xs
xsm
sm
md
lg

มั่นใจเด็กไทยคว้าแชมป์ JavaJive ที่สิงคโปร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โฉมหน้าแชมป์ JavaJive ประเทศไทย ทีม Snooze Monkey สามนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์อินเตอร์ ภาควิชาซอฟต์แวร์และความรู้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ ORR แอปพลิเคชันแก้ปัญหาโรคอ้วนแบบ Web 2.0
ซันประกาศผลโครงการแข่งออกแบบแอปพลิเคชันจาวาครั้งแรกในประเทศไทย "Java Jive Regional Challenge 2008 - ประเทศไทย" ทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คว้าแชมป์ อันดับสองและสามเป็นของลาดกระบัง ส่วนชมเชยเป็นของบางมด สมาคมเวชสารสนเทศไทยมั่นใจผลงานชนะเลิศของเด็กไทยมีดีและมีโอกาสต่อยอดทางธุรกิจได้ไกลพอที่จะคว้าแชมป์ในรอบชิงชนะเลิศจากภูมิภาค ระหว่างตัวแทนจากไทย มาเลเซียและเจ้าภาพจัดงานอย่างสิงคโปร์ ซึ่งจะมีขึ้นวันที่ 15 กรกฎาคมนี้

ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจซอฟต์แวร์ บริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึง 5 เกณฑ์การตัดสินผลประกวด หนึ่งในนั้นกำหนดว่าจะต้องเข้าข่าย Web 2.0 และต้องเป็นแอปพลิเคชันด้านสุขภาพเท่านั้น

"เราจะดูว่าซอฟต์แวร์น่าใช้ไหม ใช้เทคโนโลยีอะไรในการพัฒนา โอกาสต่อยอดทางธุรกิจ ความคิดสร้างสรรค์ การส่งเสริมการสร้างเครือข่ายออนไลน์ด้วย Web 2.0 และให้เป็นแอปพลิเคชันด้านเฮลธ์แคร์ เลยจัดการแข่งขันครั้งนี้ร่วมกับสมาคมเวชสารสนเทศไทยหรือ TMI ปีนี้เป็นปีแรกที่จัดในระดับภูมิภาคและจัดในประเทศไทย เราอยากมีเวทีให้เยาวชนไทยแสดงความคิดเห็น"

แอปพลิเคชันชนะเลิศซึ่งจะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันกับตัวแทนจากสิงคโปร์และมาเลเซียมีนามว่า "ORR" หรือ Open Recipe Resource ผลงานของทีม Snooze Monkey สามนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์อินเตอร์ ภาควิชาซอฟต์แวร์และความรู้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นแอปพลิเคชันแก้ปัญหาโรคอ้วน ไม่ใช่แค่คำนวณปริมาณแคลอรี่ที่บริโภคในแต่ละมื้อผ่านการป้อนเมนูอาหารที่รับประทานไป แต่ความเป็น Web 2.0 ทำให้ผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยนสูตรอาหารระหว่างกัน กลายเป็นชุมชนของผู้เผยแพร่สูตรอาหาร และผู้ที่ต้องการหาเมนูเพื่อสุขภาพใหม่ๆ

"ผู้ใช้ต้องชั่งน้ำหนักและคีย์ลงระบบ (ใช้บนมือถือได้) ระบบจะแสดงปริมาณแคลอรี่ที่ควรบริโภคต่อวัน เมื่อใส่รายการอาหารที่รับประทานไป ระบบจะแสดงว่ากินไปเท่าไหร่และเหลืออีกเท่าไหร่ เราก็พยายามกินเท่านั้น ปัญหาคือผู้บริโภคไม่รู้ว่าต้องกินอะไรให้ได้ปริมาณแคลอรี่ตามนั้น ผู้ใช้จะสามารถเสิร์ชหารายการอาหาร มีรูป เครื่องปรุง และวิธีทำอย่างละเอียด ผู้ใช้สามารถเสิร์ชจากวัตถุดิบที่มีในตู้เย็นได้ ไม่จำเจและได้รับประทานอาหารตรงตามที่ต้องการ"

Snooze Monkey บอกว่าโรคอ้วนเป็นปัญหาใหญ่ที่คร่าชีวิตคนไทยและคนทั่วโลกหลายล้านคน ข้อมูลโภชนาการในระบบเป็นข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลโรงพยาบาลรามาธิบดีและกระทรวงสาธารณสุข แผนการสร้างโปรแกรมเสริมที่วางไว้คือ โปรแกรมดึงรายการอาหารในระบบมาเป็นเมนูอาหารเฉพาะคน และโปรแกรมดึงข้อมูลการบริโภคในแต่ละวันให้เทรนเนอร์หรือที่ปรึกษาผู้แนะนำการออกกำลังกายของแต่ละบุคคลได้

"ผมมั่นใจว่าแอปพลิเคชันนี้จะได้รับชัยชนะในการแข่งขันกับตัวแทนจากสิงคโปร์และมาเลเซีย" นพ.สุธี ทุวิรัตน์ กรรมการบริหารสมาคมเวชสารสนเทศไทย (TMI) กล่าว "ทางแก้โรคอ้วนคือการเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ใช่กินยา คนไข้ต้องควบคุมตัวเองไม่ใช่หมอสั่ง ระบบนี้สามารถใช้งานกับผู้ป่วยได้จริง ระบบนี้สามารถใช้ในเชิงชมรมอาหารเบาหวาน คนเป็นเบาหวานที่ชอบของอร่อยจะสามารถแชร์กันว่า วันไหนใครกินอะไร ไม่เหมือนโปรแกรมคำนวณแคลอรี่อาหารทั่วไป"

