xs
xsm
sm
md
lg

ไอทีไทยปี 51 : ปีแห่งพาเหรดสินค้าไอที ความหวั่นใจ และการขายฝัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

MacBookAir
จากการประมวลข่าวรอบปี "ผู้จัดการไซเบอร์"พบว่าสิ่งที่โดดเด่นที่สุดในวงการไอทีประเทศไทยตลอดปี 2551 คือพาเหรดสินค้าไอทีและเทคโนโลยีใหม่ที่ยกพลมายั่วใจผู้บริโภคชาวไทยไม่ขาดสาย ส่วนสิ่งที่ทำให้ชาวไอทีหวั่นใจที่สุดในรอบปีคือวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ จะกลายเป็นสึนามิเงินทำลายวงการไอทีไทยด้วยหรือไม่

แต่สิ่งที่น่าผิดหวังที่สุดเห็นจะเป็นภาพรวมการทำงานของกระทรวงไอซีทีในปีนี้ ที่โดดเด่นเพียงแค่การปราบปรามเว็บหมิ่นฯเท่านั้น ไม่มีผลงานเป็นชิ้นอันหรือสามารถสางปัญหาหน่วยงานในเขตปกครองได้เต็มที่อย่างที่อดีตเจ้ากระทรวงเคยตั้งใจไว้

ปีแห่งการพาเหรดสินค้าไอที

ข่าวการนำสินค้าตระกูลแอปเปิลเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยนั้นได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้อ่าน"ผู้จัดการออนไลน์" ทั้งข่าวการนำ"แมคบุ๊กแอร์"มาขายในประเทศไทย ข่าวการเปิดตัวแมคบุ๊กและแมคบุ๊กโปรรุ่นล่าสุดซึ่งทำจากวัสดุอะลูมิเนียมชิ้นเดียว ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และข่าวการจำหน่ายเครื่องเล่นเพลงไอพ็อดที่รองรับภาษาไทย ซึ่งแอปเปิลบอกอย่างมั่นใจว่าไม่ช้าเกินไปที่เพิ่งพัฒนาให้ไอพ็อดรองรับภาษาไทยได้ในปีนี้

ปีนี้เป็นปีที่แอปเปิลโหมทำตลาดนักศึกษาเป็นพิเศษ มีการเปิดศูนย์จำหน่ายสินค้าแอปเปิลในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง และเช่นเดียวกับทุกปี แอปเปิลประเทศไทยไม่เคยให้ข้อมูลยอดจำหน่ายสินค้าในประเทศ โดยแอปเปิลสำนักงานใหญ่เคยให้ข้อมูลว่า จำหน่ายไอพ็อดไปแล้วทั้งสิ้น 160 ล้านเครื่อง นับตั้งแต่การเปิดตัวครั้งแรกในปี 2001

ข่าวสินค้าไอทีในประเทศที่ติด 20 อันดับผู้อ่านมากที่สุดในเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ เช่น "Aspire one โน้ตบุ๊กจิ๋วเอเซอร์เปิดจองคอมมาร์ต", "HTC ปรับราคารับไอโฟน 3G", "อินเทลเปิดตัว“อะตอม”ราคาถูก เจาะกลุ่มเด็กนักเรียน-กำลังซื้อต่ำ", "เอชพีส่ง "HP Mini 1000" มินิโน้ตบุ๊กรุ่น2ลุยตลาดคอนซูเมอร์", "ดีคอมฯคลอด"DMA" พีซี-โน้ตบุ๊กพลังเอเอ็มดี" และ "โน้ตบุ๊กเอเซอร์ลดเหลือ 13,900 บาทในคอมมาร์ต" ล้วนแสดงให้เห็นว่าสินค้าไอทีที่พาเหรดมายั่วใจคอไอทีไทยในปี 51 โดดเด่นที่ราคาเป็นพิเศษ ปี 52 จะเป็นอย่างไรต้องรอดูกัน

