xs
xsm
sm
md
lg

พันธวณิชชี้วิกฤตเศรษฐกิจปี52 แรงกว่าปี 40

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พันธวณิช ออกโรงสอนมวยรัฐบาล ชี้ 6 มาตรการรับมือวิกฤตโลกทำได้จริงคือการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และควรทำอี-ออกชันทั้งหมดเพื่อให้เงินอัดฉีดลงรากหญ้าอย่างเต็มที่ ลั่นรัฐต้องเลิกประมูลด้วยวิธีพิเศษเพราะทำให้งบประมาณกระจุกตัว ฟันธงวิกฤตเศรษฐกิจปี 52 แรงกว่าปี 40 เศรษฐกิจโลกช่วยซ้ำฝรั่งไม่มีเงินเที่ยว สั่งซื้อสินค้าไทย

นายรังษี กิติญาณทรัพย์ ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พันธวณิช จำกัดกล่าวว่า 6มาตรการฉุกเฉินรับมือวิกฤตโลกที่รัฐบาลประกาศออกมานั้นเห็นด้วยกับมาตรการที่ 4 .เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณโดยกระทรวงการคลังจะเร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายภายในครึ่งแรกปีงบประมาณ 2552 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.8 แสนล้านบาท ผ่านช่องทางหมู่บ้านเอสเอ็มแอล,กองทุนหมู่บ้าน และโอทอป เพราะเป็นการอัดฉีดเงินให้หมุนเวียนในประเทศอย่างแท้จริง

“ทั้ง 6 มาตรการที่รัฐบาลประกาศออกมาผมเห็นว่ามาตรการที่ 4 เป็นมาตรการที่เหมาะสมที่สุด ตอนนี้เราต้องอัดฉีดเงินหมุนเวียนในประเทศ เพราะเราไม่สามารถพึ่งพาประเทศอเมริกาและยุโรปได้ ฉะนั้นการหวังกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและส่งออกจึงเป็นแค่เรื่องเพ้อฝันและผมกล้าฟันธงได้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจปี 2552 จะรุนแรงกว่าปี 2540 เพราะในปี 40 คนไทยได้รับผลกระทบแต่ระดับบน เพราะยังมีแรงหนุนจากต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวและซื้อของเนื่องจากตอนนั้นฝรั่งยังเฟื่องฟู“

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนมาตรการฉุกเฉินรับมือวิกฤตโลก ข้อ4 ให้ได้ผลนั้น อยากจะเสนอให้รัฐบาลดำเนินการในเชิงลึก 4 ข้อคือ 1. กระทรวงการคลังควรเน้นย้ำการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นไปตามระเบียบอย่างเคร่งครัดและโปร่งใสมากที่สุด นั่นคือการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออกชัน) ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าโปร่งใสจริง และควรเลิกการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษอย่างเด็ดขาดยกเว้นต้องจัดซื้ออุปกรณ์ที่มีผู้ผลิตรายเดียวซึ่งไม่ควรมีมากกว่า 10% ของมูลค่าการประมูลทั้งหมด

โดยการประมูลแบบอี-ออกชันนั้นหากรัฐหรือหน่วยงานรับผิดชอบกำหนดระเบียบการประมูลอย่างเคร่งครัด จะช่วยให้การอัดฉีดเงินงบประมาณอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะหากหละหลวมเงินก็จะไม่ถูกนำมาใช้ในการประมูลอย่างเต็มที่

“รัฐบาลต้องเลิกเสียทีการประมูลด้วยวิธีพิเศษเพราะทำให้งบประมาณที่อัดฉีดลงไปไม่กระจายตัว ควรหันมาให้ความสำคัญการประมูลอี-ออกชัน  และมีกฎระเบียบที่รัดกุมเพื่อให้งบประมาณกระจายทั่วถึงเกิดการจ้างงานมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น”นายรังษีกล่าว

2. มาตรการผ่อนปรนการเสนอราคากลาง จากในปีนี้ มีตัวเลขยกเลิกการประมูลอี-ออกชันถึง 20 % เนื่องจากผู้ประกวดราคาไม่สามารถทำราคาให้ต่ำกว่าราคากลาง เพราะประสบปัญหาต้นทุนผันผวนตามราคาน้ำมัน ราคาเหล็ก แต่ควรกำหนดการผ่อนปรนราคากลางไม่ให้สูงเกินกี่เปอร์เซ็นต์ซึ่งรัฐบาลสามารถกำหนดได้ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดการอัดฉีดเงินได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายและพบว่างบประมาณปี 2551 สูงกว่าปี 2550 ถึง 6,000 ล้านบาทแต่กับมีการประมูลอี-ออกชันเท่ากับปี 2550

3.ภาครัฐควรเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณที่อนุมัติแล้วออกสู่หน่วยงานในภูมิภาคต่างๆอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนเงินเข้าไปในระบบ ไม่ควรเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปลายปีเหมือนที่ผ่านมา

4.เร่งให้หน่วยงานภาครัฐส่งเงินเข้ากระทรวงการคลังเดือนละ 1 ครั้ง โดยที่ผ่านมามีเพียงสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ส่งเงินเข้ากระทรวงการคลังทุกเดือน ส่วนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ กรมศุลกากร สรรพสามิต กรมสรรพากร ยังคงส่งเงินเข้าคลังเป็นรายไตรมาส ซึ่งภาวะฉุกเฉินแบบนี้ควรเปลี่ยนวิธีเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในประเทศ มิเช่นนั้นสภาพคล่องในประเทศจะตึง เสียหายกันหมดไปจนถึงระดับรากหญ้า

“มาตรการที่เหลือผมเห็นว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันวันนี้เราต้องหันมาเพิ่มสถาพคล่องในประเทศเราก่อนลดการพึ่งพาต่างชาติ อย่าเอาเงินออกนอกประเทศ แม้แต่การลงทุนเม็กโปรเจกต์ก็ไม่เหมาะเพราะเป็นการนำเงินออกนอกประเทศไม่เกิดการจ้างงานเพราะงานก่อสร้างเหล่านี้ใช้หัวขุดและเทคโนโลยีใต้ดิน แต่การกระจายงบประมาณออกไปในประเทศทำให้เกิดการจ้างงานเกิดขึ้นในประเทศมีเงินหมุนเวียนเกิดขึ้นในประเทศ”นายรังษีกล่าว

Company Related Links :
Pantavanij
กำลังโหลดความคิดเห็น