กลายเป็นคำถามคาใจผู้บริโภคไม่น้อย เมื่อปรากฏว่าระบบปฏิบัติการสำหรับอุปกรณ์พกพาของแอปเปิล"iOS 6" เวอร์ชันล่าสุดกลับมาพร้อมคุณสมบัติหลายอย่างที่มีอยู่แล้วในระบบปฏิบัติการ Android 4.0 ซึ่งทำตลาดอยู่ในปัจจุบัน ในวันที่ iOS 6 ยังไม่พร้อมลงตลาดเช่นนี้ ผู้บริโภคจึงเริ่มข้องใจว่าควรจะรอซื้อ iPhone รุ่นต่อไปที่มาพร้อม iOS 6 ฉบับสมบูรณ์ หรือว่าควรซื้อสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นที่มาพร้อม Android 4.0 ตอนนี้เลย?
เพื่อหาคำตอบนี้ คุณสมบัติใหม่ใน iOS 6 ซึ่งแอปเปิลเพิ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมาจึงถูกนำมาเปรียบเทียบว่าตรงกับคุณสมบัติใดบ้างที่ Android 4.0 มีอยู่แล้ว โดยบางคุณสมบัติถูกแฟนแอนดรอยด์ตราหน้าว่าเป็นสิ่งที่แอนดรอยด์มีมานานแล้วหลายปี
คุณสมบัติแรกคือ Turn by turn driving direction หรือระบบนำทางบนแผนที่ชนิดเลี้ยวต่อเลี้ยว ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า iOS 6 จะมาพร้อมระบบแจ้งสภาพจราจรแบบเรียลไทม์และระบบนำทางแบบ Turn-by-turn ของบริษัททอมทอม (TomTom) โดยจะสามารถทำงานร่วมกับ Siri โปรแกรมสั่งการค้นหาข้อมูลด้วยเสียงใน iPhone
จุดนี้สาวกกูเกิลล้อว่าผู้ใช้แอนดรอยด์ทุกรุ่นสามารถใช้ระบบนำทางเลี้ยวต่อเลี้ยวได้แล้ว แต่แอปเปิลกลับจำกัดให้ใช้งานได้เฉพาะบน iPhone 4S และ iPad 2 ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของชาวออนไลน์ เพราะทุกคนสามารถไขว่คว้าหาแอปพลิเคชันนำทางเลี้ยวต่อเลี้ยวนี้จากนักพัฒนารายอื่นได้อยู่แล้ว
ความสามารถอื่นๆของระบบแผนที่ใน iOS 6 ยังถูกปรามาสว่ามีมานานแล้วในระบบแผนที่ของแอนดรอยด์เช่น ระบบแผนที่ 3 มิติ ขณะเดียวกัน ระบบแผนที่ของกูเกิลยังเหนือกว่าเรื่องข้อมูลการเดินเท้าและระบบขนส่งมวลชนในท้องถิ่น แถมกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาให้สามารถใช้งานขณะออฟไลน์ได้
คุณสมบัติที่ 2 ซึ่งเพิ่งเปิดตัวใน iOS 6 แต่มีแล้วในแอนดรอยด์คือ Unique account signature การเปิดทางให้ผู้ใช้สามารถมีลายเซ็นต์ในอีเมลได้หลากหลายเพื่อใช้บนอีเมลที่มีจุดประสงค์ต่างกัน เช่น ลายเซ็นต์สำหรับอีเมลงาน และลายเซ็นต์สำหรับอีเมลส่วนตัว จุดนี้แอปฯ Gmail นั้นมีคุณสมบัตินี้อยู่แล้ว เช่นเดียวกับแอปฯอีเมลสำหรับผู้ใช้แอนดรอยด์อย่าง IMAP และ K-9 Mail ก็ล้วนรองรับคุณสมบัตินี้
คุณสมบัติที่ 3 คือ System-wide Facebook and Twitter integration หรือการผสานรวม iOS 6 เข้ากับบริการเครือข่ายสังคมอย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์แบบเป็นเนื้อเดียว เพราะในแอนดรอยด์ หากผู้ใช้ติดตั้งแอปฯทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กลงในอุปกรณ์ ปุ่มทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กจะปรากฏใน default share menu อัตโนมัติเพื่อให้ผู้ใช้แตะเพื่อแบ่งปันภาพที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วและไม่ต้องออกจากหน้าคอนเทนต์นั้นเพื่อไปเปิดแอปฯให้เสียเวลา จุดนี้เป็นคุณสมบัติที่ผู้ใช้แอนดรอยด์ใช้กันมานานแล้ว
