Edited - ประเด็นชื่อบัญชีทวิตเตอร์ของนายกรัฐมนตรีไทยถูกแฮกนั้นเป็นข่าวดังไปทั่วโลก ถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามหลังชื่อบัญชีทวิตเตอร์ของสื่ออเมริกันชื่อดังอย่าง USA Today ที่ถูกแฮกไปเพียง 6 วันที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าขณะนี้ชื่อบัญชีทวิตเตอร์ของคนหรือหน่วยงานที่มีชื่อเสียงกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างเป็นรูปธรรม โดยเมื่อตรวจแถวชื่อบัญชีทวิตเตอร์ที่มีจำนวนผู้ติดตามมากที่สุดในโลก 9 อันดับนั้น ปรากฏว่า 7 คนเคยมีประวัติถูกแฮกมาก่อน และมีเพียง 2 คนเท่านั้นที่ไม่เคยถูกแอบอ้าง
แชมป์อันดับ 1 ที่มีจำนวนผู้ติดตามในทวิตเตอร์ (follower) มากที่สุดในโลกอย่างเลดี้ กาก้า (@ladygaga) ถูกแฮกครั้งล่าสุดเมื่อ 27 เมษายน 2011 ทำให้ผู้ติดตามมากกว่า 13.8 ล้านคนได้รับข้อความแอบอ้างว่าเป็นคำพูดของนักร้องสาว ก่อนจะสามารถกู้สถานการณ์ด้วยการเปลี่ยนรหัสผ่านกลับมาได้
คนดังอันดับ 2 ในทวิตเตอร์อย่างจัสติน บีเบอร์ (@justinbieber) ถูกแฮกครั้งล่าสุดเมื่อ 27 กรกฏาคม 2010 ครั้งนั้นมีเกร็ดเล่ากันว่า ชื่อบัญชีทวิตเตอร์ของเพื่อนจัสตินนั้นถูกแฮกจนมือป่วนสามารถได้ข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ของนักร้องหนุ่มไป เมื่อนักร้องหนุ่มได้รับโทรศัพท์จากแฮกเกอร์จึงรู้ข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ของมือป่วนรายนี้ @justinbieber จึงแก้แค้นด้วยการโพสต์เบอร์โทรศัพท์ของนักแฮกมือป่วนที่ติดตามจับมาได้แก่ผู้ติดตามมากกว่า 4 ล้านรายในขณะนั้น (ตอนนี้เพิ่มเป็น 12.8 ล้านคน) ปรากฏว่านักแฮกรายนี้ได้รับข้อความถล่มสั่งสอนถึง 26,000 ข้อความ หวังให้มือป่วนจำขึ้นใจว่าทีหลังอย่าทำอีก
อันดับ 3 คือ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา (@barackobama) ถูกแฮกครั้งล่าสุด คือ วันที่ 5 มกราคม 2009 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมีผู้ติดตาม 10.2 ล้านคน
นอกจากนี้ยังมีนักร้องดังอย่างเคที เปอร์รี (@kattyperry) ที่ถูกสวมรอยทวิตเตอร์ครั้งล่าสุดเมื่อ 29 มกราคมปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดตาม 10.1 ล้านคน, คิม คาร์ดาเชียน (@ kimkardashian) ถูกแอบอ้างแล้วประกาศข้อความลวงแก่ผู้ติดตาม 9.9 ล้านคนบนทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2011 ที่ผ่านมา ขณะที่ดาวค้างฟ้าอย่างบริทนีย์ สเปียรส์ (@brineyspears) ถูกแฮกทวิตเตอร์ครั้งสุดท้ายเมื่อ 12 พฤศจิกายน ปี 2009 ด้วยจำนวนผู้ติดตามข๊ะนี้ 9.7 ล้านคน
คนดังในทวิตเตอร์อันดับ7 และ 8 เท่านั้นที่ไม่เคยมีประวัติถูกแฮกแล้วแอบอ้างส่งข้อความโดยมือป่วน นั่นคือนักร้องสาวชากิร่า (@shakira) จำนวนผู้ติดตาม 8.7 ล้านคนและเทเลอร์ สวิฟท์ (@tayloeswift13) ผู้ติดตาม 8.1 ล้านคน
ขณะที่คนดังอันดับ 9 อย่างแอชตัน คุตเชอร์ (@aplusk) ผู้ติดตาม 7.7 ล้านคน ถูกแฮกไปเมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ทั้งหมดเป็นสถิติผู้ติดตามทวิตเตอร์ประจำวันที่ 26 กันยายน 2011
