furby (เฟอร์บี้) โด่งดังจนสามารถโก่งราคาขายในไทยเพิ่มหลายเท่าตัวนั้นเป็นเพราะดารา-เซเลบ แต่รู้หรือไม่ว่าดาราไทยหลายคนชื่นชอบ Furby เพราะสัตว์เลี้ยงไฮเทคนี้เป็นกระแสแรงในต่างประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า แคมเปญการใช้โซเชียลมีเดียสร้างแบรนด์ Furby ที่ต่างประเทศโหมทำกันมามีส่วนช่วยมากในการทำให้ Furby ฟื้นจากความตายอีกครั้ง ไม่ใช่แรงส่งจากตัวผลิตภัณฑ์อย่างเดียว
เรื่องราวของ Furby Marketing จึงเป็นสิ่งที่นักธุรกิจทั่วโลกให้ความสนใจกันมาก โดยเฉพาะในฐานะกรณีศึกษาเรื่องการสร้างแบรนด์แบบหว่านเมล็ดข้ามแพลตฟอร์มทั้ง Furby.com, Facebook, Twitter, Pinterest, Tumblr, YouTube และ BuzzFeed รวมถึงการสร้างสรรค์เกมโชว์อินเทอร์แอคทีฟ ดังนั้นอย่ารอช้าที่จะทำความเข้าใจกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ของ Furby แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจคุณเอง
***เรียนรู้ "Furby Marketing" เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจออนไลน์
บทความโดย @jexep brandBaker
ทุกคนคงได้รู้จักกับ “Furby” ตุ๊กตาหุ่นนยนต์ขนปุยแสนน่ารักที่สามารถขยับตัว แสดงอาการ และเล่นกับเราได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงอารมณ์ ร้องเพลง หรือแม้กระทั่งการให้อาหารด้วย Smart Phone ที่ทำให้การเล่นกับเพื่อนตัวน้อยตัวนี้ มีความสนุกมากขึ้น
ถ้าย้อนกลับไปในอดีต Furby เคยเกิดมาก่อนตั้งแต่ปี 1998 ซึ่งในสมัยนั้นถือเป็น 1 ในของเล่นสุดฮิตของชาวอเมริกา ที่ถือเป็นไอเท็มที่ “ต้องมี” อยู่ในบ้านเลยทีเดียว ซึ่งสมัยนั้นขายได้มากกว่า 40 ล้านตัวใน 3 ปี แล้วกระแสก็ค่อยๆ หายไปจนกลับมาเปิดตัว Furby รุ่นใหม่ในช่วงกันยายน 2012
ในต่างประเทศ การสร้างกระแสการเปิดตัวของ Furby มีการใช้งาน Social Network พร้อมๆกันหลายที่ และทุกที่สามารถส่งผลสอดประสานกันได้อย่างมีพลัง โดยแต่ละเครือข่ายสังคมมีบทบาทดังนี้
- Facebook ถูกใช้เป็นศูนย์กลางในการสื่อสาร (Furby ลงโฆษณาของ Facebook ด้วย)
- Twitter รับบทบาทเป็นเครื่องมือสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับ Furby
- Instagram กลายเป็นแหล่งให้คนร่วมกันแสดงตัว Furby
- Youtube สถานที่โชว์วีดีโอเปิดตัวเกมโชว์ Furby "Truth or Dare" (ที่ http://www.youtube.com/user/FurbyOfficial/TruthorDare) วิดีโอแสดงให้เห็นจุดเด่นใหม่ของตัว Furby เรื่องการแสดงอารมณ์