คุณสมบัติที่ 4 คือการเปิดให้ผู้ใช้ iOS 6 สามารถสร้าง VIP List หรือกล่องรับอีเมลจากคนสำคัญที่ผู้ใช้กรองเฉพาะอีเมลจากคนที่ต้องการอ่านเท่านั้น คุณสมบัตินี้ล้วนเป็นการไล่ตามแอนดรอยด์เช่นเดียวกับการเปิดให้ผู้ใช้แทรกรูปภาพและวิดีโอในหน้ากล่อง Mail ของผู้ให้บริการอีเมล (จากเดิมที่ผู้ใช้ iOS ต้องเข้าที่แอปฯเพื่อเปิดชมรูปก่อนจึงจะสร้างอีเมลได้)
สำหรับคุณสมบัติใหม่ใน iOS 6 ที่ยังไม่มีใน Android 4.0 แต่ก็สามารถทำให้มีใช้งานได้ทันทีด้วยการดาวน์โหลดแอปฯแอนดรอยด์นั้นได้แก่คุณสมบัติอย่าง Do Not Disturb and Reply with Message คุณสมบัตินี้แอปเปิลต้องการให้ผู้ใช้ iOS 6 สามารถเลือกปิดการแจ้งเตือนหรือ notification ทุกบริการที่มีบนสมาร์ทโฟน ทำนองเดียวกับการติดป้ายห้ามรบกวนหรือ Do Not Disturb หน้าห้องพัก โดยคุณสมบัตินี้จะทำงานคู่กับฟังก์ชัน Reply with Message ซึ่งผู้ใช้ iOS 6 จะสามารถตอบสาย missed calls ด้วยข้อความ SMS ให้ปลายสายรู้ว่าเจ้าของเครื่องไม่ว่างรับสาย
คุณสมบัตินี้ผู้ใช้แอนดรอยด์ล้วนหาได้จากแอปฯ ประเภท dialer ซึ่งเป็นโปรแกรมเสริมที่อาสาเพิ่มคุณสมบัติด้านการต่อสายโทรศัพท์ให้กับแอนดรอยด์ เช่นแอปฯอย่าง Auto SMS หรือ AutoReply ก็ทำให้ผู้ใช้แอนดรอยด์สามารถส่ง SMS ตอบกลับอัตโนมัติเพื่อแจ้งผู้ติดต่อว่าไม่ว่าง เป็นต้น จุดนี้ผู้ผลิตแอนดรอยด์บางรายยังติดตั้งแอปฯลักษณะนี้ซึ่งตัวเองพัฒนาเองมาให้ตั้งแต่โรงงาน (pre-load) ทั้งหมดยังไม่เคยมีบนอุปกรณ์ iOS
สำหรับคุณสมบัติดาวรุ่งอย่าง Passbook แอปฯที่แอปเปิลพัฒนามาให้ผู้ใช้มีศูนย์กลางจัดการสมบัติส่วนตัวอย่างตั๋วโดยสารเครื่องบินอิเล็กทรอนิกส์ (boarding pass), บัตรของขวัญ (gift card), ข้อมูลการเดินทาง รวมถึงตั๋วโดยสารขนส่งมวลชนต่างๆ แม้แอปเปิลจะการันตีว่าแอปฯนี้จะสามารถอัปเดตข้อมูลการเปลี่ยนแปลงแบบเรียลไทม์ เช่นหากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลประตูขึ้นเครื่องบิน ตั๋วที่เก็บใน Passbook จะอัปเดทตัวเองด้วยพร้อมแจ้งเตือนผ่าน Notifications แต่ทั้งหมดกลับถูกมองว่าไม่มีอะไรใหม่บน Android
จริงอยู่ที่ชาวแอนดรอยด์จะไม่มีแอปฯชนิด all-in-one ที่สามารถทำงานตามคุณสมบัติของ Passbook ได้ครบในแอปฯเดียว แต่วันนี้บางแอปฯเปิดให้บริการแก่ชาวแอนดรอยด์แล้วในคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกัน เช่น แอปฯ TripIt สำหรับจัดการตั๋วโดยสารออนไลน์, Key Ring สำหรับการจัดการบัตรของขวัญ และ Fandango และ Flixster สำหรับจัดการตั๋วชมคอนเสิร์ตและงานอีเวนต์ต่างๆ
