ผ่านไปแล้ว 1 ปีสำหรับโครงการคอมพิวเตอร์มือถือสำหรับนักเรียน (One Tablet PC Per Child) หรือแท็บเล็ตป.1โดยมีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็นเจ้าภาพร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในการดำเนินโครงการ
หากย้อนดูเส้นทางโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 55 ภายหลังจากกระทรวงไอซีทีได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้จัดหาแท็บเล็ตราว 9 แสนเครื่องสำหรับเด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ทั่วประเทศปีการศึกษา 2555 เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลที่ให้ไว้กับประชาชนว่าจะได้รับ 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน
ในเวลาต่อมา บริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก ดีเวลลอปเมนต์ บริษัทสัญชาติจีนได้รับคัดเลือกในการจัดหาแท็บเล็ตแบบวิธี MOU จากไอซีที ซึ่งจริงๆแล้วก่อนหน้านี้จะใช้วิธีการจัดซื้อแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลหรือ G2G แต่ท้ายสุดสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.กระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายโครงการแท็บเล็ตป.1 เสนอให้ปรับเปลี่ยนวิธีการจัดซื้อคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้นักเรียนชั้น ป.1 มาเป็นการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือMOU ซึ่งระบุว่ามีข้อดีตรงที่ไม่ต้องนำเสนอ ครม. อีกทั้งรัฐบาลจีนเป็นผู้เสนอรายชื่อบริษัทแทนในการจัดซื้อแท็บเล็ตมาให้พิจารณา นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบการจัดซื้อแท็บเล็ตไม่ต้องใช้วิธีประมูลอีกด้วย
ต่อมากระทรวงไอซีทีได้มีการเซ็นสัญญาจัดซื้อแท็บเล็ตกับบริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก ดีเวลลอปเมนต์ โดยมีราคาแท็บเล็ตต่อเครื่องอยู่ที่ 82 เหรียญ หรือประมาณ 2,400 บาท ซึ่งไอซีทีลงนามการสั่งซื้อแท็บเล็ตออกเป็น 2 ระยะคือระยะแรกจำนวน 400,000 เครื่อง ในมูลค่ารวม 32,800,000 ดอลลาร์สหรัฐ และในระยะที่ 2 สั่งซื้อเพิ่มเติมอีก 403,941 เครื่อง ในราคาต่อเครื่องเท่ากันรวมมูลค่าอีกประมาณ 1,054 ล้านบาท
สรุปแล้วโครงการแท็บเล็ตป.1เฟสแรก ของปีการศึกษา2555 ไอซีทีสั่งซื้อแท็บเล็ตรวมราว 900,000เครื่อง ภายใต้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดเมื่อช่วงปลายเดือนก.ย.55 ที่ผ่านมาไอซีทีได้ส่งมอบเครื่องแท็บเล็ตให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครบหมดแล้ว
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาในกระบวนการจัดส่ง และการตรวจสอบคุณภาพจากคณะกรรมการตรวจรับ มีข่าวลือออกมาเป็นระยะว่าแท็บเล็ตที่จัดส่งมาไม่ผ่านมาตราฐานตามข้อกำหนดทีโออาร์ สเปกก็ผิดไปจากที่เซ็นสัญญา รวมไปถึงปัญหาจำนวนเครื่องแท็บเล็ตที่ได้มาไม่ครบตามกำหนดระยะเวลาที่วางไว้
สำหรับแท็บเล็ตในเฟส1 มีสเปกหน้าจอสัมผัส 7 นิ้ว หน่วยบันทึกข้อมูล 8 GB หน่วยประมวลผลกลาง หรือ ซีพียู แบบดูอัลคอร์ 1.2 GHz และหน่วยความจำหลัก 1 GB ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 (Ice Cream Sandwich) และใช้แบตเตอรีชนิด Lithium Polymer ขนาดความจุ 3,600 mAh มีการรับประกันเป็นระยะเวลา 2 ปี
***ไอซีทีลุยเฟส 2 ต่ออีก 1.6 ล้านเครื่อง
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีที ออกมาระบุว่าจะเดินหน้าโครงการต่อในเฟส2 เพื่อให้ทันการเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2556 สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 1 และมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1 จำนวน 1.6 ล้านเครื่อง ด้วยงบประมาณ 6,000 ล้านบาท โดยจะแบ่งชั้นละ 800,000 เครื่อง ซึ่งจะมาพร้อมสเปกที่สูงกว่าในเฟส1 แน่นอน
'คาดว่าภายในสิ้นเดือนม.ค.56 จะได้ข้อสรุปเงื่อนไขทีโออาร์ และกำหนดคุณภาพตัวเครื่องแท็บเล็ตในเฟส2 '
ทั้งนี้ในเฟส 2 กระทรวงไอซีทีจะใช้รูปแบบการประมูลโครงการแท็บเล็ตแทนMOUแบบเฟส1 โดยจะเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนทั้งในและนอกประเทศที่สนใจเข้าร่วมประมูลได้ทั้งหมด
