สำนักวิจัยไอดีซีฟันธง ปี 2010 จะเป็นปีแห่ง"แอป"หรือแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ ปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นคือการแฝงตัวของแอปในทุกหนทุกแห่งของชีวิต เนื่องจากภาคธุรกิจน้อยใหญ่จะดึงแอปพลิเคชันมาเป็นช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภค โดยใช้อุปกรณ์ไฮเทคเคลื่อนที่เป็นประตู ในประเทศไทยก็เช่นกัน นักพัฒนาฯระบุว่าปี 2010 จะเป็นปีทองของโมบายล์แอปพลิเคชันไทยสำหรับแบล็กเบอรี่และไอโฟน สวนทางกับต่างประเทศที่มองว่าแอปสำหรับแอนดรอยด์จะเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในปีเสือ
คำทำนายของไอดีซีระบุว่า แอปพลิเคชันอุปกรณ์เคลื่อนที่หรือโมบายล์แอปพลิเคชันจะเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของภาคธุรกิจในปี 2010 เนื่องจากการใช้แอปของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่, แอปไอโฟนที่จะเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว, แอปแอนดรอยด์ที่จะเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว และการแจ้งเกิดของกองทัพแทปเล็ตพีซีในปี 2010 ทั้งหมดจะคิดเป็นจำนวนรวมไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านครั้ง ถือเป็นเค้กชิ้นมโหฬารที่นักการตลาดมองตาเป็นมัน
ไอดีซีระบุชัดเจนว่าแอปพลิเคชันไอโฟนจะเพิ่มจำนวนขึ้น 3 เท่าตัวในปีนี้ เท่ากับไอดีซีเชื่อว่าจำนวนแอปพลิเคชันสำหรับไอโฟนจะทะลุหลัก 300,000 แอป หากคำทำนายนี้เป็นจริง แอปพลิเคชันสำหรับไอโฟนจะต้องเพิ่มจำนวนไม่ต่ำกว่า 180,000 แอปในปีนี้ เมื่อเฉลี่ย 52 สัปดาห์ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2009 ที่ไอดีซีประกาศคำทำนาย จะพบว่าแอปเปิลจะต้องอนุมัติราว 500 แอปต่อวัน (ไม่เว้นวันหยุด) ซึ่งถือว่าไม่มากเกินไปเมื่อแอปเปิลระบุว่า ได้รับเสนอแอปพลิเคชันใหม่ราว 10,000 แอปต่อสัปดาห์
ในส่วนแอนดรอยด์ หากแอปพลิเคชันแอนดรอยด์เพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวจริงอย่างที่ไอดีซีทำนาย แอปแอนดรอยด์จะเพิ่มจำนวนจาก 20,000 แอปในขณะนี้ขึ้นอีก 80,000 แอป โดยกูเกิลจะต้องเพิ่มแอปพลิเคชันลงในตลาด Android Market ให้ได้เกิน 219 แอปพลิเคชันต่อวันตลอด 52 สัปดาห์ ไม่เว้นวันหยุดอีกเช่นกัน
เมื่อเทียบจำนวนแล้ว แม้ตลาดแอปพลิเคชันแอนดรอยด์ Android Market จะเป็นตัวเต็งที่ถูกมองว่าสามารถทาบรัศมี iPhone App Store ของแอปเปิลได้ แต่การสำรวจล่าสุดพบว่านักพัฒนาส่วนใหญ่"ไม่ปลื้ม"กับการพัฒนาแอปพลิเคชันแพลตฟอร์มแอนดรอยด์เพราะรายได้ที่ไม่คุ้มค่า จุดนี้เป็นสิ่งที่กูเกิลต้องปรับปรุง
***แอปบีบี-ไอโฟนในไทยโต
นายพรพจน์ ธัญญรัตตกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ทู ทรี เปอร์สเปกทีฟ จำกัด ให้ความเห็นว่าแอปพลิเคชันสำหรับแบล็กเบอรี่และไอโฟนจะมาแรงในตลาดไทยปีนี้ เนื่องจากทั้ง 2 แพลตฟอร์มมีความพร้อมมากกว่าแอนดรอยด์ ทั้งด้านการเป็นพันธมิตรกับผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในไทย, การทำการตลาด, ความน่าเชื่อถือและความนิยมของผู้ใช้, รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาบนแพลตฟอร์มสำหรับ Third Party หรือนักพัฒนาโปรแกรม
