ทำเรื่องดีก็เป็น รักษาการกสทช. สร้างกระบวนการอนุญาตนำเข้าอุปกรณ์โครงข่ายและเครื่องลูกข่ายอัตโนมัติ หากเอกสารครบไม่เกิน 5 วันอนุญาตนำเข้าได้
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ปฏิบัติหน้าที่แทน กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่าเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ประชุมบอร์ดมีมติให้สร้างกระบวนการอนุญาตนำเข้าอุปกรณ์โครงข่ายและเครื่องลูกข่ายมือถือเป็นแบบอัตโนมัติ
โดยเอกชนที่มายื่นคำร้องและมีเอกสารมาครบก็สามารถอนุญาตได้เลย หลังจากที่มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการตั้งแต่ศาลปกครองมีคำสั่งให้กทช.ระงับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่น 2100 MHzเมื่อวันที่ 23 ก.ย.53 ทำให้การขออนุญาตนำเข้าอุปกรณ์โครงข่ายและเครื่องลูกข่ายมือถือจะต้องนำเสนอให้บอร์ดพิจารณาก่อน และมอบอำนาจให้ พ.อ.นที และนายสุธรรม อยู่ในธรรม กรรมการ กทช. เป็นผู้อนุมัติ ซึ่งทำให้ขั้นตอนล่าช้าและเสียเวลามาก
'หลังจากนี้จะให้สำนักงาน กสทช. ไปทบทวนว่าความล่าช้าอยู่ตรงไหน และสร้างกระบวนการใหม่ขึ้นมาให้เป็นการอนุญาตแบบออโต้ เพื่อให้การขออนุญาตทั้งหมดใช้เวลาไม่เกิน 5 วัน หลังจากยื่นเอกสารครบ'
ส่วนกรณีการขยายโครงข่าย 3G ของทีโอทีและการทำสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่ระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคมและกลุ่มบริษัท ทรู นั้นที่ประชุมเห็นว่า กสทช. ควรมีจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว จึงให้สำนักงาน กสทช. ไปรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมานำเสนอต่อไป เพราะคณะกรรมการยังไม่เห็นรายละเอียดของสัญญาดังกล่าว
'โครงการ 3G ของทีโอทีเป็นการจัดซื้อจัดจ้าง ลงทุนขยายโครงข่าย ซึ่ง กสทช. สนับสนุนผู้ให้บริการทุกรายอยู่แล้ว ส่วนกรณีดีลระหว่าง กสท กับทรูคงต้องศึกษารายละเอียดอีกที'
พ.อ.นทีมองว่าจากข้อมูลที่เป็นข่าว เป็นการให้ทำตลาดแทน และให้บริการตามประกาศขายส่ง-ขายปลีก จึงไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตเพิ่ม ส่วนการซื้อฮัทช์ ก็เป็นกระบวนการตามปกติ ไม่น่าจะเกี่ยวกับ กสทช. แต่ก็ยังไม่เห็นข้อเท็จจริงในสัญญาที่ชัดเจนและต้องรอให้ทางสำนักงานกสทช.รายงานให้ทราบอีกครั้ง
สำหรับการขายส่งบริการ (MVNO) นั้น กสทช.ยังให้ใบอนุญาตใหม่ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตมาก่อนหน้านี้ ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้จนกว่าสัญญาเดิมที่ทำไว้จะหมดอายุและคงไม่กระทบกับ MVNO ของทีโอที เพราะสามารถเปลี่ยนไปให้บริการแบบขายส่ง-ขายปลีกได้ ทั้งนี้ หากเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประเภทที่ 1 จากกทช.เดิมก็สามารถดำเนินการได้ทันที ไม่ต้องขอใบอนุญาตใหม่
นอกจากนี้ บอร์ดยังตั้งคณะกรรมการศึกษาและเตรียมการให้ใบอนุญาตองค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ (ไทยพีบีเอส) เนื่องจาก พ.ร.บ.กสทช.กำหนดให้ต้องออกใบอนุญาตให้ภายใน 120 วัน หลัง พ.ร.บ.กสทช.ประกาศใช้
Company Relate Link :
กสทช.