นพ.สุธีกล่าวว่าแอปพลิเคชันนี้มีประโยชน์มาก ปัจจุบันนี้แพทย์ไม่สามารถเก็บข้อมูลการรับประทานอาหารของผู้ป่วยได้ การนำข้อมูลจากระบบนี้มาวิเคราะห์จะทำให้แพทย์รู้สาเหตุที่ทำให้การกินยาของผู้ป่วยไม่ได้ผล ขณะเดียวกัน ระบบนี้สามารถนำไปต่อยอดด้านธุรกิจได้ ไม่ใช่เรียกเก็บเงินจากผู้ใช้แต่อาจได้เงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ผู้ลงโฆษณา

"ถ้าถามว่าอยากเห็นโปรแกรมทางการแพทย์ใดเป็นพิเศษ ผมยังไม่อยากเห็น ผมอยากเห็นการสร้างบุคลากรไทยมากกว่า ตอนนี้บ้านเราไม่มี IT Speacialist หรือคนที่เชี่ยวชาญไอทีเฉพาะทางเลย ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงินการธนาคารหรือด้านสุขภาพ เมืองไทยสอนแต่ MIS หรือการวิเคราะห์ระบบโดยรวม จุดนี้คือปัญหาที่ทำให้ไม่มีคนไทยในธุรกิจไอทีประเภทเฮลธ์แคร์"

ผลงานรองชนะเลิศอันดับหนึ่งและสองเป็นของนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้แก่ SAA (Social Aid for AIDS) ของทีม Hurry Up! และ Doc map ของทีม Angelical

SAA เป็นเว็บบอร์ดที่เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยเอดส์เข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์และให้กำลังใจซึ่งกันและกันโดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว มีข้อมูลแผนที่ในการเดินทางไปยังสถานพยาบาลให้บริการผู้ป่วยเอดส์ มีแพทย์อาสาสมัครเข้ามาตอบคำถามสม่ำเสมอ จุดเด่นคือการไม่ต้องเก็บข้อมูลในเซิร์ฟเวอร์ของระบบเอง แต่ใช้วิธี Mash Up หรือการดึงข้อมูลจาก 5 เว็บไซต์ที่ให้บริการความรู้ด้านต่างๆ เช่น ยาฮู วิกิพีเดีย และเว็บข่าวอื่นๆ หากเว็บไซต์เหล่านี้มีการอัปเดท ข้อมูลใน SAA ก็จะอัปเดทด้วย

Doc map เป็นบริการที่ให้ผู้ใช้เข้าไปหาข้อมูลเกี่ยวกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญโรคเฉพาะทางต่างๆพร้อมแผนที่ ใช้กูเกิลแม็ปส์เพื่อความสะดวก ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เสียไปกับการสอบถามข้อมูล และเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคของผู้ใช้แต่ละคน

รางวัลชมเชยเป็นแอปพลิเคชันหาเตียงว่างของโรงพยาบาลต่างๆในกรณีฉุกเฉินของทีม Jmiki นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) เป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยให้มูลนิธิช่วยเหลือผู้ประสบภัยเช่น ร่วมกตัญญูปอเต็กตึ้ง สามารถเรียกดูแผนที่เดินทางไปยังโรงพยาบาลที่มีเตียงว่าง เพื่อร่นระยะเวลาในการเดินทางและลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉิน

รางวัลชนะเลิศในประเทศไทยคือเงินสด 50,000 บาท พร้อมสิทธิ์ในการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมความรู้ของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจซอฟต์แวร์ของซิป้า (เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ประเทศไทย) ได้เข้าแข่งชิงชนะเลิศจากประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ในงาน Sun Developer Day ที่ประเทศสิงคโปร์ ส่วนรองชนะเลิศอันดับหนึ่งและสองได้รับรางวัลเงินสด 30,000 บาทและ 20,000 บาท ทั้งสามทีมจะพัฒนาปรับปรุงผลงานต่อไปเพื่อการนำมาใช้งานจริง

โปรแกรมที่ใช้ในการพัฒนาหนีไม่พ้นซอฟต์แวร์ในเครือซัน ได้แก่ Java, Open Solaris, StarFish และ MySQL ซึ่งสมาชิกทุกทีมมีความเชี่ยวชาญมากในการใช้แพลตฟอร์มเปิดเหล่านี้

"ต้องอย่าลืมว่า ทีมที่เข้ารวมเหล่านี้เป็นระดับหัวกะทิ แต่มาตรฐานเยาวชนไทยทั่วไปยังน่าเป็นห่วง" นพ.สุธีกล่าว "เราต้องสอนให้เด็กพัฒนาตัวเอง และต้องสอนให้รู้คู่แข่ง ถ้าอยากให้เมืองไทยบ้านเราอยู่รอดในอุตสาหกรรมไอที คุณต้องสอนให้เด็กไทยมีความคิดริเริ่ม ไม่ใช่สอนแค่เทคนิกพื้นฐานอย่างเดียว"

Company Related Links :
Java Jive Regional Challenge 2008
ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจซอฟต์แวร์ บริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด
นพ.สุธี ทุวิรัตน์ กรรมการบริหารสมาคมเวชสารสนเทศไทย (TMI)
4 ทีมที่ได้รับรางวัล จากทั้งหมด 15 ทีมที่ส่งเข้าประกวด
กำลังโหลดความคิดเห็น