xs
xsm
sm
md
lg

คุยกับ David Barnes ล่ามแปลภาษาไอทีเบอร์หนึ่งของIBM

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เดวิด บานส์ (David Barnes) บนเวทีงานประชุมนักบริหารของไอบีเอ็มประจำปี 2008
29 ปีที่แล้ว เดวิด บานส์ (David Barnes) เข้าสู่ชายคาไอบีเอ็ม (IBM) ด้วยการประเดิมตำแหน่ง "technology evangelist" หรือผู้เผยแพร่เทคโนโลยีอย่างเป็นทางการคนแรกของยักษ์ใหญ่สีฟ้า ออกเดินทางไปทั่วโลกเพื่อเผยแพร่กลยุทธ์ซอฟต์แวร์ของไอบีเอ็มแก่ลูกค้า และนำความต้องการของลูกค้ากลับมาเป็นการบ้านให้ศูนย์ R&D ของไอบีเอ็ม

เวลา 29 ปีสอนให้เดวิดรู้ว่าสูตรแห่งความสำเร็จที่เยาวชนควรท่องให้ขึ้นใจและปฏิบัติตามหากมีความใฝ่ฝันจะเป็นผู้นำในวงการไอทีคืออะไร แน่นอนว่าหนึ่งในสูตรนั้นเป็นส่วนสำคัญของชีวิตการทำงานที่ผ่านมาของเดวิด นั่นคือการแปลภาษาของวิศวกรให้ลูกค้าฟัง

สูตรเพื่อคนไอที

"คุณต้องมีความคิดสร้างสรรค์ให้มากกว่าการเป็นวิศวกร" เดวิดระบุ "โลกสามารถสร้างวิศวกรจำนวนมากมายได้ แต่สิ่งที่สร้างไม่ได้คือไอเดีย วิศวกรที่มีไอเดียจะนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขัน"

นอกจากความคิดสร้างสรรค์ เดวิดบอกว่าผู้ที่จะก้าวหน้าในงานด้านไอทีได้จะต้องมีความชอบหรือความหลงใหลส่วนตัว และที่สำคัญ คือความสามารถในการนำเสนองาน สิ่งนี้เองที่ทำให้เดวิดเป็นเรี่ยวแรงสำคัญของไอบีเอ็มในการส่งสารเรื่องเทคโนโลยีเกี่ยวกับ Web Services, SOA และ WebSphere ของไอบีเอ็ม รวมถึงความจำเป็นในการประยุกต์เทคโนโลยี Web 2.0 เพื่อเพิ่มผลผลิตในองค์กร

"ทุกคนทุกเรื่องต้องมี passion กับภรรยาผมยังต้องมี passion เลย ถ้าคุณต้องทำงานวันจันทร์ แต่รู้สึกเบื่อหน่ายตั้งแต่วันเสาร์ ก็เปลี่ยนงานเถอะ ขณะเดียวกันก็ต้อง Present ให้ดี อย่างการทำงานวิจัยสักชิ้น คุณต้องอธิบายได้ว่าทำไมต้องทำวิจัย คุณเป็นวิศวกรก็จริงแต่ต้องบอกให้คนอื่นเข้าใจได้ด้วยว่า อะไรเป็นสิ่งสำคัญในระบบของคุณ"

เดวิดเปรียบการนำเสนอเรื่องเทคโนโลยีของเขาว่าเป็นการแปลภาษาของวิศวกรให้คนภายนอกเข้าใจ ล่ามไอทีมืออาชีพคนนี้ระบุว่า ในอดีตเคยน้อยใจที่คนอื่นคิดว่าเขาเป็นเซลล์แมนหรือนักขายมากกว่าจะเป็นวิศวกรอันทรงเกียรติ ซึ่งก่อนที่เดวิดจะรับตำแหน่งเป็นล่ามไอที เดวิดควบทั้งตำแหน่งวิศวกรฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของไอบีเอ็ม

ดีลยากกว่าแปล

สิ่งที่ท้าทายที่สุดตลอดชีวิตการทำงาน 29 ปีที่ไอบีเอ็มของเดวิดกลับไม่ใช่การสื่อภาษาไอทีให้ลูกค้าเข้าใจ แต่เป็นการดีลหรือการประสานงานในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงานหลายแสนคนอย่างไอบีเอ็ม

“การเรียนรู้ในการดีลงาน การทำประชาสัมพันธ์ และการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับผม” เดวิดเล่าว่าความท้าทายของเขาเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาด้วย “29 ปีก่อนผมทำเมนแฟรม ทำการ์ดรีดเดอร์ แก้ปัญหาทางวิศวกรรม ความท้าทายของผมในตอนนั้นคือ หนึ่งบวกหนึ่งจะต้องเป็นศูนย์ หมายความว่าเมื่อนำสิ่งที่ต่างกันมารวมกัน หรือติดตั้งเข้าด้วยกันจะต้องไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายมากในช่วงแก้ปัญหาความเข้ากันไม่ได้ในการ์ดรีดเดอร์ซึ่งกำลังพัฒนาอยู่ในสมัยนั้น”

