xs
xsm
sm
md
lg

ทำเงินบนโลกไอที (9) : บันได 11 ขั้นเพื่อการ"โกอินเตอร์"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

หน้าแรกเว็บไซต์ Sripanwa.com หนึ่งในตัวอย่างการสร้างแบรนด์ไทยบนโลกออนไลน์เพื่อบุกตลาดต่างประเทศที่น่าสนใจ
ใครต่อใครมักพูดกันว่า อีคอมเมิร์ชนั้นสามารถเปิดตลาดโลกได้ แต่ทุกคนรู้ดีว่าน้อยคนนักที่สามารถสร้างชื่อและไปแจ้งเกิดบนเวทีโลกได้อย่างใจหวัง สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ วิธีการโกอินเตอร์ด้วยเครื่องมือบนอินเทอร์เน็ตนั้นมีอยู่ แต่คุณได้ลงมือประยุกต์ใช้ช่องทางออนไลน์ให้เหมาะสมกับธุรกิจแล้วหรือยัง

บทสรุปบันได 11 ขั้นเพื่อการสร้างแบรนด์แบบโกอินเตอร์นี้เป็นวิสัยทัศน์ของ "บุรินทร์ เกล็ดมณี" ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท แกรนด์ แพลนเน็ท เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์สำเร็จรูปสัญชาติไทย "ReadyPlanet.com" ที่ประกาศตัวว่าเป็นผู้ให้บริการรายแรกและรายเดียวที่ให้บริการในต่างประเทศ โดยเปิดให้บริการ ReadyPlanet.ws (อเมริกา) และ ReadyPlanet.cn (ประเทศจีน) สำหรับชาวต่างชาติ และชาวไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ

บุรินทร์จะชี้ให้คุณเห็น 11 สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำในการสร้างแบรนด์บนโลกออนไลน์เพื่อบุกตลาดต่างประเทศ ซึ่งแม้บุรินทร์จะยอมรับว่าเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ แต่หากคุณพยายามอย่างจริงจัง ความสำเร็จก็ย่อมไม่ไกลเกินเอื้อม

***การสร้าง Brand ในต่างประเทศให้ยั่งยืนและเติบโต
บทความโดย บุรินทร์ เกล็ดมณี (www.readyplanet.com)

การสร้าง brand เป็นหนึ่งในงานสำคัญด้านการตลาดแต่เป็นงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป เห็นผลช้าแต่ก็มีจุดเด่น คือถ้าทำได้แล้วจะเกิดความยั่งยืน สร้างประโยชน์ในด้านการตลาดให้กับเจ้าของสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง เพราะ Brand ที่ติดตลาดแล้วจะอยู่ในใจของลูกค้าเสมอ ส่วนคู่แข่งที่จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดก็จะต้องใช้ทรัพยากรมากในการสร้าง Brand อันใหม่ขึ้นมา

มีเจ้าของธุรกิจกลุ่มหนึ่งมองว่า การทำตลาดในประเทศไทยเพียงอย่างเดียวเป็นตลาดที่เล็ก จึงสนใจจะทำตลาดต่างประเทศและใช้การสร้าง Brand ผ่านการทำ E-marketing เป็นตัวนำ เพราะมองว่าการใช้ E-marketing จะมีต้นทุนต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับการใช้ช่องทางการตลาดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกงานนิทรรศการในต่างประเทศ การแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ หรือการใช้สื่อต่างประเทศช่องทางอื่น

การจะสร้าง Brand ในต่างประเทศได้นั้น ย่อมหมายถึงสินค้าหรือบริการมีชื่อเสียงอยู่แล้วระดับหนึ่งในเมืองไทย เป็นสินค้าหรือบริการที่ดี มีความโดดเด่น มีความแตกต่าง มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนในตัวเอง และใช้ช่องทางออนไลน์ในหลากหลายรูปแบบที่จะช่วยทำให้การสร้าง Brand ประสบความสำเร็จได้