ไม่เว้นแม้แต่ Siri ซึ่งแอปเปิลการันตีว่าได้พัฒนาขึ้นมากบน iOS 6 โดยเพิ่มความสามารถให้ผู้ใช้ส่งเสียงเพื่อเปิดแอปฯใดๆก็ได้ จุดนี้สาวกแอนดรอยด์บอกว่าแอปฯอย่าง Vlingo ซึ่งเป็นผู้พัฒนาฟังก์ชัน S Voice บนสมาร์ทโฟน Samsung Galaxy S III นั้นก็สามารถทำงานได้ใกล้เคียง
Vlingo เป็นแอปฯบนแอนดรอยด์ที่ให้บริการฟรี ผู้ใช้สามารถส่งข้อความ SMS ด้วยเสียง, ค้นหาข้อมูลด้วยเสียง, สั่งโทร.ออกด้วยเสียง รวมถึงการเปิดฯ ด้วยเสียง ขณะเดียวกัน แอปฯผู้ช่วยส่วนตัวอย่าง Assistant และ Jeannie ก็ล้วนมีแผนพัฒนาความสามารถให้ไม่แพ้ Siri ด้วยการอ่านข้อมูลคะแนนการแข่งขันกีฬา รวมถึงข้องมูลการรีวิวร้านอาหารสถานที่ท่องเที่ยวของ Yelp ได้ ซึ่งแผนพัฒนาเหล่านี้อาจแล้วเสร็จในวันก่อนที่ iOS 6 จะพร้อมเปิดให้ลูกค้าแอปเปิลทั่วไปดาวน์โหลดก็ได้
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยในต่างประเทศมองว่าแม้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์โดยเฉพาะเวอร์ชัน 4.0 หรือที่เรียกกันว่า Ice Cream Sandwich (ICS) นั้นจะมีคุณสมบัติบางส่วนตรงกับ iOS 6 ซึ่งกำลังจะคลอดอย่างเป็นทางการในปีนี้ แต่การใช้งานคุณสมบัติเหล่านี้บนแอนดรอยด์ก็ยังพบปัญหาเช่นกัน
จุดนี้ทอม เฮนเดอร์สัน (Tom Henderson) นักวิจัยจากสถาบัน ExtremeLabs มองว่าความน่าเชื่อถือของการตอบรับต่อคุณสมบัติใหม่ในผู้บริโภคจากมุมผู้ใช้ iOS และ Android นั้นต่างกัน โดยเฉพาะความน่าเชื่อถือและความกังวลเรื่องสิทธิส่วนบุคคล ซึ่ง iOS นั้นเหนือกว่า Android อย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกันแอนดรอยด์เวอร์ชัน ICS นั้นยังเป็นเวอร์ชันระบบปฏิบัติการที่ไม่แพร่หลาย และมีสัดส่วนการใช้งานเพียง 7.1% ของผู้ใช้แอนดรอยด์ทั่วโลกในขณะนี้
แถมผู้ใช้งานแอนดรอยด์จำนวนมากยังต้องพบกับปัญหาไม่สามารถอัปเดทอุปกรณ์แอนดรอยด์เป็นเวอร์ชันใหม่ได้ ซึ่งแม้คนไอทีจะพูดง่ายๆว่าให้ “ROOT เครื่อง” แต่ในมุมของผู้บริโภคนั้นอาจไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายอย่างที่เข้าใจ
ทั้งหมดนี้ทำให้แอนดรอยด์ถูกมองว่าเป็นรองในการยกระดับประสบการณ์ผู้ใช้เมื่อเทียบกับ iOS โดยเฉพาะในภาพรวมซึ่งทำให้การประกาศคุณสมบัติใหม่ใน iOS 6 สร้างความตื่นเต้นให้ชาวโลกได้มากกว่า
และหากย้อนกลับไปตอบคำถามในย่อหน้าแรก ทางเลือกของผู้บริโภคที่ต้องการสมาร์ทโฟนใหม่ล่าสุดในวันนี้มี 2 ทาง หนึ่งคือซื้ออุปกรณ์แอนดรอยด์ไปพร้อมกับไล่ดาวน์โหลดแอปฯที่กล่าวข้างต้น ก็จะสามารถใช้งานคุณสมบัติใหม่บางส่วนของ iOS 6 ได้ก่อนใคร ส่วนอีกทางคือรอเวลาอีก 4 เดือน (หรือมากกว่านั้น) เพื่อรอชมว่า iPhone รุ่นใหม่พร้อม iOS 6 ฉบับเต็มนั้นจะน่าประทับใจเพียงไร ซึ่งคนที่ไม่รีบ ทางที่ 2 คือทางเลือกที่ดีที่สุด
ส่วนคนที่มี Android ICS ในครอบครองขณะนี้ ขอแนะนำให้ไล่เสิร์ชชื่อแอปฯดังกล่าวให้ครบ เพื่อรับประสบการณ์ที่เหนือกว่าก่อนลูกค้าแอปเปิล