ฟูจิตสึซิสเต็มบิสซิเนสประเทศไทย (FSBT) เปิดแผนการตลาดครึ่งปีหลัง เล็งยกระดับงานบริการแก้ปัญหาตลาดฮาร์ดแวร์เริ่มอิ่มตัว มั่นใจปีนี้ยอดขายเพิ่มอีก 10-15% แม้เศรษฐกิจฝืดทั่วโลก ระบุเม็ดเงินลงทุนหลักเทไปที่การสร้างทีมงาน ส่วนข่าวลือว่าฟูจิตสึพร้อมออกเน็ตบุ๊ก (netbook) หรือคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กรุ่นเล็กราคาประหยัดที่เน้นคุณสมบัติการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมาชนกับค่ายอื่น ผู้บริหารคนไทยบอกอาจเป็นโร้ดแม็ปที่บริษัทแม่วางไว้จริง แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดในขณะนี้
ทาคาฟูมิ มิคูนิ ประธานบริษัท ฟูจิตสึ ซิสเต็ม บิสซิเนส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ FSBT กล่าวว่าบริษัทวางเป้าหมายให้ FSBT ทำยอดขายเพิ่มขึ้น 10-15% ในปีนี้ จากปีก่อนที่สามารถทำได้ 2.23 พันล้านบาท
"ยอมรับว่าการตัวเลขเติบโต 10-15% จะเป็นไปได้ไหมขึ้นอยู่กับการเติบโตด้านไอทีของประเทศไทย เรื่องวิกฤตเศรษฐกิจทุกประเทศเป็นกันหมด แต่ถึงยังไงเราก็จะพยายาม"
ผู้บริหารฟูจิตสึอธิบายเพิ่มเติมว่า ฟูจิตสึกำหนดตัวเลขเติบโตของบริษัทจากงานวิจัยตลาดในประเทศไทยที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องราว 10% ถึงปี 2010 เมื่อคำนวณสัดส่วนกำไร 3-5% จากการขายสินค้าประเภทฮาร์ดแวร์ ฟูจิตสึจึงมองว่า แผนที่จะทำให้ฟูจิตสึสามารถครองส่วนแบ่งในตลาดไอทีไทย คือการยกระดับคุณภาพงานบริการ ด้วยการให้ความสำคัญกับบริการแบบครบวงจร สองคือการให้ความสำคัญการพัฒนาเทคโนโลยี SI (System Integrated) ให้มากขึ้น จะเริ่มให้บริการด้านการบริหารความเสี่ยงอย่างจริงจัง และสามคือจะพยายามขยายธุรกิจจำหน่ายฮาร์ดแวร์ พร้อมใช้วิธีขยายช่องทางการจำหน่ายร่วมกับการสร้างพันธมิตรที่แข็งแกร่ง
"ปีนี้เราจะทำ Service Shift ไม่ตั้งใจขายแต่กล่อง เราพยายามลดเพดานส่วนแบ่งรายได้ฮาร์ดแวร์และบริการที่เคยอยู่ที่ 60-40 มาให้เป็น 50-50 ด้วยการบริการ Service Plus รวมถึงจะให้ความสำคัญกับธุรกิจ DataCenter ให้มากขึ้น"
โตเพราะชาตินิยม?
ฮิโตชิ โคบายาชิ รองประธานอาวุโสฝ่ายการขายแผนกลูกค้าญี่ปุ่น ให้ข้อมูลว่ายอดขายของ FSBT นั้นมาจากลูกค้าที่เป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นถึง 70% ที่สำคัญ ระบุว่าประเทศไทยคือตลาดที่บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน ฟูจิตสึจึงเตรียมกลยุทธ์ไว้เพื่อรองรับการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นรายใหม่ในประเทศไทยที่จะขยายตัวต่อเนื่อง นัยที่เกิดขึ้นคือฟูจิตสึมีอาวุธเด็ดที่เหนือกว่าบริษัทรายอื่น นั่นคือความเป็นชาตินิยมของคนญี่ปุ่น
"ตัวเลขจาก BOI พบว่าญี่ปุ่นคือผู้ลงทุนรายใหญ่ในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 39% ตอนนี้การลงทุนด้านไอทีของบริษัทญี่ปุ่นในอาเซียนคิดเป็นมูลค่า 3.81 หมื่นล้านบาทต่อปี ประเทศไทยมีส่วนแบ่งสูงสุด รองลงมาคือสิงคโปร์ อินโดนีเชีย และมาเลเซีย คาดว่ามูลค่าตลาดจะเติบโตต่อเนื่อง 10% ต่อปีถึงปี 2010"
ที่ผ่านมา อัตราส่วนรายได้ของฟูจิตสึมาจากเอกชน 70% และจากหน่วยงานภาครัฐ 30% กว่า 65% ใน 70% มาจากกลุ่มลูกค้าชาวญี่ปุ่น โดยโคบายาชิคาดว่าอัตราการเติบโตของยอดขายเฉพาะกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่นในอาเซียนจะอยู่ที่ราว 20% ต่อปี มั่นใจว่า FSBT ซึ่งเป็นสาขาของฟูจิตสึในประเทศไทยคือตัวหลักที่ทำให้ยอดขายรวมทั้งอาเซียนเติบโต
"สาเหตุที่เงินลงทุนจากญี่ปุ่นเข้าสู่ประเทศไทยมากที่สุด เพราะไทยคือศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นในอาเซียน ตอนนี้เรามีลูกค้าบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยราว 2,500 ราย โดยประเทศไทยเป็นที่ตั้งแผนกลูกค้าญี่ปุ่นสำนักงานใหญ่ในอาเซียนของฟูจิตสึด้วย"
งานนี้ผู้บริหารฟูจิตสึบอกว่า ไม่ได้มองใครเป็นคู่แข่งในตลาดลูกค้าบริษัทญี่ปุ่นของไทยเลย
ยังไม่รู้เรื่องเน็ตบุ๊ก
สำหรับข่าวลือที่ว่าฟูจิตสึซีเมนส์ (Fujitsu Siemens) กำลังจะเปิดตัวเน็ตบุ๊กรุ่นจิ๋วราคาประหยัดมาเขย่าตลาดหลังจากปล่อยให้เอเซอร์ อัสซุส เอชพี เดลล์ และผู้ผลิตพีซีรายอื่นนำหน้าไปก่อน ผู้บริหารฟูจิตสึบอกว่ายังไม่ได้รับทราบรายละเอียดผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ต้องรอการตรวจสอบกับทีมงานอีกครั้ง
ข่าวลือนี้แพร่สะพัดทั่วอินเทอร์เน็ตเมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีการโพสต์ภาพที่อ้างว่าเป็นเน็ตบุ๊กซีรีส์ Amilo รุ่นใหม่ที่มีหน้าจอขนาด 8.9 นิ้ว คาดว่าจะวางจำหน่ายในราคาประมาณ 300-400 ยูโรหรือราว 16,000 - 21,000 บาท
Company Related Links :
FSBT