"We had a wonderful time in Phuket, mostly because of the royal treatment at Sri panwa." สโลแกนข้างต้นเป็นของเจ้าของรีสอร์ตหรูแห่งหนึ่งในภูเก็ต เป็นตัวอย่างการสร้าง Brand ผ่าน E-marketing ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง "Charn Issara Group" ซึ่งเป็นเจ้าของเริ่มด้วยการจัดทำเว็บไซต์คือ www.Sripanwa.com ที่ผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ได้สัมผัสถึงความตั้งใจของเจ้าของเว็บไซต์ด้วยการออกแบบที่สวยงาม มีรูปถ่ายในแต่ละมุมมองที่ล้วนน่าประทับใจ มีรายละเอียดที่ครบถ้วนสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการแสดงตัวตนของเจ้าของอย่างชัดเจนใน About us

พร้อมทั้งใช้จุดแข็งที่มีเจ้าของเป็นยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์มาเป็นตัว backup ในการสร้างความน่าเชื่อถือ และแสดงข่าวประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ของรีสอร์ตผ่านช่องทางสื่อทุกประเภทในเห็นในหัวข้อ Press Sripanwa สร้าง Brand ผ่านช่องทาง Blog ด้วยการเปิด Sripanwa.blogspot.com เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของแขกผู้มีเกียรติและมีชื่อเสียงที่เคยมาพักในรีสอร์ตหรูแห่งนี้ รวมถึงรวมภาพกิจกรรม อาหาร และข่าวสารต่าง ๆ นอกจากนั้น Sripanwa ยังเปิด Sripanwa on Facebook ที่ปัจจุบันมี fans อยู่นับพันและเผยแพร่กิจกรรมต่าง ๆ ผ่าน social network ชื่อดังแห่งนี้

การผสมผสานระหว่างการใช้เว็บไซต์ซึ่งเป็นการแสดงข้อมูลอย่างเป็นทางการกับ การใช้ Blog และ social network ที่แสดงออกถึงความผ่อนคลาย เบาสบายแต่ก็ให้ข้อมูลแบบไม่เป็นทางการไปตลอดเวลา รวมถึงการสร้างเครือข่ายสมาชิกของแขกที่มาพักผ่อนที่คอยติดตามข่าวสารต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ล้วนเป็นการสร้าง Brand โดยใช้เครื่องมือออนไลน์ที่ลงตัว ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดี และเป็นการประชาสัมพันธ์รีสอร์ทแห่งนี้แบบปากต่อปากต่อเนื่องกันไป

ถ้าจะสรุปว่าความสำเร็จทางธุรกิจจากตัวอย่างของ Sripanwa เกิดจากอะไรแล้ว ก็คงต้องบอกว่าเกิดจากการจัดการหลายด้านประกอบกัน เช่น การจัดการด้านการตลาด การขาย การผลิต การเงิน บุคคลากร ฯลฯ ตามปกติของธุรกิจจะต้องใช้การจัดการด้านการตลาดเป็นตัวนำ กล่าวคือ หากไม่สามารถกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และสร้างสินค้าหรือบริการที่ดี ที่โดดเด่น มีความแตกต่าง และนำเข้าไปสู่ยังกลุ่มเป้าหมายได้แล้ว ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จในธุรกิจได้ ส่วนการจัดการด้านอื่น ๆ ก็จะถูกดำเนินการ ตามมาตามลำดับ

การจัดการด้านการตลาดด้วย E-marketing มีบทบาทอย่างมากในโลกยุคปัจจุบันที่ผู้บริโภคใช้ช่องทาง internet ในการเข้าถึง สินค้าหรือบริการ และเข้าถึงความคิดเห็นที่หลากหลายของผู้บริโภคด้วยกันผ่านช่องทาง social networking ต่าง ๆ ซึ่งที่เห็นโดยทั่วไปก็ คือผ่านเว็บบอร์ด E-mail และชุมชนสังคมออนไลน์ต่าง ๆ

