อยู่เฉยไม่ได้ รมว.ไอซีทีเป็นเจ้าภาพถกใหญ่ทั้ง ISP กทช. DSI หน่วยงานความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย หาทางบูรณาการจัดการเว็บไซต์ไม่พึงประสงค์ หลังอินเทอร์เน็ตกลายเป็นเครื่องมือบ่อนทำลายความมั่นคงประเทศ
ในวันนี้ (3 ก.ย. 52) เวลา11.30 น.ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมว.ไอซีที จะเป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่องการบูรณาการตรวจสอบและดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและผิดกฎหมายที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ตโดยงานดังกล่าวจะเป็นการระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตรายย่อย(ISP)ในประเทศไทยทั้งหมด รวมถึงคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ในฐานะผู้ให้ใบอนุญาตและผู้กำกับดูแล ISP หน่วยงานความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย และกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI
นายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงไอซีที กล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้เพื่อต้องการบูรณาการในเรื่องตรวจสอบและปิดเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมอย่างมีประสิทธิภาพเพราะที่ผ่านมาการขอความร่วมมือจากISP ไม่ราบรื่น 100% เนื่องจากพบว่ามี ISP บางรายที่ได้รับคำสั่งศาลให้มีการปิดกั้น URL ที่ไม่เหมาะสม แต่กลับปิดกั้นชั่วคราวเท่านั้น ไม่ได้ปิดกั้นถาวรแต่ไอซีทีกลับไม่มีอำนาจในการเข้าไปบังคับหรือกำหนดโทษ ISP ที่ฝ่าฝืนอำนาจศาล
ทั้งนี้ได้เชิญ กทช. ซึ่งเป็นผู้ให้ใบอนุญาตและกำกับดูแล ISP มาร่วมกันหามาตรการเอาผิด ISP ที่ไม่ให้ความร่วมมือ หรือ ร่วมกันออกกฎหมาย หรือกฏเกณฑ์ใหม่สำหรับลงโทษ ISP หากกฎหมายและกฏเกณฑ์ยังไม่มีการลงโทษ เพื่อเป็นข้อบังคับให้ISP ให้ความร่วมมือในการปิดกั้นเว็บไซต์ไม่เหมาะสม เพราะที่ผ่านมากทช.ระบุว่าไม่มีกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ใดๆในการลงโทษ
‘ที่ผ่านมา ISP ไม่ให้ความร่วมมือในการปิดกั้นเว็บไซต์ ทั้งยังไม่ให้ความใส่ใจในการเฝ้าระวังเว็บไซต์ไม่เหมาะสม โดยจะรอให้ไอซีทีขอความร่วมมือหรือส่งคำสั่งศาลปิดกั้นเว็บไซต์เท่านั้น นอกจากนี้จากการตรวจสอบไอซีทียังพบว่า ISP บางรายละเมิดคำสั่งศาล ด้วยการปิดกั้นเว็บไซต์ไม่เหมาะสมเป็นครั้งคราวแทนที่จะปิดถาวร’
นายสือ กล่าวว่า กรณีความคืบหน้าเรื่องการตรวจสอบคลิปเสียงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 52 ได้พบต้นตอการส่งคลิปเสียง 3 แห่ง และได้ส่งเรื่องต่อให้ตำรวจเข้าไปตรวจสอบจับกุมผู้เกี่ยวข้องดำเนินคดีต่อไป
ส่วนกรณีที่มีข่าวออกมาว่ากระทรวงไอซีที เข้าจับกุมตัวนักเรียนที่จ.เพชรบูรณ์ ในฐานความผิดส่งต่อคลิปตัดต่อเสียงนายกฯทางอีเมล เมื่อช่วงเช้าวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น ในเวลาประมาณ 17.00 น. วันเดียวกัน นายณัฐวุฒิ จิตะสมบัติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีไอซีที กล่าวว่า ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงไอซีทีลงพื้นที่จ.เพชรบูรณ์จริง เนื่องจากได้รับรายงานว่ามีเบาะแสการส่งข้อมูลเผยแพร่คลิปเสียงตัดต่อของนายกฯในพื้นที่จ.เพชรบูรณ์ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของไอซีทีจึงต้องลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ยืนยันว่าไม่มีการจับกุมเด็กนักเรียนอย่างที่เป็นข่าวแต่อย่างใด ส่วนเรื่องที่ว่าตำรวจภาค6 ไม่รู้เรื่องการที่ไอซีทีลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นเพราะไอซีทีไม่ได้เข้าจับกุมจึงไม่ต้องแจ้งตำรวจให้ทราบ
