ต่อไปนี้คือบางส่วนของผลงานที่ถูกแสดงในมหกรรมประกวเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทยครั้งที่ 8 หรือ Thailand ICT Contest Festival 2009 ซึ่งศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติหรือเนคเทค (Nectec) ระบุว่าเป็นงาน "สุดยอดเด็กไทยโชว์กึ๋น" รวบรวมความเป็นอัจฉริยะของเยาวชนไทยทั่วประเทศที่จะทำให้คนทั้งโลกรู้ว่า นักคิด นักประดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์ และนักพัฒนาเยาวชนไทยนั้นไม่แพ้ใครในโลก
หนึ่งในผลงานโดดเด่นของเด็กไทยที่ถูกแสดงในงานนี้คือ "PineApple" ซอฟต์แวร์ประสานภาพจากกล้องเวบแคมรอบทิศทาง นำภาพในมุมมอง 60 องศาของเวบแคมธรรมดามาเชื่อมกันจนกลายเป็นภาพ 360 องศา ผู้จัดทำระบุว่าเป็นซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สที่สามารถสร้างภาพวีดีโอพาโนรามาแบบเรียลไทม์ต้นทุนต่ำ เหมาะนำไปใช้ในการประชุมทางไกล ระบบรักษาความปลอดภัย และใช้งานส่วนตัว รวมถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ พัฒนาโดยนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายธีระพล วัธนเวคิน (ในภาพ) และนายธนากร ลี่สถาพรวงศา
ขณะที่นักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภูมิใจนำเสนอโปรแกรมที่ทำการไปรษณีย์เคลื่อนที่ Mobile Post Office โปรแกรมนี้ถูกพัฒนามาเพื่อคำนวณค่าบริการไปรษณีย์บนพีดีเอ เพื่อให้บุรุษไปรษณีย์สามารถเดินทางไปให้บริการตามบ้านได้ มีการติดตั้งบนเครื่องต้นแบบซึ่งสามารถยิงบาร์โค้ด ชั่งน้ำหนัก และคำนวณค่าบริการได้โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องเดินทางไปที่ทำการไปรษณีย์ ประหยัดพลังงานชาติและไม่ต้องรอคิวนาน ขณะเดียวกันประชาชนทั่วไปก็สามารถใช้ประโยชน์จากโปรแกรมนี้ได้ด้วยการตรวจสอบค่าบริการบนพีดีเอของตัวเอง Mobile Post Office นี้พัฒนาโดยนายนพวิชัย บุตตะกะ
นายธนกร วงศ์บุณยเวธน์ นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปิ้งไอเดียกระดานอิเล็กทรอนิกส์ราคาประหยัด นำ Wiimote อุปกรณ์เสริมของเครื่องเกมนินเทนโดวี (Wii) ซึ่งสามารถรับแสงอินฟราเรดและระบุพิกัดของแสงนั้นบนฉากรับแสงได้ มาประยุกต์กับไวท์บอร์ดธรรมดา กลายเป็น Wiimote Whiteboard ที่ผู้ใช้สามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ผ่านไวท์บอร์ดที่ฉายผ่านโปรเจคเตอร์ได้ทันที โดยไม่ต้องไปยืนควบคุมเมาส์หน้าคอมพิวเตอร์
เคล็ดลับของระบบนี้คือ IR LED Pen ปากกาลำแสงอินฟราเรดซึ่งจะทำงานแทนเมาส์ Wiimote เป็นตัวรับพิกัดการเขียนบนไวท์บอร์ด และจับคู่ตำแหน่งพิกัดบนไวท์บอร์ดเข้ากับหน้าจอคอมพิวเตอร์ โปรแกรมควบคุมการทำงานของระบบทำให้เมื่อผู้ใช้เขียนสิ่งใดบนไวท์บอร์ด ก็จะเหมือนการเขียนบนคอมพิวเตอร์ผ่านเมาส์
ในงานมีโปรแกรมด้านความบันเทิงที่เชื่อว่าจะถูกใจวัยรุ่นแสดงอยู่ด้วย นายภูเบศ ไหวดี และนายปาณัฐ อินอภัย สองนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ร่วมกันสร้าง "อารยธรรมนครเกมกลองมายา" หรือ Drummer Zone ในรูปโปรแกรมเกมประเภทเข้าจังหวะ จุดเด่นของเกมอยู่ที่ผู้เล่นสามารถตีกลองผ่านอากาศได้ ไม่ต้องมีกลองแต่ต้องมีเว็บแคม ผู้เล่นสามารถแสดงท่าตีกลอง ขยับแขนและขาให้ตรงกับจังหวะภาพบนจอ ซึ่งจะฉายให้เห็นถึงลูกบอลที่หล่นลงมากระทบกับภาพอุปกรณ์แต่ละชิ้นของกลองบนหน้าจอ ทฤษฎีการประมวลผลภาพดิจิตอล และ VMM Basic ช่วยทำให้ภาพผู้เล่นกำลังตีกลองชุดอย่างเมามันส์ปรากฎบนหน้าจอแบบเสมือนจริง
สิ่งที่สังเกตได้ในงานนี้คือมีโปรแกรมมากมายที่นักพัฒนาตั้งใจสร้างมาเพื่อผู้พิการ หนึ่งในนั้นคือ Virtual Stroke ระบบสอนผู้พิการทางสายตาเขียนหนังสือ พัฒนาโดยนายชย จันทร์สมิตมาศ นางสาววรรณพร เดชภิญญา และนายณพวัฒน์ ศิรินิ่มนวลกุล Virtual Stroke เกิดขึ้นบนความเชื่อที่ว่าการเขียนหนังสือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้พิการ โดยเฉพาะการเซ็นชื่อเพื่อทำธุรกรรมนานาชนิดด้วยตนเอง เช่น การเปิดบัญชีธนาคาร เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมา หากไม่มีผู้เซ็นแทน ผู้พิการหลายรายเลือกที่จะ"เซ็นมั่ว"ซึ่งลายเซ็นในแต่ละครั้งมักจะไม่เหมือนกัน
Virtual Stroke ใช้เสียงเป็นเครื่องมือสอนผู้พิการได้อย่างฉลาด มีการติดอุปกรณ์ที่กระดานสำหรับแนบกระดาษเพื่อส่งเสียงความถี่สูงเมื่อผู้ใช้ลากเส้นขึ้น ส่งเสียงความถี่ต่ำลงเมื่อลากเส้นลง ส่งเสียงไปยังลำโพงซ้าย-ขวาตามทิศทางการลากเส้น หลักการนี้จะทำให้ผู้พิการสามารถจดจำเสียงที่แตกต่างกันของตัวอักษร และฝึกฝนการเขียนหนังสือด้วยตัวเองได้ง่าย
งานนี้ยังมีต้นแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์คลื่นลูกใหม่มากมายจัดแสดง ทั้งเครื่องเปิดหนังสือด้วยเท้า ระบบตัวสะกดนิ้วมือภาษาไทย ระบบให้อาหารสัตว์เลี้ยงอัตโนมัติ ระบบสร้างแพคเกจ Debian สำหรับนักพัฒนาฝีมือเด็กม.2 และอื่นๆ เชิญพิสูจน์ด้วยตาคุณเองที่รอยัลพารากอนฮอล์ ชั้น 5 สยามพารากอน วันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ 2552
Company Related Links :
Nectec