ปีแห่งการเสิร์ช

เสิร์ชเอนจินทั้งกูเกิลและยาฮูให้ข้อมูลตรงกันว่า คำว่า “พระพี่นาง” ถูกสืบค้นมากที่สุดในกลุ่มประเด็นข่าวเช่นเดียวกับบทเพลง “แสงหนึ่งคือรุ้งงาม” ถูกสืบค้นมากที่สุดในหมวดศิลปิน-เพลง แสดงให้เห็นว่าประชาชนชาวไทยสนใจพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระพี่นางฯ อย่างมาก

ขณะเดียวกัน การเมืองที่ร้อนแรงทำให้ไม่แปลกใจเลยเมื่อยาฮูประเทศไทยประกาศว่า “ASTV” คือคำที่ถูกสืบค้นมากเป็นอันดับหนึ่งในปี 51 ขณะที่กูเกิลบอกว่า ปี 51 คนไทยพยายามค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับคำว่า “ถูก”, “ราคาดี” และ “ลดราคา” มากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยกูเกิลบอกว่า ปี 51 คนไทยค้นหาคำว่า “ถูก” เพิ่มขึ้น 164% จากปี 50 ส่วนคำว่า “ราคาดี” เพิ่มขึ้น 113% และ “ลดราคา” ถูกค้นหาเพิ่มขึ้น 79%

นอกจากนี้ การค้นหาข้อมูลกรณีพิพาทเรื่องเขาพระวิหาร การเช็กราคาทองคำ ราคาน้ำมัน และราคาข้าวที่ผันผวนตลอดปี ก็มีสัดส่วนสูงมากในการสืบค้นข้อมูลของยาฮู โดยไม่ว่าจะกี่ปี คำว่า"เพลง"ก็ยังคงเป็นแชมป์คำสืบค้นข้อมูลออนไลน์ที่คนไทยนิยมใช้งานมากที่สุดในกูเกิล

ปีแห่ง“คลิปหลุด”

เพื่อเกาะติดสถานการณ์ของ"คลิปหลุด"ช่วงเดือนกันยายนที่ถือว่าระบาดหนักที่สุดในรอบปีนี้ ผู้จัดการออนไลน์ได้สอบถามท่าน “ว.วชิรเมธี” เพื่อไขข้อข้องใจว่าผู้เกี่ยวข้องกับคลิปหลุดนี้ใครบาปกรรมที่สุด ข่าวนี้ได้รับความสนใจอย่างมากติดอันดับที่สุดแห่งปี

พระอาจารย์บอกว่า ใครก็ตามที่เป็นต้นทางสร้างและส่งต่อคลิปวิดีโอแอบถ่ายที่ทำลายชื่อเสียงของ “ดาราจำเป็น” ล้วนบาปหนักกว่าคนที่ดูคลิปแล้วทิ้งไป พร้อมระบุว่าวิบากกรรมของคนเหล่านี้คือจะไปเกิดเป็นคนที่ไม่มีความเชื่อถือในวงสังคม จะทำดีให้ตายชื่อเสียงจะเสียหายโดยไร้สาเหตุ ส่วนคนที่ดูคลิปแล้วส่งต่อบาปกรรมหนักรองจากต้นทาง ขณะที่การซื้อหนังก๊อบปี้-โปรแกรมผี นั้นพระนักเทศน์บอกว่า ผิดศีลข้อ 2 นั่นก็คือการลักทรัพย์ เป็นการทำให้ผู้อื่นเสียประโยชน์ คนที่ซื้อโปรแกรมเถื่อนบาป 100% ถือว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมบาป สมรู้ร่วมคิด และสมรู้ร่วมผิด เพราะรู้ว่าเป็นของเถื่อนก็ยังซื้อมา