สถิติเหล่านี้ก่อเกิดคำถามตามมามากมาย เช่น เมื่อถูกแฮกแล้วจะเกิดอะไรขึ้น คนดังเหล่านี้ทำไมจึงมีอัตราการถูกแฮกทวิตเตอร์มากเช่นนี้ รวมถึงไม่มีวิธีที่จะลดความเสี่ยงในการถูกแฮกทวิตเตอร์เลยหรือ
ก่อนคำตอบข้อแรก คุณควรรู้ว่าทวิตเตอร์นั้นเป็นบริการรับส่งข้อความสั้น 140 ตัวอักษรที่เปิดให้บริการบนเว็บไซต์ twitter.com ทุกคนสามารถตะโกนบอกข้อความใดก็ได้ให้โลกรู้ด้วยการพิมพ์แล้วส่งออกไป โดยที่ทุกคนสามารถสมัครใจเลือกได้ว่าจะฟังข้อความจากใครบ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ คือคนดังที่มีชื่อเสียงรวมถึงบริษัทหน่วยงานต่างใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์หรือบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองโดยตรง โดยที่ผู้ที่มีความสนใจในคนดังหรือหน่วยงานนั้นสามารถรับข่าวสารใกล้ชิดได้เหมือนฟังจากปาก ผิดจากเดิมที่ต้องคอยอ่านข่าวหรือดูทางทีวีเท่านั้น
มือป่วนที่ต้องการกลั่นแกล้งคนดัง จะหาทางคาดเดารหัสผ่านชื่อบัญชีทวิตเตอร์ของคนดังเหล่านี้ เพื่อหาทางเจาะเข้าระบบหรือการแฮกเพื่อจะได้เข้าไปพิมพ์ข้อความ ซึ่งจะสร้างความเข้าใจผิดว่าคนดังรายนั้นเป็นคนโพสต์ข้อความป่วนด้วยตัวเอง
ผลกระทบเมื่อชื่อบัญชีทวิตเตอร์ถูกแฮกจึงเป็นความเข้าใจผิดในตัวคนดังหรือหน่วยงานนั้นจะเห็นได้ชัดจากกรณีสื่อใหญ่อย่าง USA Today ที่ถูกแฮกทวิตเตอร์แล้วมีการโพสต์ข้อความอ่อนไหวเกี่ยวกับคดีวินาศกรรม 11 กันยา ผลคือเอฟบีไอต้องเร่งมือสอบสวน เพื่อป้องกันและหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ชื่อบัญชีทวิตเตอร์ถูกแฮกง่ายดายเหลือเกินนั้นมีหลายสาเหตุ เช่นการตั้งรหัสผ่านที่ง่ายต่อการคาดเดาเกินไป ความประมาทของคนดังหรือเจ้าของชื่อบัญชีทวิตเตอร์เอง รวมถึงการใช้เทคนิกในการขโมยรหัสผ่านอื่นๆ
การตั้งรหัสผ่านที่ง่ายเกินไปนั้นเป็นประเด็นหลักที่ทวิตเตอร์เข้าใจและพยายามรณรงค์มาตลอด ล่าสุดทวิตเตอร์ออกประกาศรายการรหัสผ่านต้องห้ามเดาง่ายมากกว่า 300 คำ เช่น 000000, 123456, aaaaaa, password, xxxxxx, qwerty รวมถึง zzzzzz และอื่นๆอีกมาก
ขณะที่ความประมาทนั้น กรณีที่เห็นได้ชัดคือนางเอกสาวชมพู่ อารยา เอ ฮาร์เก็ต ที่เผลอวางแบล็กเบอร์รีซึ่งติดตั้งแอปพลิเคชันทวิตเตอร์พร้อมลงชื่อใช้งานเรียบร้อยไว้ ทำให้มีมือป่วนมาโพสต์ข้อความเหน็บดาราสาวรายอื่นจนกลายเป็นข่าวและทำให้ชมพู่ต้องออกมาแถลงความจริงในที่สุด
ยังมีกรณีบางหน่วยงานที่ถูกแอบอ้างทั้งที่ไม่เคยสมัครใช้บริการทวิตเตอร์มาก่อน จุดนี้จะสร้างความสับสนให้ผู้ติดตามซึ่งต้องหมั่นตรวจสอบเครื่องหมายแสดงว่า ชื่อบัญชีนี้ได้รับการยืนยันตัวบุคคลว่าเป็นคนดังตัวจริงเสียงจริง
ไม่ว่าจะสาเหตุไหน แต่สิ่งที่แน่นอนในตอนนี้คือความเสี่ยงเรื่องการถูกขโมยตัวตนบนทวิตเตอร์กำลังทวีความน่าเป็นห่วงมากขึ้น ดังนั้น ไม่เพียงการระมัดระวังเรื่องการถูกแฮก แต่ผู้ติดตามข่าวสารทางทวิตเตอร์ ก็ควรคิดก่อนเชื่อด้วยจึงจะดีที่สุด
Related Link :