xs
xsm
sm
md
lg

ไอซีที-ค่ายมือถือเร่งช่วยน้ำท่วมภาคใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระทรวงไอซีที, เอไอเอส และทรูมูฟ เร่งระดมความเหลือช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเขตภาคใต้

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า กระทรวงไอซีทีได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เพื่อเร่งแก้ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี และเพื่อรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ทันต่อเหตุการณ์ โดยดำเนินการภายใต้ศูนย์บริหารข้อมูลช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือ War Room ในการบริหารและ บูรณาการข้อมูลที่ได้รับแจ้งเหตุภัยพิบัติและเรื่องราวความเดือดร้อนจากประชาชนและภาคส่วนต่างๆ พร้อมทั้งประสานงานกับหน่วยงานในจังหวัด หรือพื้นที่ประสบภัยผ่านเครือข่ายสื่อสารกลาง ซึ่งได้จัดวางระบบเครือข่ายสื่อสารกลางระหว่างพื้นที่ประสบภัยกับส่วนกลางเพื่อรับข้อมูลข่าวสารและเหตุภัยพิบัติที่เกิดขึ้นไว้เรียบร้อยแล้ว

“ประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมและต้องการแจ้งเหตุ หรือมีเรื่องราวเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือ สามารถแจ้งเข้ามาที่ศูนย์บริหารข้อมูลช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ โดยกระทรวงฯ เปิดช่องทางรับแจ้งเหตุไว้หลายช่องทาง ได้แก่ หมายเลขโทรศัพท์ 1111 หรือศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (GCC 1111) และหมายเลข 0-2141-6588 ซึ่งข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการรับแจ้งเหตุนี้ทางศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จะนำมาบริหารและจัดระบบฐานข้อมูลแล้ว ส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ประสบภัย เพื่อให้นำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ดำเนินการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนได้อย่างทันการณ์เป็นระบบ ตรงจุด และไม่เกิดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงาน” นายจุติ กล่าว

นอกจากนั้น กระทรวงฯ ยังได้ร่วมกับหน่วยงานในสังกัด ทั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานสถิติแห่งชาติ บมจ.กสท โทรคมนาคม บมจ.ทีโอที และบจ.ไปรษณีย์ไทย บูรณาการความร่วมมือเพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นให้ทันต่อเหตุการณ์ โดยกระทรวงฯ จะตั้ง หน่วยเฉพาะกิจ สำหรับการรับมือภัยพิบัติทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นอุทกภัย ภัยหนาว ภัยแล้ง และนำเทคโนโลยีการเตือนภัยในรูปแบบต่างๆ มาใช้ เช่น การใช้เทคโนโลยีด้านแผนที่ของกูเกิ้ล หรือ Google Map การใช้เทคโนโลยีจากดาวเทียม SMMS และการสนับสนุนข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

“การบูรณาการครั้งนี้ หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงฯ จะร่วมกันดำเนินการในด้านต่างๆ โดยสำนักงานสถิติฯ จะร่วมมือกับศูนย์เตือนภัยฯ วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับภัยพิบัติ ด้วยการให้สถิติจังหวัดบูรณาการข้อมูลกับจังหวัดต่างๆ แล้วส่งให้ส่วนกลางดำเนินการวิเคราะห์เพื่อวางแผนรับมือ นอกจากนั้นยังร่วมมือกันเพิ่มช่องทางในการรวบรวมข้อมูลความเดือดร้อนของประชาชนเพื่อการช่วยเหลือ โดยขอให้บุคลากรของสำนักงานสถิติจังหวัดในพื้นที่ประสบอุทกภัยออกสำรวจความต้องการความช่วยเหลือของผู้ประสบภัยที่อาจตกหล่นจากการรับทราบข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้ขอความร่วมมือจากเครือข่ายเพื่อนเตือนภัย หรือนักวิทยุสมัครเล่นในพื้นที่ให้ออกสำรวจความต้องการดังกล่าวด้วย"