หากต้องการทำบุญไถ่บาปท่าน “ว.วชิรเมธี”แนะว่า สิ่งแรกที่ควรทำ คือ เลิกพฤติกรรม แล้วเผยแพร่ธรรมหรือสิ่งที่ดีงามเพื่อชดใช้สิ่งที่ได้ทำไป ไม่เช่นนั้นก็จะไม่พ้นจากวิบากสังคมประณาม อะไรที่ดูแล้วจิตใตตกต่ำนั้นเป็นบาปทันที เมื่อใดที่จิตมัวหมองจะเป็นบาปเมื่อนั้น ดังนั้น อย่าดู อย่าเกี่ยวข้องเลยจะดีที่สุด อุปมาเหมือนคนที่เอามือไปจิ้มไฟแล้วบอกว่าไม่ร้อนนั้นเป็นไปไม่ได้ กินเกลือแล้วบอกว่าไม่เค็ม ก็เป็นไปไม่ได้

ปีแห่งความหวั่นใจ

ความหวั่นใจที่เกิดขึ้นในปี 51 หนีไม่พ้นความหวั่นใจว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์จะกระทบวงการไอซีทีไทยมากเพียงใด หลังจากสถาบันการเงินรายใหญ่ของสหรัฐฯเกิดวิกฤตจนล้มละลาย

ไอดีซีประจำประเทศไทย ออกมาประเมินผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวว่า จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจไอซีทีไทยในทางอ้อมมากกว่าทางตรง กรณีเลวร้ายสุดๆเชื่อว่า ภาคการเงินและธนาคารของไทยจะชะลอการลงทุนทุกอย่างราว 3-5 ปี แต่ยังมั่นใจว่าภาคธุรกิจรายย่อย (SME) และผู้บริโภคทั่วไป (Consumer) ในประเทศไทยจะยังเติบโตอีกมาก

ขณะเดียวกัน ไอดีซีก็เชื่อว่าการใช้จ่ายไอซีทีของกลุ่มบริษัท Telco จะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะบริษัทยังต้องดำเนินการตามที่กฎหมายระบุ ขณะที่ภาคการผลิตก็ยังต้องการใช้งานเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยไอดีซีเชื่อว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะคงโดดเด่นในปี 52 เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดอื่นๆทั่วโลก คาดว่ามูลค่าของตลาดไอทีในประเทศไทยโดยรวมจะอยู่ที่ 6.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ปีแห่งการเขียนบล็อก

ผลสำรวจผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตไทยประจำปี 2551 จากตัวอย่าง 14,809 คนของเนคเทค พบว่าคนไทยนิยมเขียนบล็อก และใช้งานเว็บไซต์สังคมออนไลน์มากขึ้น โดยมีการใช้งานร้านอินเทอร์เน็ตลดลงเป็นจำนวนมาก หันไปใช้งานที่บ้านผ่านมือถือ และ ADSL มากขึ้น

ส่วนปัญหาสำหรับคนใช้อินเทอร์เน็ตอันดับหนึ่งยังเป็นไวรัส รองลงมาเป็นแหล่งยั่วยุทางเพศ

เว็บไซต์สังคมออนไลน์ยอดนิยม คือ Hi5 และ Wikipedia โดยผู้ที่ใช้บริการส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี และผู้หญิงมีแนวโน้มในการทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้และแลกเปลี่ยนรูปภาพมากกว่าผู้ชาย ส่วนผู้ชายมีแนวโน้มในกิจกรรมหาเพื่อนใหม่ผ่านอินเทอร์เน็ตมากกว่ากลุ่มผู้หญิง

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบอกว่าใช้งานสังคมออนไลน์เป็นแหล่งข้อมูลความรู้เป็นหลัก รองลงมาคือแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ ส่วนแนวโน้มการใช้อินเทอร์เน็ตในปีหน้า จะมีการขยายตัวของการใช้สังคมออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น บล็อก เว็บไซต์ประเภทสังคมออนไลน์ หรือแม้แต่สารานุกรมต่อยอด

