ในที่สุดก็เเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการสำหรับเครือข่ายสังคมแนวใหม่ "Socl" จากไมโครซอฟท์ งานนี้ไมโครซอฟท์ไม่หวังชนช้างเฟซบุ๊ก แต่หวังเปิดทางให้ชาวออนไลน์แชร์คอนเทนต์ในเรื่องที่สนใจและซึ่งผู้ชมจะได้เห็นคอนเทนต์ทั้งภาพ ข้อความ และวิดีโอในรูปแบบสมุดภาพที่ชมได้ต่อเนื่องไม่รู้จบ
Socl (อ่านว่า"โซเชียล") เป็นเครือข่ายสังคมที่เปิดให้ทุกคนร่วมใช้งานได้แล้ว ความสามารถเด่นคือการเปิดให้ผูใช้ค้นหาเรื่องหรือ topic ของสิ่งน่าสนใจเพื่อเปิดชมในรูปแบบสมุดภาพหรือ scrapbook ได้แบบต่อเนื่องและเพลิดเพลิน โดยการเปิดให้บริการครั้งนี้ถือเป็นการต่อยอดหลังจากไมโครซอฟท์เริ่มทดสอบบริการเมื่อเดือนพฤศภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ไมโครซอฟท์จำกัดบริการไว้เฉพาะพนักงาน นักเรียนนักศึกษา และผู้ใช้บางกลุ่มที่ได้รับคำเชิญเพื่อทดลองใช้บริการเท่านั้น
วันนี้บริการ Socl จะเปิดกว้างให้ผู้ใช้ทั่วโลกที่มีบัญชีบริการไมโครซอฟท์และเฟซบุ๊กทุกรายสามารถใช้งานได้ง่าย เพียงเชื่อมบัญชีเข้ากับ Socl ก็สามารถแชร์คอนเทนต์ทั้งภาพถ่าย วิดีโอ ลิงก์ และข้อความไว้บน Socl โดยทุกคนสามารถพิมพ์แสดงความเห็นท้ายโพสต์ได้ พร้อมกับโพสต์คอนเทนต์อื่นเพิ่มเติมได้
การโพสต์คอนเทนต์เพิ่มเติมนี้ถูกเรียกว่า ‘riffs’ คุณสมบัตินี้จะทำให้เรื่องราวความสนใจของชาวไอทีทั่วโลกได้รับการต่อยอดในหลายมุมมอง ขณะเดียวกันยังเป็นช่องทางให้ผู้สนใจในเรื่องเดียวกันสามารถสื่อสารกันได้แบบเสมือนผ่าน Socl จากทุกมุมโลก
Socl นั้นแบ่งบริการออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ ส่วน Post ที่ผู้ใช้จะสามารถอ่านโพสต์คอนเทนต์ใหม่ที่ถูกสุ่มขึ้นจากทั่วโลก จุดนี้ ผู้ใช้สามารถติดตามเทรนด์ความสนใจของคนทั่วโลกที่ส่วน Interests ซึ่งจะเป็นแหล่งรวมกลุ่มคนทั่วโลกที่โพสต์คอนเทนต์ตามหัวข้อน่าสนใจ ในส่วนนี้ ผู้ใช้ Socl จะสามารถสื่อสารกับบุคคลที่สนใจในกลุ่มเรื่องเดียวกันได้ตามต้องการ
ส่วนที่ 3 คือ People ส่วนนี้ผู้ใช้ Socl จะได้เห็นสมาชิกผู้ใช้งาน Socl จากทั่วมุมโลก ในส่วนนี้ผู้สนใจสามารถเลือกคลิกติดตามหรือ Follow ผู้ใช้รายใดก็ได้ โดยภาพสมาชิกที่ปรากฏในเพจนี้จะไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่มีจำนวน Follower มากมาย แต่ผู้ใช้ที่มีผู้ติดตามเพียงหลัก 10 ก็มีโอกาสปรากฏโฉมในส่วนนี้
ผู้ใช้ Socl ทุกคนจะสามารถติดตามประวัติการโพสต์ของตัวเองได้ที่ส่วน Me ซึ่งจะแสดงความเคลื่อนไหวทุกอย่างที่เกิดขึ้นบน Socl ทั้งประวัติการโพสต์, สรุปจำนวนผู้คลิกติดตามหรือ follow, ชมวิดีโอที่เพิ่งสร้างขึ้น ซึ่งผู้ใช้สามารถเปลี่ยนการตั้งค่าใน Socl ได้ทั้งหมด
