Friendster เครือข่ายชุมชนออนไลน์ที่การันตีตัวเองว่าเป็นเบอร์หนึ่งของเอเชีย ประกาศเปิดตลาดไทยเป็นครั้งแรกเพราะเห็นโอกาสโตสูง มั่นใจฟีเจอร์ของตัวเองดีและต่างจากผู้ให้บริการชุมชนออนไลน์ในไทยพอจะทำให้ยอดผู้ใช้เพิ่มจาก 100,000 รายในขณะนี้เป็น 1-2 ล้านรายในปีหน้า คุยฟุ้งประสบความสำเร็จมาแล้วในมาเลเซียที่ทำยอดผู้ใช้เพิ่มจากไม่กี่แสนคนเป็น 2 ล้านคนได้ในสามเดือน ระบุชัดมุ่งเป้าผู้ใช้รายใหม่ไม่ใช่ฐานลูกค้าเดิมของ Hi5 ที่โด่งดังมากในประเทศไทยขณะนี้
เจฟ โรเบอร์โต ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ของ Friendster บอกว่าแผนที่เตรียมไว้สำหรับดึงผู้ใช้เครือข่ายชุมชนออนไลน์รายใหม่ให้มาเป็นสาวก Friendster คือฟีเจอร์การทำงานที่เหนือกว่า หนื่งคือ Mobile Solution สำหรับทำงานบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ สองคือ Fan Profiles การทำประชาสัมพันธ์ที่ทั้งผู้ใช้และองค์กรจะได้ประโยชน์ สามคือ Text Alert ฟีเจอร์ส่งข้อความ SMS ให้ผู้ใช้สามารถรับรู้ความเคลื่อนไหวบน Friendster ได้อย่างรวดเร็ว
"ผู้ใช้ Friendster จะตั้งค่าและเลือกใช้ฟีเจอร์ของตัวเองได้อิสระกว่าค่ายอื่น ผมเองรู้ว่า Hi5 มีส่วนแบ่งตลาดที่ใหญ่มากในเมืองไทย แต่เมื่อมองตลาดรวม Friendster ก็มีส่วนแบ่งที่ใหญ่มากเหมือนกัน เรามั่นใจว่าฐานผู้ใช้จะขยายตัวได้รวดเร็วแต่ต้องขอเวลา มั่นใจว่าจะถูกใจทั้งผู้ใช้ นักพัฒนาแอปพลิเคชัน และนักการตลาดในไทย"
จุดที่ Friendster จะถูกใจนักการตลาดมากที่สุดเห็นจะเป็นฟีเจอร์ Fan Profiles แรกเริ่มผู้เล่น จะต้องสร้าง Friend Profile ก่อนเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง การอัปเดทชีวิต รูปภาพ และแอปพลิเคชันที่ชื่นชอบอื่นๆจะเริ่มที่ Profile เหล่านี้ แต่ Fan Profiles ไม่ได้จำกัดให้ผู้เล่นลงทะเบียนเท่านั้น โดยจะเปิดให้องค์กรทั่วไปเปิด Profile เพื่ออัปเดทเรื่องราวขององค์กรได้เช่นกัน
โรเบอร์โตบอกว่าขณะนี้มีผู้เปิด Fan Profiles แล้วราว 40 กลุ่มธุรกิจ ทั้งร้านอาหาร ศิลปินนักแสดง นักข่าว แม้กระทั่งรายการทีวี ซึ่งขณะนี้มี Profile ของศิลปินไทยอย่าง พอลล่า เทยเลอร์ เคน ธีรเดช เปิดไว้ใน Friendster แล้ว
