ไอดีซีประเทศไทย มองผลกระทบวิกฤติการเงิน"แฮมเบอร์เกอร์"หรือวิกฤตสถาบันการเงินรายใหญ่ของสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจไอซีทีไทยในทางอ้อมมากกว่าทางตรง กรณีเลวร้ายสุดๆเชื่อว่า ภาคการเงินและธนาคารของไทยจะชะลอการลงทุนทุกอย่างราว 3-5 ปี แต่ยังมั่นใจว่าภาคธุรกิจรายย่อย (SME) และผู้บริโภคทั่วไป (Consumer) ในประเทศไทยจะยังเติบโตอีกมาก
"ที่ไม่กระทบธุรกิจการเงินประเทศไทยมากเป็นเพราะธนาคารไทยไม่ได้เป็นเจ้าของโดยแบงค์ชาติรายเดียว ธนาคารเหล่านี้ยังมีเงินสดในมือและมีสภาพคล่องที่ดี หากเกิดกรณีที่เลวร้ายสุดๆ กลุ่มธนาคารก็อาจจะชะลอการลงทุนราว 3-5 ปี อย่างเร็วก็อาจอยู่ที่1-2 ปี แค่ชะลอนะครับไม่ใช่หยุดเลย คืออาจจะจัดซื้อแต่ไม่ใหญ่ ซึ่งถ้าจะพูดถึงการใช้จ่ายไอซีทีของเอกชนในบ้านเรา พบว่าสัดส่วนใหญ่คือบริษัทโทรคมนาคม รองลงมาจงเป็นธนาคารและสถาบันการเงิน สามคือภาคการผลิต" นายทวีสิทธิ์ กุลองคณานนท์ ผู้จัดการฝ่ายงานวิจัย ส่วนงานวิจัยโทรคมนาคม บริษัท ไอดีซี (ประเทศไทย) กล่าว
ทวีสิทธิ์บอกว่า การสำรวจโดยไอดีซีเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วพบว่า การลงทุนไอซีทีในเอกชนไทยนั้นเติบโตสุดขีดเพราะต้องลงทุนเพื่อเก็บบันทึกข้อมูลตามข้อกฎหมายระบุ ไอดีซีจึงเชื่อว่า บริษัทเอกชนส่วนใหญ่ผ่านช่วงการลงทุนครั้งใหญ่ไปแล้ว ยอดใช้จ่ายไอซีทีจึงมีแนวโน้มลดลงตามปกติ ซึ่งเอกชนไทยบางส่วนอาจใช้จ่ายไอทีในปีนี้เพื่อการบำรุงรักษาระบบแบบเล็กๆน้อยๆ
"ปีนี้บริษัทที่ค้าขายกับกลุ่มธนาคารอย่างเดียวอาจจะยากหากต้องเปลี่ยนตลาดมาค้าขายกับกลุ่มตลาดอื่น จึงควรปรับตัวด้วยการเจรจากับลูกค้ากลุ่มธนาคารเพื่อหาโซลูชันที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ทางธนาคาร ก็อาจแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้บ้าง"
ทวีสิทธิ์เชื่อว่า การใช้จ่ายไอซีทีในกลุ่ม SME ในประเทศไทยยังเติบโตอีกมาก รวมถึงกลุ่ม Comsumer ทั่วไปที่เชื่อว่ายังมีความต้องการไอซีทีเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 6-7 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้
"ขณะเดียวกัน ไอดีซีก็เชื่อว่าการใช้จ่ายไอซีทีของกลุ่มบริษัท Telco จะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะบริษัทยังต้องดำเนินการตามที่กฎหมายระบุ ขณะที่ภาคการผลิตก็ยังต้องการใช้งานเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง จริงอยู่ที่เอเชียนั้นหนีผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจสหรัฐฯไม่พ้นอยู่แล้ว อาจจะมีภาวะบริษัทปลดคน คนไม่มีเงิน แต่ก็เชื่อว่าถ้าสหรัฐฯควบคุมสถานการณ์ได้ ผลกระทบส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่สหรัฐฯเท่านั้น"
สำหรับการเติบโตของตลาดไอซีทีไทยในปีนี้ ไอดีซีคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 12-13 เปอร์เซ็นต์ จากตัวเลขเฉลี่ย 15 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นมาในอดีต โดยยังต้องรอความชัดเจนจากตัวเลขยอดขายในไตรมาสสามของปีนี้ก่อน
"ยังต้องดูว่ายอดในไตรมาสสามยังดีอยู่ไหม แต่เชื่อว่าบริษัทจะยังมีงบประมาณที่อัดอั้นมาจากปีก่อน"
ompany Relate Link :
IDC