"จากสถิติยอดขายของโทรศัพท์ประเภทสมาร์ทโฟน จำนวนแอปพลิเคชันของแต่ละแพลตฟอร์ม และยอดการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันจะเห็นว่า BlackBerry และ iPhone เป็นผู้นำในตลาด ดังนั้นทั้ง 2 แพลตฟอร์มนี้จึงเป็นตัวเลือกสำคัญสำหรับนักพัฒนาในปีนี้"
อย่างไรก็ตาม พรพจน์ระบุว่านักพัฒนาโปรแกรมในประเทศไทยและทั่วโลกยังจำเป็นต้องติดตามความเคลื่อนไหวของแพลตฟอร์มแอนดรอยด์ แพลตฟอร์มโอวี่ (Ovi) จากโนเกีย ตลอดจนวินโดวส์โมบายล์ (Windows Mobile) ของไมโครซอฟท์ ว่าจะมีทิศทางอย่างไรต่อไป และเป็นที่นิยมของผู้ใช้หรือไม่ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้คือใครและจำนวนเท่าไหร่ ทั้งหมดเพื่อคำนวณโอกาสทางธุรกิจในการพัฒนาแอปพลิเคชันแพลตฟอร์มอื่นๆด้วย
พรพจน์ระบุว่า ปี 2009 ที่ผ่านมาถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการเติบโตของตลาดพัฒนาโปรแกรมบนโทรศัพท์มือถือของไทย เห็นได้จากภาคธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมได้เริ่มลงมือพัฒนาบริการบนโทรศัพท์มือถือมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมบันเทิง ดิจิตอลคอนเทนท์ และบริการ
"กระแสนิยมใน Social Network, วิถีชีวิตชาวไทยที่เปลี่ยนแปลงไป และการจำหน่าย-การทำตลาดโทรศัพท์มือถือ BlackBerry และ iPhone อย่างเป็นทางการของโอเปอเรเตอร์ในประเทศไทย ทำให้ตลาดพัฒนาโปรแกรมบนโทรศัพท์มือถือของไทย (และทั่วโลก) เติบโตขึ้นอีกมากในอนาคตแน่นอน"
พรพจน์อธิบายว่า ธุรกิจที่หันมาพัฒนาแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือนั้นมักเป็นธุรกิจที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ใช้สมาร์ทโฟน แอปพลิเคชันจึงถูกนำมาใช้เป็นลูกเล่นเพื่อทำการตลาด, ให้ความรู้หรือ educate ผู้บริโภค, กระตุ้นการใช้งาน ตลอดจนการทำ CRM และ One to One Marketing เพื่อสามารถตอบสนองเฉพาะบุคคล
"ข้อดีของการโฆษณาด้วยโปรแกรมโทรศัพท์มือถือเมื่อเทียบกับโปรแกรมบนอินเทอร์เน็ตที่เห็นได้ชัดเจนคือ โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์ที่อยู่กับผู้ใช้ตลอดเวลา ทำให้ผู้ใช้มีโอกาสเข้าถึงได้มากและบ่อยกว่าสื่อบนอินเตอร์เน็ต (และสื่ออื่นๆ) การโฆษณาด้วยแอปพลิเคชันสามารถทำการตลาดแบบ One to One ได้สมบูรณ์มากขึ้น เพราะแม้ว่าผู้ใช้จะยังไม่มีการลงทะเบียนการใช้งาน ก็ยังทำให้เข้าใจและทราบพฤติกรรมและความสนใจของกลุ่มเป้าหมายแต่ละบุคคลมากขึ้น"
บริษัท ทู ทรี เปอร์สเปกทีฟ จำกัด คือผู้พัฒนาโปรแกรมบนแพลตฟอร์มโทรศัพท์มือถือแบล็กเบอรี่ในชื่อ WiKalenda เป็นแอปพลิเคชันสำหรับค้นหางานแสดงสินค้า งานอีเวนท์ การแสดงต่างๆ และสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย กลุ่มเป้าหมายคือนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยมีกำหนดการเปิดตัวแอปพลิเคชันอื่นๆ บนแพลตฟอร์มแบล็กเบอรี่และไอโฟนภายในไตรมาสแรกของปี 2553
Company Related Links :
23Perspective