เฟซบุ๊ก (Facebook) ยืนยันได้ว่าจ้างทีมงานสร้าง “กอวาลลา” (Gowalla) ชนิดยกชุด สื่อฟันธงยักษ์ใหญ่เครือข่ายสังคมมีแผนปิดบริการระบุพิกัดตำแหน่ง หรือ location-based service ที่เปิดให้ผู้ใช้ “เช็กอิน” ตั้งแต่ปี 2009 แน่นอนเหมือนที่เคยทำกับบริษัทอื่นที่ซื้อมา เชื่อเฟซบุ๊กจะไม่ควบรวมเทคโนโลยีหรือครอบครองบริการของกอวาลลา แต่จะเข้าครอบครองบุคลากรผู้ชำนาญของกอวาลลาเท่านั้น
กอวาลลานั้น เป็นบริการโลเกชันเบสเซอร์วิส คู่แข่งรายสำคัญของโฟร์สแควร์ (Foursquare) ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถลงชื่อ “เช็กอิน” ด้วยโทรศัพท์มือถือเพื่อแสดงตัวว่ากำลังยืนอยู่ที่สถานที่ใด ก่อนจะแชร์หรือแบ่งปันตำแหน่งนี้ให้โลกรู้ ทั้งหมดนี้กอวาลลาไม่เปิดเผยข้อมูลว่าบริษัทได้รับข้อเสนอด้านการเงินจากเฟซบุ๊กเป็นมูลค่าเท่าใด แต่ระบุเพียงว่าทั้งหมดเป็นการก้าวไปข้างหน้าของกอวาลลา และบริษัทหวังว่าส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจที่เป็นเบื้องหลังความสำเร็จให้กอวาลลา จะไปเติบโตที่เฟซบุ๊กต่อไป
โจช วิลเลียมส์ (Josh Williams) ผู้ร่วมก่อตั้งกอวาลลา คือผู้โพสต์ข้อความยืนยันความสัมพันธ์กับเฟซบุ๊กในบล็อกของบริษัท โดยระบุว่ากอวาลลาจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสำนักเฟซบุ๊กในแคลิฟอร์เนีย จากปัจจุบันที่มีสำนักงานใหญ่ในเมืองออสติน รัฐเทกซัส ขณะที่เฟซบุ๊กระบุว่าทั้งวิลเลียมส์และผู้ร่วมก่อตั้งกอวาลลาอีกรายอย่าง สกอต เรย์มอนด์ (Scott Raymond) รวมถึงทีมงานกอวาลลารายอื่นจะเข้าร่วมกับเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป
ทั้งเฟซบุ๊กและกอวาลลาไม่มีการเปิดเผยข้อมูลว่าจำนวนพนักงานทั้งหมดของกอวาลลามีเท่าใด และมีกี่รายที่จะย้ายโต๊ะทำงานไปที่เฟซบุ๊ก ขณะเดียวกันก็ไม่มีการให้ข้อมูลโครงการที่กอวาลลาและเฟซบุ๊กมีแผนจะทำร่วมกันในอนาคต
ข้อมูลที่พอจะบอกใบ้ในขณะนี้คือข้อความที่วิลเลียมส์โพสต์ไว้ ซึ่งสื่อมวลชนสหรัฐฯ เชื่อว่ามีโอกาสสูงที่ทีมงานกอวาลลาจะร่วมเป็นทีมที่เสริมความแข็งแกร่งให้บริการไทม์ไลน์ (Timeline) ของเฟซบุ๊ก เนื่องจากบริการไทม์ไลน์นั้นเป็นรูปแบบหน้าประวัติหรือโปรไฟล์เพจแบบใหม่ที่เฟซบุ๊กตั้งใจสร้างให้ชาวเฟซบุ๊กได้ใช้งานในอนาคต ลักษณะเด่นคล้ายกับสมุดภาพของแต่ละบุคคล (scrapbook) ที่จะจัดเรียงกิจกรรมบนเฟซบุ๊กและภาพตามลำดับเวลาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งคำว่า scrapbook ถูกวิลเลียมส์นำมาพูดถึงอย่างมีนัย
“บริการ Gowalla Passport นั้นทำให้ผู้ใช้ได้บันทึกสถานที่ที่เคยไป ผู้คนที่เคยร่วมพบปะในแต่ละสถานที่ ภาพที่เคยถ่าย และเรื่องราวที่เคยเล่า หลายคนใช้บริการนี้เป็นสมุดภาพ scrapbook เพื่อบันทึกความทรงจำทั้งหมดที่เคยมี” ตามเนื้อความที่วิลเวียมส์โพสต์
ที่สำคัญ วิลเลียมส์ระบุว่าเฟซบุ๊กจะไม่ได้ครอบครองข้อมูลผู้ใช้ของกอวาลลา เท่ากับขอให้ผู้ใช้กอวาลลาวางใจได้
การดึงทีมสร้างมือฉมังจากกอวาลลามาสู่ชายคาเฟซบุ๊กครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากบริษัทเครือข่ายสังคมยักษ์ใหญ่ประกาศขยายบริษัทเพื่อเปิดสำนักงานด้านวิศวกรรมระบบที่นิวยอร์กซิตี โดยเฟซบุ๊กนั้นมีกำหนดการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเดือนเมษายนปีหน้า ปัจจุบันเฟซบุ๊กมีพนักงาน 3,000 ตำแหน่งและมีแผนจะรับพนักงานเพิ่มหลายพันตำแหน่งทั่วโลกในอนาคต
สำหรับกอวาลลา ข้อมูลจากเว็บไซต์ไดเรกทอรี appappeal.com ประจำวันที่ 30 พฤศจิกายน 2011 พบว่าเว็บไซต์ของกอวาลลานั้นเป็นเว็บไซต์ยอดนิยมอันดับที่ 7,214 ของประเทศไทย (วัดจากค่าเฉลี่ยผู้เข้าชมต่อวันและเพจวิว) โดยผู้ใช้ 2.5% ของกอวาลลามาจากประเทศไทย และคนไทยคือเจ้าของเพจวิว 2.1% ของกอวาลลา
นับตั้งแต่เปิดให้บริการในปี 2009 กอวาลลาถูกคาดการณ์ว่ามีผู้ใช้มากกว่า 50,000 คนในเดือนธันวาคมปี 2009 ก่อจะเพิ่มเป็น 90,000 คนในมกราคม 2010 ซึ่งถือว่ายังไล่หลังจากบริการเช็กอินแชร์โลเกชันเจ้าตลาดอย่างโฟร์สแควร์ซึ่งมีผู้ใช้มากกว่า 150,000 คน และเพิ่มเป็นมากกว่า 325,000 คนในวันที่ 30 มกราคม 2010 ที่ผ่านมา
Company Related Link :