แหล่งข่าวกล่าวว่าที่ผ่านมาการจัดการเว็บไซต์ไม่เหมาะสมโดยเฉพาะที่เผยแพร่ข้อความปลุกระดมเพื่อสร้างความไม่สงบในประเทศ ไม่มีผลสำเร็จเท่าที่ควรเนื่องจากยังมีเว็บไซต์ไม่เหมาะสม และคลิปเสียงที่เป็นการปลุกระดมมวลชนออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยกรณีล่าสุดคือการปล่อยคลิปตัดต่อเสียงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีสั่งใช้ความรุนแรงกับม็อบเสื้อแดงเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา
เรื่องที่เกิดขึ้นสร้างความโกลาหลในกระทรวงไอซีทีจนรมว.ไอซีที ต้องออกแรงสั่งการเร่งให้ตรวจสอบคลิปเสียงนายกฯ โดยไอซีทีได้เร่งระดมขอความร่วมมือ ISP ปิดกั้น URL ข้อความเกี่ยวกับคลิปเสียงดังกล่าว หลังจากทราบเรื่องในวันที่ 27 ส.ค. 52 และได้ส่งคลิปเสียงดังกล่าวไปให้ บริษัท กันตนาตรวจสอบ และพบว่ามีการตัดต่อทั้งหมด 16 จุด ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมด 80% ของความยาวคลิปเสียง 3 นาที
อย่างไรก็ตาม ถ้าตรวจสอบเนื้อหาให้ครอบคลุม 100% คาดว่าจะพบจุดที่ตัดต่อไม่น้อยกว่า 20 จุด แต่เนื่องจากใช้เวลาในการตรวจสอบน้อยทำให้การตรวจสอบเนื้อหายังไม่สมบูรณ์
สำหรับ ตัวอย่างข้อความที่พบว่ามีการตัดต่อเสียงในคลิปดังกล่าวมีดังนี้ คือในช่วงนาทีที่ 2.20-2.28 นาที มีบรรยากาศและเสียงรบกวนไม่คงที่ผิดกับช่วงหลัง ซึ่งสรุปว่าถ้าไม่ตัดต่อเสียงบรรยากาศและเสียงรบกวนต้องคงที่ ซึ่งเป็นประโยคว่า “ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในช่วงที่มีการปฏิบัติการสลายการชุมนุม” ส่วนอีกจุดที่พบมีการตัดต่อ คือ ช่วงเวลานาทีที่ 2.58 นาที ซึ่งพบว่าคำไม่สมบูรณ์ หัวประโยคขาด ไม่ต่อเนื่อง และจุดที่ 3 คือ มีเสียงบรรยากาศไม่คงที่ ประโยคไม่สมบูรณ์ และจังหวะการอ่านไม่เป็นธรรมชาติ
ส่วนการปิดกั้นเว็บไซต์ที่เผยแพร่คลิปเสียงนายกฯนั้น รมว.ไอซีทีได้ยื่นขอคำสั่งศาลเพื่อปิดเว็บไซต์ที่เผยแพร่แล้วโดยที่ผ่านมากระทรวงไอซีที ได้จัดตั้งห้องวอร์รูม(War Room) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็นศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยอินเทอร์เน็ต หรือ Internet Security Operation Center (ISOC) เพื่อเฝ้าระวังตรวจหาเว็บไซต์ไม่เหมาะสม โดยปัจจุบันไอซีทีได้รับเรื่องร้องเรียนพบเห็นเว็บไซต์หมิ่นสถาบันฯถึงวันละ 100 URL แต่ดูเหมือนการดำเนินการของไอซีทีไม่สามารถสกัดกั้นเว็บไซต์ได้ดีเท่าที่ควรเพราะยังคงมีข้อความและเว็บไซต์บ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศเกิดขึ้นรายวัน
สำหรับเว็บไซต์ในประเทศที่รู้กันทั่วว่ามีการใช้ข้อความหมิ่นสถาบันอย่างเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน และเว็บไซต์ประชาไทนั้นไอซีทีไม่สามารถดำเนินการปิดกั้นได้เพราะข้อความที่อยู่ในเว็บไซต์ดังกล่าวไม่ระบุชื่อชัดเจนแต่ใช้นามแฝง ซึ่งการส่งฟ้องศาลจำเป็นจะต้องมีการระบุชื่อหรือขึ้นภาพถ่ายที่ชัดเจน
Company Related Links :
MICT