ปีแห่งการ“เด็ดหัว”เว็บหมิ่น

มาดูข่าวในกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที กันบ้าง ผลงานที่เด่นที่สุดของกระทรวงไอซีทีในปี 51 คือการปราบปรามเว็บไซต์เผยแพร่เนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างจริงจัง มีการออก 5 มาตรการเพื่อมอบนโยบายให้ผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตรายย่อย (ISP) ปิดกั้นเว็บหมิ่นฯ อย่างเคร่งครัด โดยระบุโทษรุนแรง พร้อมส่งเรื่องให้ กทช.ยึดใบอนุญาต ISP หากเตือนเกิน 3 ครั้งแล้วยังไม่ยอมปฏิบัติตาม

ทว่า ภายหลังจากวันนั้นจวบจนถึงวันนี้ความคืบหน้าก็ยังไม่มีให้เห็นแม้แต่เศษเสี้ยวเดียว เว็บหมิ่นก็ยังปรากฏอยู่เกลื่อนทางออนไลน์ แถมยังมีข่าวฉาวโฉ่ออกมาจากกระทรวงฯว่า รองปลัดไอซีทีได้งาบงบลับจัดการเว็บหมิ่นสถาบันไปใช้ส่วนตัวอีก ทำเอาข้าราชการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจในสังกัดไอซีที รู้สึกผวาและเข็ดขยาดกับพฤติกรรมลูกหลานและบริวารการเมืองกลุ่มนี้ ที่จ้องหาประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประเทศชาติ งานนี้เหล่าข้าราชการน้ำดีต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า "พอกันที"

ปีแห่งการขายฝัน

"รุ่งเรือง ลิ้มชูปฏิภาณ์" ผอ.ใหม่ซิป้าขายฝันปั้นภูเก็ตเป็น “ซิลิคอน วัลเลย์” ตั้งแต่ต้นปี 51 หวังพัฒนาเศรษฐกิจระดับภาค พร้อมสร้างงานให้คนไทยเพิ่มมากขึ้น มีการวาดหวังว่าจะแย่งงานเอาต์ซอร์สจากเวียดนาม ด้วยการเสนอตัวขอทดลองทำก่อน ร่วมกับการเดินหน้าเจรจา ทีโอที และ กสท พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอกับความต้องการผู้ประกอบการไอทีต่างชาติ

ไม่เพียงปั้นภูเก็ตเป็นซิลิคอนวัลเลย์ ซิป้ายังประกาศเมื่อครั้งร่วมมือ 7 สมาคมซอฟต์แวร์ไทย คลอดแผนแม่บทประจำปี 51 เมื่อเดือนเมษายน ตั้งเป้าล่าฝันสร้างมูลค่าซอฟต์แวร์ไทยขึ้นหลักแสนล้านบาทใน 3 ปี เดินตามนโยบายรัฐบาลเป็นหลัก หลังจากนั้นไม่นาน เนคเทคก็ได้จับมือกระทรวงไอซีที เชิญองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมประชุมเพื่อจัดทำแผนแม่บทฉบับที่ 2 องค์กรขานรับตบเท้าเข้าร่วมกว่า 10 แห่ง ซึ่งต้องรอดูผลดำเนินการต่อไปในอนาคต

ทีมงานหวังว่าข่าวทั้งหมดที่ยกขึ้นมา คงทำให้ผู้อ่านที่ติดตามข่าวไอทีเป็นประจำได้หวนรำลึกถึงไม่มากก็น้อยนะครับ ครั้งหน้าทางทีมงานจะพาไปดูสรุปข่าวต่างประเทศในรอบปีนี้(2008) กันบ้าง ว่าต่างแดนเขาพัฒนาไปถึงไหนกันแล้ว อย่าลืมคอยติดตามนะครับ

ทีมงาน Cyber Biz
ชิปอินเทลตระกูลอะตอม (Atom)
พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี
นาโน ไอพ็อดบางที่สุดที่แอปเปิลเคยผลิต
Macbook รุ่นใหม่
นายมั่น พัธโนทัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที
กำลังโหลดความคิดเห็น