สำหรับการบุกตลาดต่างประเทศด้วย E-marketing นั้น นอกจากการสร้าง Brand ดังตัวอย่างที่ยกไปแล้วนั้น หากจะรวบรวมกระบวนการใช้ E-marketing ในการขยายธุรกิจไปตีตลาดต่างประเทศ ตั้งแต่ต้น ก็พอจะสรุปได้ย่อ ๆ ดังนี้

1. วิเคราะห์ตลาดของประเทศนั้น ๆ ว่า มีคู่แข่งขันที่ทำธุรกิจอยู่แล้วเป็นใครบ้าง วิธีการที่ง่ายที่สุดก็คือ การใช้ Search Engine ค้นหาข้อมูลของประเทศนั้น ๆ ที่รู้จักกันดีก็คือใช้ google.com สำหรับตลาดอเมริกา ส่วน google ของประเทศอื่น ก็เข้าไปที่ http://www.google.co.th/language_tools?hl=th เลือกธงชาติประเทศนั้น ๆ ก็ทำให้เราค้นหาข้อมูลคู่แข่งที่อยู่ในประเทศนั้น ๆ ได้ เพราะผลการค้นหาของผู้ที่อยู่ในประเทศนั้น ๆ จะถูกแสดงก่อน

2. กำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ว่าเป็นคนท้องถิ่นที่ใช้ภาษาท้องถิ่น หรือเป็นคนต่างประเทศในประเทศนั้น ๆ แล้วใช้"คีย์เวิร์ด"ตามภาษาของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ลอง search ดูถ้าไม่รู้ภาษาท้องถิ่น ก็ใช้ search across languages ของ google จากข้อ 1 ก็ได้ ซึ่งก็จะนำไปสู่หน้าผลการค้นหาที่ถูกแปลด้วย google translation เป็นภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษตามแต่เราต้องการ เท่านี้ก็ทำให้เราเห็นได้ว่า มีใครทำธุรกิจนี้อยู่บ้างในประเทศนั้น ๆ

3. กำหนดจุดเด่น ความแตกต่างของตัวเราในตลาดประเทศนั้น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำได้ (หรืออย่างน้อยก็คิดว่าทำได้) ดีกว่าคนอื่น ๆ ซึ่งทั้ง 3 ข้อนี้ จริง ๆ แล้วก็คือการทำ SWOT Analysis นั่นเอง เพียงแต่ใช้ internet ช่วยให้เราทำการวิเคราะห์เหล่านี้ได้ง่ายดายขึ้น

4. หลังจากมั่นใจแล้วว่า เราจะบุกตลาดประเทศนั้นจริง ๆ ก็เริ่มต้นสร้างเว็บไซต์ด้วยภาษาท้องถิ่น หรือภาษาอังกฤษ ตามที่กำหนดกลุ่มเป้าหมายเอาไว้ หลักการสร้างเว็บไซต์หลายภาษา มีวิธีจดโดเมนเนมหลายวิธี ที่ดีที่สุดคือ การแยกโดเมนเนมไปเลย เช่น www.xyz.com เป็นภาษาอังกฤษ, www.xyzJapan.com เป็นภาษาญี่ปุ่น ฯลฯ แล้วทำ link กันเพราะจะมีผลต่อการโปรโมทเว็บไซต์ในขั้นตอนต่อไป ส่วนวิธีการแยกเป็น subdomain ก็ใช้ได้ เช่น www.xyz.com เป็นภาษาอังกฤษ jp.xyz.com เป็นภาษาญี่ปุ่น ฯลฯ แล้วก็ทำ link ไปมาหากัน บนหน้าเว็บไซต์ไปกลับอีกที

