เวทีสัมมนาประจำปีสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ระบุ การมาของ 3G 2.1GHz นักข่าวต้องเป็นมืออาชีพ-เจาะลึกข่าวมากขึ้นเพื่อสร้างความแตกต่าง
นายนิรันดร์ เยาวภาว์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เปิดเผยในฐานะเป็นประธานงานสัมมนา “ผลกระทบของ 3G ต่อเนื้อหาสื่อออนไลน์” ซึ่งทางสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์เป็นผู้จัด วันนี้ (28 ก.ย.) ว่า จากการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่ชาติ (กสทช.) จะเปิดประมูลใบอนุญาต 3G บนคลื่นความถี่ 2.1GHz ในวันที่ 16 ต.ค. 55 นี้ ทางสมาคมจึงต้องการจัดสัมมนาขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านความก้าวหน้า และความคืบหน้าของเทคโนโลยี 3G ในประเทศไทย รวมไปถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังการให้ใบอนุญาต 3G
ทั้งนี้ ข้อดีของการให้บริการ 3G นั้นจะตอบสนองความต้องการด้านการรับส่งข้อมูลโดยผ่านอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ต่างๆ เช่น สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต, โน้ตบุ๊ก หรืออุปกรณ์พกพาอื่นๆ ได้ดียิ่งขึ้น และยังเป็นการเปิดช่องทางการเข้าถึงเว็บไซต์ให้ขยายกว้างออกไปอีก โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่ให้บริการด้านข่าวสารที่ต้องการให้ผู้บริโภคเข้าถึงอย่างรวดเร็วและทันสถานการณ์มากขึ้น
ขณะที่ในเมื่อมีคนเข้าดูสื่อออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นผู้ผลิตข่าวออนไลน์ก็จะต้องปรับตัวเอง โดยการจะต้องทำให้เนื้อหาข่าว และตัวโฆษณาสามารถเข้าถึงตัวอุปกรณ์ที่รองรับ 3G ได้ เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เป็นต้น
นายธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จีเอ็มเอ็ม แซท บริษัท จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับตัวของผู้ผลิตข่าวออนไลน์จะต้องมีความสามารถในด้านหนึ่งด้านใด หรือเฉพาะด้าน เพื่อให้การทำข่าวมีการนำเสนอเชิงลึกมากขึ้นหรือที่เรียกกันว่า “ความรู้ต้องเจาะลึก ความสามารถต้องเป็นเป็ด”
ด้าน นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การมาของ 3G ที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นจะทำให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชนขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้นในทันที ดังนั้นผู้ผลิตข่าวออนไลน์จะต้องมีการปรับตัวเพื่อสร้างความแตกต่างของสำนักงานข่าว โดยให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น และนักข่าวเองจะต้องเจาะลึก ค้นหาความจริงมากขึ้นเช่นเดียวกัน
จากที่ในอดีตอาจเป็นเพียงการรายงานสถานการณ์เท่านั้น ซึ่งหาก 3G มาจะทำให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ประชาชนคนธรรมดาก็สามารถทำข่าวได้เสมือนเป็นนักข่าวคนหนึ่ง
อีกทั้งยังสามารถนำเนื้อหาข่าวตามสำนักข่าวต่างๆ ที่มีสื่อออนไลน์นำไปเป็นของตนเองได้ง่ายกว่าเดิม ดังนั้นเราจึงต้องการให้สำนักข่าวสื่อออนไลน์ และทางสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ออกกฎระเบียบ และหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อคุ้มครองการละเมิดสิทธิในเนื้อข่าว ซึ่งในฐานะตัวแทนกสทช.จะเป็นผู้สนับสนุนอย่างเต็มที่