"สิ่งที่เกิดขึ้นคือศิลปินเหล่านี้ได้ประชาสัมพันธ์กับผู้ใช้ Friendster ทั่วโลก ไม่ใช่เพียงในประเทศไทย ศิลปินอเมริกันมากมายที่ทำประชาสัมพันธ์งานทัวร์คอนเสิร์ตที่เอเชียด้วย Friendster แล้วได้ผลดี รายได้ของเราบางครั้งมาจากแคมเปญเหล่านี้ ไม่เชิงโฆษณาแต่เป็นการทำแคมเปญร่วมกันโดยมีบริษัทเข้ามาเป็นสปอนเซอร์"
โรเบอร์โตระบุว่า Friendster จะไม่ได้รับผลกระทบจากการที่ค่ายเพลงไทยมีชุมชนออนไลน์ของตัวเองอยู่ก่อนแล้ว เช่นแกรมมี่ หรืออาร์เอส แต่เชื่อว่า Friendster จะเป็นอีกช่องทางที่ช่วยเพิ่มจำนวนสมาชิกชุมชนแฟนคลับเหล่านี้ไปยังต่างประเทศ โดยขณะนี้มีการเจรจากับเว็บไซต์ไทยเพื่อเป็นพันธมิตรในการขยายตลาดแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าเป็นเว็บไซต์ใด
"เราดูทั้งเว็บไซต์ที่ให้บริการด้านคอนเทนท์และด้านโฆษณาออนไลน์ เราเห็นโอกาสเติบโต มีการตั้งทีมขายเพื่อเจรจากับเว็บไซต์รายใหญ่ของไทย ยังพิจารณาอยู่ในขณะนี้"
ขณะนี้ Friendster มีจำนวนผู้ใช้ลงทะเบียน 85 ล้านคน ผู้ใช้หน้าใหม่ราว 61 ล้านคนต่อเดือน เป็นชุมชนออนไลน์อันดับ 3 ของโลกตามสถิติการเยี่ยมชมด้วยจำนวนเยี่ยมชม 19,000 ล้านหน้าต่อเดือน เป็นอันดับ 1 ในเอเชียเพราะจำนวนผู้เยี่ยมชมรายใหม่มากกว่าชุมชนออนไลน์อื่นๆในเอเชีย สำหรับเอเชีย Friendster มีผู้ลงทะเบียนกว่า 62 ล้านคนและผู้เยี่ยมชมรายใหม่ 45 ล้านคนต่อเดือน ให้บริการ 9 ภาษารวมถึงไทย
สำหรับประเทศไทย จำนวนผู้ลงทะเบียน Friendster ในขณะนี้คือ 100,000 ราย Friendster เชื่อว่ายอดผู้ใช้จะเพิ่มในหลักล้านรายภายในปีหน้า เป็นผู้ใช้ที่มีการใช้งานต่อเนื่องไม่ใช่จำนวนผู้ลงทะเบียนแล้วไม่ใช้งาน
โรเบอร์โตบอกว่า หนึ่งแผนการขยายตลาดในประเทศไทยของ Friendster คือการเชิญชวนนักพัฒนาชาวไทยให้เข้ามาร่วมโครงการ Friendster Developer Program ซึ่งเปิดตัวเมื่อปลายปี 2550 เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันที่เหมาะกับผู้ใช้ชาวไทย ใช้มาตรฐาน OpenSocial Standard ซึ่งเป็นมาตรฐานกลางเหมือนที่กูเกิลใช้อยู่ ชูจุดขายเป็นช่องทางในการแนะนำแอปพลิเคชั่นแก่ผู้ใช้ Friendster ทั่วโลก โดยที่ไม่ต้องแบ่งส่วนรายได้ใดๆให้ Friendster
ปัจจุบัน Friendster มีนักพัฒนาที่ลงทะเบียนเพื่อสร้างแอปพลิเคชันให้กับ Friendster ทั้งสิ้น 5,000 คนทั่วโลก มี 850 แอปพลิเคชันที่พร้อมดาวน์โหลด เช่นแอปพลิเคชันด้านเพลง ภาพ และเกม คาดว่าตัวเลขเหล่านี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต
Company Related Links :
Friendster