ตรงนี้ต้องระวังการจดโดเมนเนมที่ไม่ค่อยดี คือ การทำให้หลายภาษาอยู่ในเว็บไซต์เดียวกัน เช่น www.xyz.com/index.php?lang=1 เป็นภาษาหนึ่ง และ www.xyz.com/index.php?lang=2 เป็นภาษาที่สอง แบบนี้เป็นการเปลี่ยนตัวแปลรหัสภาษาเท่านั้น หรือวิธีแบบนี้ เช่น www.xyz.com/thai เป็นภาษาไทย และ www.xyz.com/eng เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งทั้งสองวิธีนี้ ทำให้เรามี domain name สำหรับการโปรโมทอันเดียว แต่มีหลายภาษาปนอยู่ในโดเมนเนมนั้น ซึ่ง Search Engine จะไม่ค่อยยอมให้เว็บไซต์แบบนี้ติดอันดับที่ดี ดังนั้นจึงเกิดปัญหาว่า เพราะมีหลายภาษาเลยติดอันดับไม่ดีสักภาษาหนึ่งเลย

5. ทำเว็บไซต์ให้น่าเชื่อถือ เพราะความน่าเชื่อถือมีความสำคัญสูงสุดกับผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อกับผู้ขายที่อยู่ต่างประเทศ การสร้างความน่าเชื่อถือทำได้หลายวิธีเช่น ทำเว็บไซต์ให้สวยงาม มีรายละเอียดสินค้าที่ครบถ้วน ทำ About us ให้ดี มีรายละเอียดเจ้าของเว็บไซต์และรูปภาพจริง มี certification&Reference ต่าง ๆแสดงการรับรอง ฯลฯ มีการรับประกันสินค้า (ถ้ามี) มี contact us หลากหลายช่องทาง เช่น ใช้ email ที่เป็นโดเมนเนมของเราเอง ถ้ามีการส่ง mail มาก็จะต้องมีการตอบกลับอย่างรวดเร็ว ดูเป็นมืออาชีพ ใช้ contact form ที่น่าเชื่อถือ ใช้เบอร์โทรจริง ถ้ามีเบอร์โทรในประเทศนั้น ๆ ได้ก็จะยิ่งดี (ใช้บริการ call forwarding โอนสายมาที่มือถือเราในเมืองไทยได้เลย ราคาไม่แพง แต่ต้องมีคนคอยรับโทรศัพท์)

หากเรามีช่องทางการขายอื่น ๆ ในประเทศนั้น ๆ แล้ว ก็ควรอ้างอิงไป เพื่อแสดงถึงการมีตัวตนและทำธุรกิจนี้อย่างจริงจัง

6. ประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ เริ่มจากการ add link / submit link เหมือนที่ทำในตลาดเมืองไทย แต่ไปทำกับเว็บไซต์ใหญ่ ๆ ของประเทศนั้น ๆ สามารถค้นหาได้ด้วยวิธีเดียวกับข้อ 1,2 ข้างต้น ที่น่าสนใจเพิ่มเติมคือ ควร submit ให้อยู่ใน yahoo directory และ dmoz.org เพราะทั้งสองเว็บนี้ มีผลต่อการติดอันดับของ google สูง

7. Google Adwords ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น หาคีย์เวิร์ดที่ราคาไม่แพงและแตกต่างด้วย google keyword tools โดยอย่าลืมเปลี่ยนภาษาและประเทศก่อนการใช้ ไม่จำเป็นต้องแข่งขันกับรายใหญ่ในประเทศนั้นอย่างรุนแรงเพราะการเริ่มต้นคือการพยายามที่จะแบ่งตลาดบางส่วนก่อนเท่านั้น

8. ศึกษาพฤติกรรมการใช้ internet ของประเทศเป้าหมาย เช่น การใช้ search engine ของคนจีน ใช้ baidu.com มากกว่า google ตอนเริ่มบุกตลาดต้องใช้ระบบ pay-per-click ของ search engine ท้องถิ่นร่วมด้วย