ขณะนี้ เดวิดรับผิดชอบงานในศูนย์ปฏิบัติการนวัตกรรม IBM Extreme Blue และ IBM Solution Experince Lab ในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส ตามประวัติ เดวิดนั้นมีความสนใจในโลกอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ก่อนที่โปรแกรมเว็บบราวเซอร์รุ่นแรกจะเกิดขึ้น เคยขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในงาน Internet Superhighway Summit ในปี 1995 จึงไม่น่าแปลกใจที่เดวิดจะเป็นหัวเรือใหญ่ในการเผยแพร่ยุทธศาสตร์ซอฟต์แวร์เทคโนโลยี Web 2.0 ของไอบีเอ็มต่อหน้าลูกค้าหลากหลายกลุ่มทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม เดวิดระบุว่าหน้าที่ในการเผยแพร่ยุทธศาสตร์ Web 2.0 ของไอบีเอ็มของเขานั้นจบลงแล้ว โดยงานชิ้นต่อไปที่เขาจะได้ใช้ความรู้ทางวิศวกรรมอย่างเต็มที่คือ Cloud Computing

“ลักษณะคล้ายฟาร์มเซิร์ฟเวอร์เหมือนที่กูเกิลและอเมซอนทำ ระบบแบบนี้ไม่มีใครรู้ว่ามีเซิร์ฟเวอร์ติดตั้งในระบบมากขนาดไหน ไอบีเอ็มต้องการวิจัยและรวมทุกอย่าง ทั้งเรื่องการทำงานแบบเสมือนหรือเวอร์ชวลไลเซชันและเรื่องความปลอดภัยเข้าไว้ด้วยกัน”

เดวิดกล่าวถึงยุค Web3.0 โดยเรียกว่า Semantic Web หรือยุคที่ข้อมูลทุกอย่างในอินเทอร์เน็ตมีความสัมพันธ์กัน ยุค Web3.0 เป็นยุคที่เชื่อกันว่าจะเป็นภาคต่อของ Web 2.0 ผลจากข้อมูลมหาศาลในโลกอินเทอร์เน็ต Web 2.0 ทำให้โลกธุรกิจต้องการระบบขนาดใหญ่เพื่อรองรับความต้องการใช้งานมหาสมุทรข้อมูลเหล่านี้ สิ่งที่เกิดขึ้นดูเหมือนว่า Cloud Computing จะเป็นคำตอบที่โลกธุรกิจต้องการ

“แน่นอนว่าธุรกิจจัดการดัชนีข้อมูลอย่างกูเกิลจะเร่งพัฒนาเทคโนโลยี แต่ขณะนี้ยังไม่มีองค์กรใหญ่ที่ลงทุนเพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ให้รองรับ Web3.0 อย่างจริงจังเพราะยังไม่เห็นความจำเป็น ดังนั้นจึงคิดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของวิถีการดึงข้อมูลครั้งใหญ่ ที่จะทำให้ผู้บริโภคสามารถดึงข้อมูลมาใช้ได้มากยิ่งขึ้น”

เดวิดยกตัวอย่างว่า กูเกิลและบริษัทที่ทำธุรกิจบนข้อมูลอย่างไมโครซอฟท์และยาฮูจะปรับให้การดึงข้อมูลทำได้ง่ายขึ้น การเสิร์ชจะเข้าใจภาษาพูดมากขึ้น ข่าวของนิวยอร์กไทมส์จะเข้าถึงผู้ใช้ทุกสถานที่ทุกเวลาในรูปแบบไฟล์ PDF หรือไฟล์มาตรฐานกลางอื่นๆที่สามารถเปิดได้บนทุกอุปกรณ์

เป็นแฟนแอปเปิล

เมื่อถามถึงเทคโนโลยีที่เดวิดต้องการเห็นแต่ไอบีเอ็มยังทำไม่ได้ เดวิดตอบง่ายๆว่าสิ่งเดียวที่เค้าต้องการคือซอฟต์แวร์ที่ทำให้ชีวิตดีขึ้นและเป็นซอฟต์แวร์ที่ผู้คนชื่นชอบ เหมือนที่เขาชื่นชอบเครื่องแมคอินทอชของแอปเปิล

“10 ปีที่ผ่านมาไอบีเอ็มมุ่งตลาดธุรกิจเป็นหลัก อย่างโน้ตบุ๊ก Thinkpad ที่เคยออกมาก็เป็นสินค้าที่เข้าถึงผู้ใช้ได้มาก แต่นั่นก็เป็นฮาร์ดแวร์ ในเชิงซอฟต์แวร์ไอบีเอ็มยังไม่มี อย่างตัวผมเอง ผมชอบเครื่องแมคอินทอชที่บ้านมาก ใช้งานทุกครั้งอย่างมีความสุข ถือเป็นความท้าทายส่วนตัว”

แม้เดวิดจะไม่ได้กล่าวถึง OS/2 ระบบปฏิบัติการอันลือลั่นของไอบีเอ็มโดยตรง แต่ความเห็นของเขาในเรื่องนี้กลับเชื่อมโยงถึง OS/2 ซึ่งเขามีส่วนร่วมในการปลุกปั้นเมื่อกว่าสิบปีที่ผ่านมา แต่พ่ายแพ้ให้กับ Windows 3.1 ในยุคนั้น

“สำหรับประเทศไทย การจะพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมไอทีของโลกได้ต้องมีปัจจัยร่วมไม่ต่างจากที่อินเดียหรือเวียดนามทำได้ บุคลากรต้องพัฒนาเรื่องภาษา มีคุณภาพ และค่าแรงไม่แพง”

ปัจจุบัน เดวิดแต่งงานแล้วและมีบุตร 2 คน ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้นเพราะเดวิดเล่าว่าลูกสาวของเขาเป็นตัวแทนในการนำเสนองานกิจกรรมของโรงเรียนบ่อยครั้ง เช่นเดียวกับตัวเขาที่ต้องเดินทางไปทั่วโลกเพื่อนำเสนอแนวคิดของไอบีเอ็ม

Company Related Links :
IBM
กำลังโหลดความคิดเห็น