ส่วนหน่วยงานอื่นในสังกัด คือ กรมอุตุนิยมวิทยาจะร่วมมือกับสำนักงานสถิติฯ ในพื้นที่ และเครือข่ายเพื่อนเตือนภัยของศูนย์ เตือนภัยฯ รวมทั้งทีมของจังหวัดต่างๆ เพื่อเข้าไปในพื้นที่และแจ้งข้อมูลข่าวสารการเตือนภัยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที ขณะที่ บมจ.กสทฯ และบมจ.ทีโอที ให้ดูแลเครือข่ายสื่อสาร คลื่นสัญญาณโทรศัพท์ในจุดที่ไม่สามารถทำงานได้ ให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ ด้าน บจ.ไปรษณีย์ไทย ให้ดูแลอำนวยความสะดวกเรื่องการขนส่งสิ่งของจำเป็นสำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วมดังกล่าว” นายจุติ กล่าว

** เอไอเอสมอบถุงยังชีพ **

นางวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการส่วนงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เอไอเอสได้เร่งระดมความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเขตพื้นที่ภาคใต้ โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานราชการ ทั้งกองทัพภาคที่ 4 กองพลทหารราบที่ 5 และ กาชาดจังหวัดสุราษฎร์ธานี มอบถุงยังชีพเอไอเอส จำนวน 1,000 ถุง พร้อมผ้าห่มกันหนาว จำนวน 200 ผืน และน้ำดื่ม จำนวน 3,000 ขวด เพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนในเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งยังได้มอบโทรศัพท์มือถือจำนวน 10 เครื่อง ให้แก่กองพลทหารราบที่ 5 และกาชาดจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อใช้สำหรับติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในการช่วยเหลือประชาชน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ พร้อมกันนี้พนักงานเอไอเอส ยังได้ลงพื้นที่นำน้ำดื่ม จำนวน 6,000 ขวด ไปแจกจ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้รับความเดือดร้อนด้วย”

"สำหรับเครือข่ายเอไอเอสที่ได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช และชุมพร เนื่องจากการไฟฟ้าตัดกระแสไฟฟ้าเพื่อป้องกันอันตราย ส่งผลให้เครือข่ายใช้งานได้ไม่คล่องตัว โดยเอไอเอสได้เตรียมการสำรองน้ำมันเพื่อใช้สำหรับเครื่องปั่นไฟ พร้อมทั้งเตรียมเครื่องปั่นไฟเคลื่อนที่ จำนวน 13 เครื่อง เพื่อใช้ในการปั่นไฟให้กับสถานีฐานในพื้นที่หลักๆ ให้ยังคงใช้งานได้ตามปกติ และยังได้ส่งรถสถานีฐานเคลื่อนที่ลงไปยังจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเสริมปริมาณการใช้งานและเป็นจุดให้บริการชาร์จแบตเตอรีโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับประชาชน"

นอกจากนี้ เอไอเอสได้ยังยกเว้นการระงับสัญญาณการให้บริการ สำหรับลูกค้าโพสต์เพดที่ครบกำหนดชำระค่าบริการในบริเวณพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 3 เมษายนนี้ รวมทั้งได้เพิ่มวันใช้งาน 20 วัน ให้แก่ลูกค้าที่อยู่ในระบบพรีเพด จนถึงวันที่ 18 เมษายนนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้าที่ประสบอุทกภัยในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ระนอง พังงา ชุมพร กระบี่ ตรัง และสงขลา

** ทรูมูฟเพิ่มวันใช้งาน **

ด้านของทรูมูฟ ร่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน 8 จังหวัด ได้แก่ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, พัทลุง, สงขลา, กระบี่, ตรัง และพังงา โดยมอบวันใช้งานเพิ่มอีก 30 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2554 เพื่อยืดอายุการใช้งานให้ลูกค้าแบบเติมเงิน และงดเว้นการระงับสัญญาณ สำหรับลูกค้าแบบรายเดือนที่ไม่สามารถชำระค่าบริการได้ตามกำหนด ไปจนถึง 17 เมษายน 2554
กำลังโหลดความคิดเห็น