บอร์ด กสท.เดินหน้าแจกใบอนุญาตทดลองออกอากาศวิทยุกระจายเสียง, โครงข่ายโทรทัศน์แบบไม่ใช้คลื่นความถี่และช่องรายการ ส่วนความคืบหน้าคูปองส่วนลดช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตอลยังรอความชัดเจนจาก USO ก่อน
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ด กสท.เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 56 ว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาวาระสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1. ที่ประชุมมีมติพิจารณาคำขอทดลองออกอากาศในกิจการวิทยุกระจายเสียงโดยออกให้แก่ผู้ประกอบการ 3 ประเภท ได้แก่ 1. กิจการบริการธุรกิจ จำนวน 93 สถานี 2. กิจการสาธารณะ จำนวน 30 สถานี และ3. กิจการบริการชุมชน 20 สถานี โดยทั้งหมดจะให้เวลาทดลองออกอากาศเป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่ 16 ม.ค. 2556 รวมทั้งสิ้น 143 สถานี จากที่ขอทดลองทั้งหมด 7,000 สถานี ซึ่งจะมีการขยายอายุได้ทุกปีไปจนกว่าจะสามารถจัดการปัญหาเรื่องคลื่นรบกวนกันและการบริหารจัดการคลื่นได้เนื่องจากคลื่นความถี่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยปัจจุบัน กสท.ได้ออกใบอนุญาต (ไลเซนส์) ทดลองออกอากาศไปแล้ว 748 ใบอนุญาต
วาระที่ 2 ที่ประชุมได้อนุมัติการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์แบบไม่ใช้คลื่นความถี่ประเภทโครงข่าย จำนวน 20 ใบอนุญาต ส่งผลให้ใบอนุญาตประเภทโครงข่ายที่ กสท.ได้อนุมัติไปแล้ว รวม 331 ใบอนุญาต และรอการพิจารณาอนุมัติอีก 49 ใบอนุญาต โดยใบอนุญาตมีระยะเวลา 15 ปี รวมไปถึงการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์แบบไม่ใช้คลื่นความถี่ประเภทช่องรายการอีกจำนวน 98 ช่องรายการ
ส่วนวาระที่ 3 บอร์ด กสท.ยังได้ให้ใบอนุญาตประเภทช่องรายการที่ กสท.ได้อนุมัติไปแล้วจำนวน 301 ช่องรายการ และรอการพิจารณาอนุมัติอีก 341 ช่องรายการ ซึ่งเป็นการทดลองออกอากาศ 1 ปี และหากปฏิบัติตามเงื่อนไขประกาศ กสทช.ก็จะขยายการออกใบอนุญาตให้อีก 14 ปี
สำหรับการออกใบอนุญาตช่องรายการครั้งนี้ ได้กำหนดไว้ในเงื่อนไขใบอนุญาตว่า ผู้ประกอบการรายใดที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีกรณีการโฆษณาเกินจริงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหาร และยานั้น หากคดีสิ้นสุด และตัดสินว่าผิด ก็ถือว่าการออกใบอนุญาตดังกล่าวเป็นอันสิ้นสุด เนื่องจากขาดคุณสมบัติของการเป็นผู้ประกอบการช่องรายการ อีกทั้งยังได้กำชับผู้ประกอบการช่องรายการด้วยว่าให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ส่วนความคืบหน้าการพิจารณาเรื่องแนวทางการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านทีวีสู่ระบบดิจิตอล ซึ่งจะสนับสนุนให้คูปองส่วนลดแก่ประชาชนนั้น คาดว่าจะมีการพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ USO เพื่อชี้แจงถึงการนำเงินรายได้จากการประมูลไปสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว
นอกจากนี้ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.ด้านสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า จากมติที่ประชุมบอร์ดกสท.ได้มอบหมายให้ตนเอง และนายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ ไปตรวจสอบรายละเอียดช่องรายการ จำนวน 172 ช่อง ของผู้ประสงค์จะประกอบกิจการโทรทัศน์ (กิจการไม่ใช้คลื่นความถี่) ที่ได้ยื่นขอรับอนุญาตตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่ได้กำหนดไว้ใน ประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ซึ่งพบว่ามี 6 รายได้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ด้วยการโฆษณาอาหารและยาโดยไม่ได้รับอนุญาต และบางรายมีโทษปรับในคดีมากกว่า 1 ครั้ง
ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติขอความร่วมมือไปยังคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อจัดส่งหนังสือชี้แจงรายละเอียดช่องรายการที่กระทำความผิด เพื่อนำไปสู่การพิจารณาเงื่อนไขการออกใบอนุญาต พร้อมทั้ง กสท.จะเปิดรับฟังความคิดเห็น (โฟกัสกรุ๊ป) ในวันศุกร์ที่ 1 ก.พ. 2556 เรื่องกรอบและแนวทางการกำหนดราคาเริ่มต้นการประมูลคลื่นความถี่ทีวีดิจิตอล ณ สำนักงาน กสทช.
Company Relate Link :
กสทช.