เอชพีเปิดตัวแพลตฟอร์มระบบจัดเก็บข้อมูลใหม่ล่าสุด หวังครองใจลูกค้ารายใหญ่ที่ไม่ใช้เอชพี เพราะแพลตฟอร์มนี้เน้นการเปิดเสรีที่สามารถทำร่วมกับสตอเรจของค่ายอื่นได้ฉลุย ยอมรับปีหน้าเศรษฐกิจแย่ แต่ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสซึ่งส่วนหนึ่งเป็นโอกาสชิงลูกค้าจากคู่แข่ง ส่วนราคาไม่เปิดเผยแต่ยืนยัน"ของเอชพีไม่มีคำว่าราคาแพง"
นายวีระ ตั้งติยะพันธ์ ผู้จัดการธุรกิจ StorageWorks Division กลุ่มธุรกิจ Technology Solutions Group บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (ประเทศไทย) หรือเอชพี กล่าวถึงแพลตฟอร์มระบบจัดเก็บข้อมูลใหม่ล่าสุดของเอชพี ซึ่งประกอบด้วยซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์สำหรับการทำงานแบบเสมือนบนเครือข่ายจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ (เวอร์ชวลไลเซชัน) ว่าเกิดขึ้นเพื่อกลุ่มลูกค้าที่ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์เก็บข้อมูลของเอชพี ให้ลูกค้ากลุ่มนี้ได้มีทางเลือกใหม่แทนที่จะต้องจมอยู่กับแบรนด์เดิมตลอดไป
"แพลตฟอร์มนี้ออกมาเพื่อให้ลูกค้าที่ไม่ใช้เอชพี สามารถขยายมาใช้ผลิตภัณฑ์เอชพีได้ ขณะเดียวกัน ก็สามารถใช้ประโยชน์จากสตอเรจเดิมที่มีอยู่ได้ด้วย เราต้องการเปิดทางให้ลูกค้ามีทางเลือก ไม่ใช่เจ้านี้แพงมากแต่ก็ต้องกัดฟันซื้อเจ้าเดิมต่อไปเรื่อยๆ"
แพลตฟอร์มสตอเรจล่าสุดของเอชพีมีชื่อว่า SVSP (SAN Virtualization Service Platform) เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถทำเวอร์ชวลไลเซชันระหว่าง อุปกรณ์สตอเรจของเอชพีและของผู้ค้ารายอื่นได้แบบไร้รอยต่อ โดยจะรวมศูนย์การบริหารจัดการสภาพแวดล้อมของระบบเครือข่ายการจัดเก็บข้อมูล (SAN) ไว้ในรูปแบบเสมือน จุดนี้วีระอธิบายว่า หากสตอเรจของเดิมที่องค์กรมีอยู่นั้นทำงานแบบเวอร์ชวลไลเซชันอยู่แล้ว SVSP ก็สามารถทำงานได้โดยไม่ซ้ำซ้อน
"มั่นใจว่าแพลตฟอร์มนี้จะไม่มีผลกับยอดขายฮาร์ดแวร์ด้านสตอเรจของ เอชพี เราก็ยังทำตลาดสตอเรจเหมือนเดิมแต่แค่ต้องการเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า SVSP สามารถทำเวอร์ชวลไลซ์ซ้อนก็ได้หรือแยกกันก็ได้ หรือเป็น แค่การสร้างเส้นทางก็ได้ กลุ่มเป้าหมายคือองค์กรระดับใหญ่, มี array เก็บข้อมูลมากกว่า 2, มีแนวโน้มใช้งานสตอเรจเพิ่มขึ้น 30-50% ในอนาคตแต่มีทรัพยากรเหลืออยู่ 50-60% เป็นองค์กรที่ต้องการสำรองและเคลื่อนที่ข้อมูลบ่อยครั้ง และต้องใช้งานข้อมูลต่อเนื่องตลอดเวลาเช่นกลุ่มธนาคาร สื่อสาร ภาครัฐ หรือเฮลธ์แคร์"
วีระแสดงตัวเลขการสำรวจจากบริษัท วิจัยไอดีซีว่า ความต้องการระบบจัดเก็บข้อมูลเสมือนในตลาดจะเพิ่มเป็น 902 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2008 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.6 พันล้านเหรียญในปี 2012 โดยราว 35% ของผลิตภัณฑ์ SAN ที่ถูกจัดส่งในปี 2011 จะมาพร้อมเทคโนโลยีเสมือน
"โควตายอดขายที่เอชพีให้ผมมานั้นให้มาก่อนเกิดวิกฤตในเมืองไทย หลังเกิดวิกฤตก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโควตา ยอมรับว่าหนักใจ แต่ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส เช่นเกิดวิกฤตในส่งออก เราก็ต้องไปหาที่อื่น เจ้าที่มีปัญหาเราทำอะไรไม่ได้ ต้องไปหาตลาดเพิ่ม อย่างหนึ่งคือตลาดของคู่แข่ง" วีระกล่าว "เราอาจจะทำเป็นแพกเกจมากขึ้น เช่น ซื้อนั่นแถมนี่ ซื้อแล้วได้ครบไปเลย อีกอย่างคือเรามีโครงการ Train Try Buy คือให้มาลองดู Train ว่าการสำรองข้อมูลมีความจำเป็นแล้วเอาไปลองใช้ แล้วค่อยซื้อ"
แม้วีระจะยืนยันว่าเอชพีให้ความสำคัญกับตลาด SMB ต่อเนื่องแต่ผลิตภัณฑ์ใหม่ของเอชพีล้วนพุ่งเป้าที่องค์กรขนาดใหญ่เงินหนา โดยนอกจาก SVSP เอชพียังเปิดตัวโซลูชันการเข้ารหัสดิสก์และการจัดการคีย์รุ่นใหม่ ซึ่งเน้นการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล
"เอชพีทำให้การเข้ารหัสข้อมูลทำได้ที่ดิสก์เลย เหมือนการเข้ารหัสในท้องแม่ ออกมาเป็นเทปก็เข้ารหัสอีก การส่งแบ็กอัปข้ามไซต์คนละยี่ห้อก็ทำได้ สมัยก่อนต้องซื้อซอฟต์แวร์เพิ่ม แต่ตอนนี้ไม่ต้องแล้ว ตอนนี้เอชพีทำฮาร์ดดิสก์ Solid State เหมือนแฟลชแล้ว ขณะที่ระบบจัดการคีย์รุ่นล่าสุด สามารถสร้างคีย์ได้ 2,000,000 คีย์ต่อคลัสเตอร์ ของเอชพีไม่มีคำว่าราคาแพง มีแต่คำว่าราคาเหมาะสม"
วีระแสดงความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มตลาดสตอเรจไว้ว่า ระบบที่สร้างความคุ้มค่าให้แก่องค์กรจะโดดเด่นมากในภาวะเศรษฐกิจถดถอย
"ปีหน้าเศรษฐกิจไม่ดีแน่นอน เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ประหยัด ผมเชื่อว่าเทคโนโลยี Deduplicate หรือการเก็บข้อมูลที่ไม่ซ้ำซ้อนนั้นมาแน่นอน เวอร์ชวลฯ และ Green พวกนี้มาอยู่แล้ว บริษัทจะมองว่าของเก่าที่มีอยู่จะทำอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด การซื้อใหม่จะต้องคิดหนักแต่จะเน้นเรื่อง Add on หรือการซื้อเพิ่มมากกว่า เอชพีมองไว้แล้ว ผลิตภัณฑ์ของเอชพีจึงเน้นทั้งการทำ Add on และผลิตภัณฑ์ใหม่"
Company Related Links :
HP