กสท แจงการใช้งบ หลังถูกโจมตีอย่างหนัก เผยไทยเดย์ ขอสนับสนุนงบโฆษณาเป็นเรื่องปกติ ระบุหนังสือพิมพ์และสื่อทุกประเภทเสนอทำเหมือนกันหมด ส่วนงบ 490 ล้านบาทเป็นกรอบวงเงินตามแผนธุรกิจในภาพรวม ไม่ทำเฉพาะรีแบรนด์ เผยเป็นคนละส่วนกับงานสื่อสารการตลาดบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ 001 และ 009 โต้กสทไม่ได้ย่ำแย่ แจงมี EBITDA ปีที่ผ่านมา 29,932 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.76% แถมตั้งเป้ารายได้รวม 52,098 ล้านบาท สวนกระแสเศรษฐกิจโลก จากปีที่ผ่านมามีรายได้รวม48,000 ล้านบาท
นายสมพล จันทร์ประเสริฐ รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจการตลาด บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) เปิดเผยถึงกรณีที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ ประชาสัมพันธ์องค์กรมากเกินความจำเป็น และระบุว่า กรณีที่บริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัดได้ยื่นขอโฆษณางบประชาสัมพันธ์กับกสท จำนวน 16 ล้านบาท นั้นเป็นการดำเนินงานปกติของสื่อทั่วไปที่ต้องเสนอแผนโฆษณากับกสทเป็นประจำทุกปี ปีละหลายครั้ง และกสทยังไม่ได้ตกลงรับข้อเสนอและยังไม่มีการจ่ายเงินแก่บริษัทดังกล่าว ซึ่งการยื่นขอของไทยเดย์ต้องเข้าตามระเบียบ และกสท จะดำเนินคัดเลือกตามความเหมาะสมระเบียบของกสทเป็นหลัก
“การยื่นขอสนับสนุนงบประชาสัมพันธ์ของไทยเดย์ นั้นเป็นเรื่องปกติที่สื่อต้องดำเนินการและที่ผ่านมาสื่อทุกประเภทรวมถึงหนังสือพิมพ์ทุกฉบับอาทิ ไทยรัฐ โพสต์ทูเดย์ เดลินิวส์ เนชั่น บางกอกโพสต์ ฯลฯ ฝ่ายขายโฆษณาจะต้องดำเนินการยื่นเสนอขอสนับสนุนงบประมาณเป็นประจำทุกปี”
อย่างไรก็ดีการนำเสนอขอสนับสนุนดังกล่าว กสท จะพิจารณาตามความเหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อบริการและภาพลักษณ์ กรณีของไทยเดย์ กสท ก็ต้องพิจารณาว่าจะเลือกใช้สื่อประเภทไหนในเครือ และการนำเสนอของงบประมาณของไทยเดย์ ไม่ได้อยู่ในส่วนโครงการจัดจ้างพิเศษงานสื่อสารการตลาดบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ 001 และ 009 มูลค่า 127.9 ล้านบาท ที่บอร์ดกสท อนุมัติ
“ส่วนงบประมาณ รีแบรนด์กสท ที่บอร์ดอนุมัติ จำนวนประมาณ 490 ล้านบาทภายในระยะเวลา 3 ปีตั้งแต่ 2551 – 2553 นั้น เป็นกรอบวงเงินตามแผนธุรกิจในภาพรวม ไม่ได้ระบุแบ่งแยกเฉพาะส่วนที่ดำเนินการรีแบรนด์ และ งบประมาณจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นงบทำการและงบประจำปีตามปกติ หากไม่มีการรีแบรนด์ก็เบิกจ่ายอยู่แล้ว แต่เมื่อมีการรีแบรนด์ก็เพียงแต่ปรับเปลี่ยนข้อมูลเนื้อหาให้สอดคล้องกับแบรนด์ใหม่ เช่น การปรับปรุงโรงอาหาร การปรับปรุงสำนักงานบริการลูกค้า ฯลฯ โดยกรอบวงเงินงบประมาณที่เพิ่มขึ้นมาเฉพาะการรีแบรนด์จริง ๆ เป็นเงิน 199 ล้านบาท และใช้จ่ายไปแล้วเป็นเงิน 25.16 ล้านบาท”
เนื่องจากโครงการดังกล่าวได้ผู้ดำเนินการแล้วได้แก่ 001ว่าจ้างบริษัท ฟาร์อิสท์ ดีดีบี จำกัด(มหาชน) ในราคา 59.8 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 % เป็นมูลค่ารวม 63.9 ล้านบาท ส่วน 009 ได้ว่าจ้าง บริษัท แอมแมกซ์ ทีม แอ๊ดเวอร์ไทซิ่ง จำกัดในราคา 59.8 ล้านบาท บวกภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 % เป็นวงเงินมูลค่ารวม 63.98 ล้านบาท
นายสมพลกล่าวต่อว่า ผลประกอบการของ กสท ไม่ได้ประสบปัญหาแต่อย่างไร เนื่องจากกสท มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ในปี2551 เท่ากับ 29,932 ล้านบาท เทียบกับปี 2550 ที่มี EBITDAจำนวน 29,127 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าเพิ่มขึ้น 805 ล้านบาท หรือประมาณ 2.76% และหากพิจารณา EBITDA ไม่รวมสัญญาสัมปทาน 2551 เท่ากับ 5,819 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 651 ล้านบาทหรือประมาณ 12.6% จากปี 2550 ที่มี EBITDA ราว 5,168 ล้านบาท
สำหรับปีนี้ กสทมีเป้าหมายรายได้ 52,098 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ที่รวมสัมปทานแล้ว และหากยังไม่รวมสัมปทาน กสทจะมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจของ กสทเอง 21,700 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมา กสทมีรายได้รวมสัมปทานประมาณ 48,000 ล้านบาท หากไม่รวมสัมปทาน กสทจะมีรายได้ 19,885 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ในสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวถือว่าสภาพคล่องของบริษัทยังไม่ขาดสภาพคล่องจึงไม่มีแผนกู้เงินลงทุนในปีนี้ ถึงแม้จะมีโครงการใหญ่อย่างเช่น บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด หรือ ฮัทช์ ยอมขายโครงข่ายให้ในจำนวน 6,000 ล้านบาท และ ต้องปรับโครงข่าย CDMA เป็น HPDA มูลค่า 5-6 พันล้านบาท
นอกจากนี้ กสทมีแผนดำเนินธุรกิจไฟเบอร์ทูเดอะโฮม (FTTH หรือ บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสายใยแก้วนำแสง) โครงการ 3 ปี โดยเบื้องต้นจะติดตั้งบริเวณกรุงเทพฯและหัวเมือง โดย กสทจะต้องเสนอแผนต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคาดใช้งบประมาณลงทุนไม่ต่ำกว่า 3-4 พันล้านบาท หากผ่านความเห็นชอบจากสภาพัฒน์ ก็คาดว่าจะสามารถติดตั้งโครงการในระยะแรกได้ประมาณปลายปีนี้ ซึ่งเชื่อว่าหากโครงการนี้สำเร็จก็สามารถทำให้ กสทเป็นผู้นำการบริการได้ไม่ยาก
Company Related Links :
Cattelecom