9. สร้าง brand ของเว็บไซต์ เช่น สร้าง Testimonials คือลูกค้าคนแรก หรือหลายคนแรก ให้เกิดขึ้นให้ได้ พยายามดูแลลูกค้ากลุ่มนี้ให้ดี ผู้บริโภคต่างประเทศไม่อยากเป็นลูกค้าคนแรกกับเว็บไซต์นี้ ดังนั้นถ้าสร้างความประทับใจให้ลูกค้าได้ และขอนำข้อมูลจริงของลูกค้ามาพร้อมทั้งคำชื่นชม(แต่พอดี) มาเผยแพร่ จะสร้างความน่าเชื่อถือได้มาก

อาจมีการสร้าง Member get Member Program ให้สิทธิประโยชน์กับลูกค้าที่แนะนำลูกค้าใหม่ โดยให้สิทธิพิเศษ ทั้งลูกค้าผู้แนะนำและลูกค้าใหม่ เพื่อให้เกิดการบอกต่อโดยเร็ว แต่ก็ขึ้นกับสินค้าและบริการด้วยว่าควรทำหรือไม่ หรือจะสร้าง Affiliate Program ด้วยระบบง่าย ๆ ถ้าทำได้ ก็จะทำให้เกิดการบอกต่ออย่างรวดเร็วในกลุ่มผู้บริโภคออนไลน์

10. ทำ email marketing ให้ดี ไม่ให้เป็น SPAM ทำให้เกิดความต้องการรับ email เพื่อรับข่าวสารและสิทธิประโยชน์ ดี ๆ จากเว็บไซต์ สร้างให้เกิด viral marketing ด้านบวกด้วย campaign พิเศษ (เท่าที่จะมีงบประมาณ) เช่น ชิงรางวัลผ่านเว็บไซต์แบบที่ดูดี ไม่เอาเปรียบลูกค้า

11. สร้างระบบสมาชิก เพื่อดึงกลุ่มที่สนใจให้เข้ามามีความผูกพันและเหนียวแน่นอีกระดับหนึ่ง ด้วยเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์สำหรับสมาชิกที่ดีจริง เช่น ได้รับข่าวสารเฉพาะที่เป็นที่ต้องการ ได้รับสินค้าตัวอย่าง ฯลฯ ถ้าจะสร้างเว็บบอร์ด ต้องแน่ใจว่าควบคุมการ post ให้เป็นด้านบวกได้ และได้ประโยชน์มากกว่าโทษ

หากการบุกตลาดเมืองไทยทำได้ยากแล้ว การบุกตลาดต่างประเทศยิ่งยากกว่าหลายเท่า เพราะความไม่เข้าใจในวัฒนธรรม การใช้ชีวิต การแข่งขันทางธุรกิจ และข้อมูลต่าง ๆ ที่เราจะมีได้น้อยกว่า แต่โลกออนไลน์ช่วยให้เราศึกษาข้อมูลได้ง่ายขึ้น ทำกิจกรรมการตลาดได้ง่ายขึ้น และโอกาสความสำเร็จเป็นจริงได้มากขึ้น ซึ่งความสำเร็จนั้นหมายถึงการได้ยอดขายและกำไรจากตลาดที่ใหญ่กว่าตลาดในเมืองไทยหลายสิบหลายร้อยเท่านัก

ขอเพียงมีความตั้งใจและพยายามอย่างจริงจัง ความสำเร็จเป็นจริงได้แน่นอน.
Sripanwa on Facebook ที่มี fans ชาวต่างประเทศอยู่นับพัน
สร้าง Brand ผ่านช่องทาง Blog ด้วยการเปิด Sripanwa.blogspot.com
หน้าเพจเครื่องมือด้านภาษาของกูเกิล เพื่อการวิเคราะห์ตลาดของประเทศนั้นๆ ซึ่งเป็นบันไดขั้นแรกของ 11 ขั้นตอนเพื่อการสร้างแบรนด์ในตลาดโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น