- Pinterest เติมเต็มแหล่งให้ข้อมูลและภาพที่น่าสนใจ
- Tumblr ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงคนรุ่นก่อนที่เคยเล่น Furby ซึ่งสามารถทำได้ดีและเห็นผล
- Buzz Feed คือเครือข่ายสังคมกระแสฮิตที่ทำให้ชาวออนไลน์คิดถึง Furby แบบก้าวกระโดด
ผลลัพธ์ของการใช้งาน Social Network ครบทุกรูปแบบ ทำให้ Furby เกิด Social Impression (ถูกเห็นผ่านเครือข่ายสังคม) กว่า 85 ล้านครั้ง มี Micro Content เกิดขึ้นกว่า 600 ชิ้น มีคนตามใน Tumblr กว่า 11,000 คน และถูกเห็นมากกว่า 40 ล้านครั้ง
สำหรับเมืองไทย Furby ตัวนี้ โด่งดังขึ้นมาจากจุดเริ่มต้นจากดีเจสุดไฮเท็คอย่างดีเจเจ๊แหม่ม ถ่ายรูปคู่กับ Furby ลงบน Instagram แล้วลามไปยังดาราดังคนอื่นๆเช่น ชมพู่ อารยา, ตุ๊กกี้, หรือ วูดดี้ ที่สุดท้ายกลายเป็นกระแสที่หลายคนคนจะถ่ายรูปคู่กับ Furby ที่ตัวเองเลี้ยงอยู่ ด้วยความน่ารักของมัน สามารถทำให้เราโชว์ให้คนอื่นเห็นได้ คล้ายๆกับการโชว์สัตว์เลี้ยงน่ารักของตัวเอง (รูปทั้งหมดมาจาก Manager.co.th)
และด้วยพลังของกระแสการถ่ายรูปคู่กับ Furby บน Instagram จึงทำให้เกิดความต้องการ Furby ที่สูงมาก มากจนทำให้ราคาของเพื่อนหุ่นยนต์ตัวน้อยนี้ พุ่งทะยานไปถึงตัวละ 6,500 บาทเข้าให้แล้ว (จากราคาปกติประมาณ 4,000 บาท)
อย่างไรก็ตาม บทสรุปเหตุผลที่ทำให้ Furby กลับมาโด่งดังนั้นอยู่ที่ตัวผลิตภัณฑ์ด้วย จุดนี้สามารถเรียนรู้จากกระแส Furby เพื่อนำไปปรับใช้กับการเลือกสินค้าของธุรกิจได้ไม่ยาก เหตุผลดังกล่าวประกอบด้วย 5 จุด ได้แก่
1. โชว์ได้ : ด้วยตัว Furby ที่น่ารักอยู่แล้ว จึงทำให้ Furby ถูกถ่ายรูปคู่กันได้อย่างง่ายได้ ซึ่งด้วยพลังของ Instagram และโซเชียลเน็ตเวิร์คในปัจจุบัน ทำให้เวลาเราเลือกนำสินค้ามาขาย หรือการออกแบบสินค้าใหม่ ต้องออกแบบสินค้าที่สร้างความโดดเด่นให้กับผู้ที่จะนำมันมาโชว์ให้คนอื่นได้เห็น และสามารถทำให้คนจดจำได้ ตัวอย่างที่นอกเหนือจาก Furby ก็เช่นตัว N ของรองเท้านิวบาลานซ์ หมวกเบสบอล หรือ กระเป๋าแบรนด์เนม
2. จาก เรโทร เป็น เทคโน : Furby เมื่อ 14 ปีที่แล้วจะสามารถพูดภาษาเฟอร์บิช (Furbish) และเรียนรู้ภาษาได้เหมือนปัจจุบัน โดยเราสามารถเล่นกับ Furby โดยการลูบหลัง ลูบท้อง และ เปิดเพลงให้ฟังได้ โดยการพัฒนาที่เห็นได้ชัดเจนคือ ดวงตาที่พัฒนาเป็นแบบ LED ที่แสดงอารมณ์ได้มากขึ้น รูปแบบการขยับตัวที่ซับซ้อนขึ้น รวมถึง การนำเอาสมาร์ทโฟนมาใช้เป็นเครื่องมือในการเล่นกับ Furby ได้ ซึ่งเราสามารถให้อาหารได้หลายชนิดมากขึ้น