ขณะเดียวกันในปี 2556 ไอซีทีได้รับอนุมัติงบประมาณดำเนินการโครงการขยายจุดเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สาย (Wi-Fi) เป็นเงิน 831 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมงบของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรองรับการใช้งานของนักเรียนในโครงการแท็บเล็ตป.1ของรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันไอซีทีมีจุดให้บริการWi-Fiแล้ว 200,000 จุด ภายใต้โครงการ ICT Free Wifi
สำหรับบริษัท ไทยร่วมค้า เดอะซิสเต็มส์ ผู้จัดจำหน่ายสินค้าไอทีภายใต้แบรนด์ 'แอดไวซ์ ดิสทริบิวชั่น' ในตอนนี้ถือได้ว่าเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก ดีเวลลอปเมนต์ ในการให้บริการด้านเทคนิคเพื่อรองรับเครื่องแท็บเล็ตป.1 ตามโครงการคอมพิวเตอร์มือถือสำหรับนักเรียนทุกคน (One Tablet PC Per Child) ของไอซีทีกรณีเครื่องเสียหายที่เกิดจากการใช้งานที่อยู่ในเงื่อนไขและระยะเวลาประกันเครื่อง โดยมีสัญญาเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งจะต้องเปิดศูนย์ซ่อมแท็บเล็ต ป.1 จำนวน 30 แห่งใน 30 จังหวัด เพื่อรองรับการซ่อมด้านฮาร์ดแวร์ โดยที่บริษัทมีศูนย์ซ่อมทั้งหมด 114 แห่งใน 66 จังหวัดที่จะดูแลเรื่องซอฟต์แวร์หากเกิดปัญหา และยังใช้เป็นที่รับส่งแท็บเล็ตมายัง 30 ศูนย์ซ่อมดังกล่าว
ณัฏฐ์ ณัฐนิธิการัชต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยร่วมค้า เดอะซิสเต็มส์ กล่าวว่า ในส่วนของโครงการแท็บเล็ตป.1ในเฟส 2 ที่ไอซีทีจะเปิดประมูลในปี 2556โดยเปิดให้เอกชนเข้าร่วมประมูลได้ทุกรายนั้น บริษัทคงไม่สนใจเข้าร่วมประมูลแต่อย่างใด เนื่องจากปัจจุบันยังเป็นพาร์ทเนอร์กับเสิ่นเจิ้น สโคป อยู่ดังนั้นจึงไม่อยากเข้าไปเป็นคู่แข่งกันเอง
'หากมองอีกมุมหนึ่ง ถ้าเราเข้าร่วมประมูลในเฟส2 แล้วเกิดชนะเป็นที่ 1 กับที่ 2 ร่วมกับ เสิ่นเจิ้น สโคป ก็อาจจะโดนกล่าวหาได้ว่าเป็นการฮั้วประมูล ดังนั้นเราจึงไม่อยากเข้าไปยุ่งในการประมูลในครั้งนี้ เราคงเน้นการทำงานด้านเซอร์วิสต่อไป ส่วนการทำตลาดคงเน้นช่องทางขายปลีกกับขายส่งเท่านั้น'
นอกจากนี้เขายังระบุว่าในช่วง3เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่ต.ค.-ธ.ค.55 นั้นมีเครื่องแท็บแล็ตป.1นำเข้ามาซ่อมตามศูนย์ต่างๆราว 200-300 ตัว โดยเกิดจากปัญหาด้านซอฟต์แวร์ 50% โดยเฉพาะปัญหาการลงแอปพลิเคชั่นมากเกินจนทำให้เครื่องค้าง เป็นต้น และในส่วนของฮาร์ดแวร์อีก50% ในเรื่องหน้าจอทัสกรีน ,ปัญหาการค้นหาจุดเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบไร้สาย(Wi-Fi)ไม่เจอ และปัญหาในส่วนของแบตเตอรี่
อย่างไรก็ตาม บริษัทเพิ่งจะเริ่มหันมาเน้นทำตลาดแท็บเล็ตอย่างจริงจัง โดยการนำเข้าจากประเทศจีนในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค.55หลังจากได้รับเลือกมาดูแลบริการหลังการขายของโครงการแท็บเล็ตป.1 โดยเฉพาะ2แบรนด์หลักคือ 1.สโคแพด 2.AIGO ซึ่งภายในเดือนพ.ย.เดือนเดียวมียอดขายถึง35,000 เครื่อง และในเดือนธ.ค.คาดว่าจะมียอดขายถึง50,000 เครื่องรวมทั้งปีมียอดขาย85,000 เครื่อง ขณะที่ในปี56 บริษัท จะยังคงเน้นแท็บเล็ต 2 แบรนด์เดิมเป็นหลักในการทำตลาด โดยตั้งเป้าทำยอดขายแท็บเล็ต และสมาร์ทโฟนเดือนละ 1 แสนเครื่อง
ถึงแม้โครงการแท็บเล็ตป.1จะผ่านไปแล้วเกือบ1ปี แต่เรื่องที่สำคัญที่จะบอกว่าโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น คือนักเรียนที่ได้มีโอกาสใช้เแท็บเล็ตทั่วประเทศจะได้ประโยชน์อะไรกับแท็บเล็ต ซึ่งหากได้แค่การใช้เพียงเพื่อความบันเทิงไปวันๆเท่านั้น โครงการดังกล่าวคงจะล้มไม่เป็นท่า เพราะจุดประสงค์ของโครงการดังกล่าวก็เพื่อให้เป็นเครื่องมือเสริมการเรียนการสอนของครูผู้สอน ถึงแม้จะมีต่อในเฟสที่2ก็ตาม แต่ท้ายสุดผลที่ออกมาก็คงลงเอยแบบเดิม
ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการอบรมให้ครูผู้สอนรู้จักใช้แท็บเล็ตดังกล่าวนำมาเสริมการเรียนให้มีประสิทธิภาพ และการมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงรองรับแท็บเล็ตให้มากกว่าปัจจุบันโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลตามชนบททั่วประเทศ