รมว.ไอซีทีแจงได้เบาะแสมือแฮกทวิตเตอร์นายกฯ แล้ว ยันเป็นคนไทย-อยู่ในไทย ใช้มือถือก่อเหตุ แต่ไม่ขอเผยชื่อหวั่นเสียรูปคดี ประสานเครือข่ายมือถือหาเบาะแสรวบตัว จ่อทวบทวน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เอาผิดพวกโจรกรรมข้อมูลให้หนักขึ้น
วันนี้ (3 ต.ค.) น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีเบาะแสของผู้ที่แฮกทวิตเตอร์นายกรัฐมนตรีแล้ว เบื้องต้นทราบว่าผู้กระทำผิดเป็นคนไทย ซึ่งลักลอบเข้าใช้อีเมลของนายกรัฐมนตรีเพื่อเข้าใช้ทวิตเตอร์ และเปลี่ยนรหัสผ่านทั้งอีเมล และทวิตเตอร์ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 5, 7, 9 และ 14 โดยมีโทษสูงสุด จำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท
สำหรับทวิตเตอร์ของนายกฯ มีทีมงานที่รู้รหัสผ่านอีก 1 คนเท่านั้น ซึ่งไอซีทีจะไม่ตัดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคนในพรรคเพื่อไทยหรือทีมงานของนายกฯ ทิ้ง แต่จะรวบรวมข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งคนในและคนนอกให้รัดกุมมากที่สุด เพื่อป้องกันการจับผิดตัว
“ขณะนี้มั่นใจว่าผู้ก่อเหตุยังอยู่ในประเทศไทย และเป็นคนไทย ส่วนเบาะแสเบื้องต้นพบผู้กระทำความผิด ใช้โทรศัพท์มือถือเคลื่อนที่ในการโพสต์ข้อความ ซึ่งได้มีการประสานไปยังเครือข่ายมือถือที่ให้บริการแล้ว รวมทั้งมีเบาะแสหลายเรื่องแต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะอาจจะกระทบต่อรูปคดี หลังจากนี้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะเข้ามาจัดการเรื่องนี้ต่อ” น.อ.อนุดิษฐ์ระบุ และว่า การที่เครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊กถูกโจรกรรมไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมาประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐอมเริกา รวมทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ สำนักข่าวเอ็นบีซี ต่างเคยโดนในลักษณะเดียวกัน ซึ่งในกรณีนี้กระทรวงไอซีทีได้ประสานไปยังผู้ให้บริการทวิตเตอร์ในต่างประเทศ รวมทั้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ เพื่อขอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการสืบสวนสอบสวน
น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า ไอซีทีจะทบทวนร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ เพื่อให้มีความชัดเจนและรัดกุมการเอาผิดกับผู้ที่โจรกรรมข้อมูล และประเด็นในเรื่องต่างๆ มากขึ้น โดยจะทบทวนในแต่ละเรื่องใหม่และพร้อมที่จะเสนอ ครม.ทันทีที่ดำเนินการเรียบร้อย อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องความปลอดภัยในสังคมออนไลน์และระบบออนไลน์ของหน่วยงานราชการ เป็นสิ่งที่ต้องเร่งพัฒนา เพราะที่ผ่านมาระบบรักษาความปลอดภัยออนไลน์ของไทยไม่ได้รับความสำคัญมากนัก ประกอบกับงบประมาณที่จัดสรรสำหรับเรื่องดังกล่าวก็มีน้อย ดังนั้น กระทรวงไอซีทีเตรียมที่จะผลักดันให้หน่วยงานราชการให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้มากขึ้น และจะเสนอขอให้รัฐบาลพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อการรักษาความปลอดภัยบนโลกอินเทอร์เน็ตมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม การประชาสัมพันธ์นโยบายและการดำเนินงานของรัฐบาลผ่านเฟซบุ๊กเพียงอย่างเดียว โดยใช้ชื่อว่า Y.shinawatra ซึ่งต้องรอให้ทีมงานของนายกฯ เป็นผู้รายงานมาที่กระทรวงไอซีทีอีกครั้ง ทั้งนี้ คาดว่านายกฯ อาจจะแจ้งความดำเนินคดีด้วยตนเอง ขณะที่ตนเองไม่กลัวการถูกแฮกทวิตเตอร์