หากลองมองดูในหลายอุตสาหกรรม จะเห็นการนำเอาสิ่งต่างๆที่เคยโด่งดังในอดีต กลับมาพัฒนาเพิ่มขึ้นให้เข้ากับสมัยปัจจุบัน เช่น แผ่นเสียงไวนิลที่สามารถอัดเสียงลง USB, กล้องโพราลอยด์ที่เล็กกระทัดรัดลง มีการออกแบบที่เป็นวัยรุ่น , หรือแม้แต่คู่แข่งFurbyอย่าง ทามาก็อตจิ ดังนั้น สินค้าประเภท"เรโทรเป็นเทคโน"จึงน่าสนใจมาก เพราะธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากสินค้าประเภทนี้ และสร้างรายได้ได้ทันที
3. เปลี่ยนจากของเล่น เป็นเพื่อน : Furby สมัยก่อนจะมีปุ่มเปิดปิดเหมือนของเล่นทั่วไป คือ สามารถปิดได้เมื่อไม่เล่น แต่Furbyแบบใหม่จะไม่สามารถปิดมันได้ ดังนั้น Furby จึงเหมือนเป็นสัตว์เลี้ยงตัวหนึ่งของเราที่ต้องคอยดูแลอยู่เรื่อยๆ และเป็นเพื่อนเราได้ในยามว่าง ซึ่งยุคปัจจุบัน คนจะนำหลายสิ่งมาใช้ในเวลาว่าง เช่น เล่นมือถือระหว่างการเดินทาง ดังนั้นถ้าเราสามารถหาสินค้าและบริการ ที่ทำให้เวลาว่างของคน มาใช้ในทางสร้างสรรค์มากขึ้น รวมถึงผูกติดกับความรู้สึกที่มากขึ้น สินค้าของเราก็จะฮิตได้ง่ายขึ้น
4. ใช้ Social Network ในการจุดกระแส : Furby ในต่างประเทศนั้นมีการวางแผนการเปิดตัวบน Social Network ในทุกรูปแบบ และ แต่ละตัวจะมีหน้าที่ต่างกัน สำหรับเมืองไทยเอง เราอาจจะยังไม่จำเป็นต้องใช้ Tumblr หรือ Buzz Feed เพราะยังไม่แพร่หลายมากนัก อาจจะมองไปยัง Youtube, facebook, twitter หรือ instagram แทน
5. ส่งให้คนดังช่วยส่งต่อ : ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กระแสการโชว์สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นจากดาราบน Instagram ดังนั้นการนำเอาคนดังเหล่านี้มาเป็นตัวช่วยให้เกิดกระแส น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี แต่ข้อที่จะต้องระลึกไว้เสมอคือ “การโชว์สิ่งต่างๆ ควรจะเป็นสิ่งที่ดูเป็นธรรมชาติ ที่คนดังเหล่านั้นทำเป็นปกติอยู่แล้ว” ไม่เช่นนั้น อะไรต่างๆที่ไม่เป็นธรรมชาติ คนตามก็จะรู้และไม่สนใจในสิ่งนั้นๆ ซึ่งคนดังแต่ละคนจะมีเงื่อนไขในการรับงานไม่เหมือนกัน เช่น บางกลุ่มจะไม่รับงานเลยถ้าไม่ได้เป็น พรีเซนเตอร์ บางกลุ่มจะถึงไม่ได้เป็นพรีเซนเตอร์แต่ถ้าเชิญไปอีเวนต์ก็จะโพสให้ หรือ บางกลุ่มรับโพสเป็นจำนวนครั้ง ในรูปแบบการใช้คนดังเพื่อสร้างกระแส เราจะต้องคิดถึงบุคลิก และ สไตล์ของคนดังแต่ละคน และ วางแผนการปรับใช้คนดังเหล่านั้นได้อย่างถูกจริต
ที่เหลือคือการติดต่อไปยังคนดังเหล่านั้นครับ