ส่วนที่ 5 คือ Parties แหล่งรวมวิดีโอซึ่ง Socl การันตีว่าผู้ใช้สามารถชมพร้อมกับสมาชิกรายอื่นได้แบบเรียลไทม์ แม้จะไม่ได้อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์จอเดียวกัน
Socl เป็นผลงานการพัฒนาของส่วนงานวิจัยของไมโครซอฟท์นามว่า Microsoft Research FUSE Labs ซึ่งพัฒนา Socl มาเพื่อทดสอบการให้บริการ social search หรือการค้นหาข้อมูลบนเครือข่ายสังคม สิ่งที่ Socl ทำในวันนี้คือการอาสาเป็นสถานที่นัดพบของผู้คนทั่วโลกซึ่งสามารถสื่อสารกันผ่านเรื่องราวน่าสนใจที่ถูกแชร์ไว้ ซึ่งมีโพสต์ภาพ ลิงก์เว็บไซต์ และคำบรรยายเป็นสื่อกลางการสื่อสารได้อย่างลงตัว
เบื้องต้น Socl ถูกวิจารณ์ว่าการจัดเรียงคอนเทนต์แบบสมุดภาพหรือ scrapbook ทำให้ Socl ดูเหมือนว่ากำลังยึดรูปแบบอินเทอร์เฟสแบบ LiveTile บน Windows 8 และ Windows Phone 8 โดยมองแล้วคล้ายกับ Pinterest มากกว่า Facebook ซึ่งผู้ใช้ Socl จะสามารถเลื่อนหน้าจอเพื่อชมคอนเทนต์ที่ต้องการได้แบบไม่สิ้นสุด
อีกจุดที่ทำให้ Socl แตกต่างจากเฟซบุ๊ก คือ Socl จะไม่มีบริการโพสต์ข้อความส่วนตัวระหว่างสมาชิก และผู้ใช้จะไม่สามารถโพสต์ภาพส่วนตัวจากคอมพิวเตอร์ของตัวเอง แต่จะสามารถเสิร์ชภาพหรือลิงก์จากระบบ (ให้บริการโดย Bing) เท่านั้น แล้วจึงสามารถคลิกเลือกเพื่อวางภาพนั้นในกรอบที่ Socl เตรียมไว้ จุดนี้ผู้ใช้ที่มีเว็บบล็อกส่วนตัวจะได้ประโยชน์มากในการประชาสัมพันธ์ให้เว็บไซต์เป็นที่รู้จัก ผ่านการนำภาพสวยงามน่าสนใจมารวมไว้เป็นกลุ่ม ซึ่งผู้สนใจที่อยู่ต่างประเทศ จะสามารถคลิกที่ภาพเพื่อเข้าสู่เว็บไซต์ได้
อย่างไรก็ตาม ระบบ Socl จะแสดงข้อความโพสต์โดยการสุ่ม ซึ่งแม้ Socl จะเปิดให้ผู้ใช้สามารถจัดหมวดหมู่โพสต์ที่สนใจด้วยการติดป้ายหรือ tag แต่พบว่าบางกรณีไม่สามารถทำให้ผู้ใช้พบคอนเทนต์ทีต้องการแบบเจาะจง
นอกจากนี้ ระบบ Socl ยังใช้ปุ่มรูป imoticon รูปยิ้ม :-) ซึ่งจะปรากฏข้อความว่า "This makes me smile" เพื่อให้ผู้ใช้กดแสดงความชื่นชอบคอนเทนต์นั้นแทนการกด Like ในเฟซบุ๊ก
ทั้งหมดนี้ เชื่อว่า Socl จะมีพัฒนาการอีกมากเมื่อให้บริการเต็มที่ในช่วงปีหน้า ส่วนหนึ่งเพราะคอนเทนต์ในระบบยังไม่หลากหลาย และยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ซึ่งไม่แน่ Socl อาจได้รับความนิยมในฐานะเครือข่ายสังคมอุดมความรู้ ซึ่งสามารถเทียบชั้นได้กับเฟซบุ๊กก็ได้ในอนาคต
ติดตามวิดีโอแนะนำบริการ Socl ได้จากวิดีโอด้านล่าง
Company Related Link :
Socl