แม้ว่าการเปิดให้ผู้ใช้ทั่วไปดาวน์โหลดซอฟต์แวร์สร้างเอกสารคุณภาพ Symphony 1.0 ได้ฟรีจะดูเหมือนการบีบคอเจ้าตลาดซอฟต์แวร์ออฟฟิศ (Microsoft Office) อย่างซึ่งหน้า แต่ไอบีเอ็มยืนยันว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ได้แปลว่ากำลังคิดแข่งขันในตลาดซอฟต์แวร์เอกสารแต่อย่างใด กลับกลายเป็นหวังดึงส่วนแบ่งจากตลาดซอฟต์แวร์เพื่อการทำงานร่วมกันหรือ collaboration tool อย่างซอฟต์แวร์รับส่งอีเมล Outlook และ Exchange แทน
ผู้บริหารไอบีเอ็มเปิดเผยในงานประชุม LotusSphere 2008 ว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อให้ทางเลือกแก่ตลาดเกิดใหม่ ที่ต้องการเข้าสู่ยุค Enterprise 2.0 ยุคใหม่ขององค์กรในโลกเว็บ 2.0 (Web 2.0) ด้วยค่าใช้จ่ายคุ้มค่า ในงานมีการสาธิตว่าองค์กรสามารถเสียเงินต่อเดียว ด้วยการใช้โอเอสฟรี ร่วมกับซอฟต์แวร์ออฟฟิศฟรี แล้วเสียค่าซอฟต์แวร์เฉพาะ Lotus Notes, Domino หรือซอฟต์แวร์เพื่อการทำงานร่วมกันอื่นๆเท่านั้น
จุดพลุ Symphony 1.0 ฟรี
หลังจากประสบความสำเร็จอย่างงดงามระหว่างการทดลองใช้ ล่าสุดไอบีเอ็มเปิดให้บริการ Lotus Symphony เต็มรูปแบบพ่วงชื่อ 1.0 อย่างเป็นทางการแล้ว โจมตีไมโครซอฟท์ออฟฟิศด้วยการเปิดทางให้ผู้ใข้ดาวน์โหลดโปรแกรมเพื่อสร้างเอกสาร งานคำนวณ หรือพรีเซนเทชันเป็นไฟล์มาตรฐานเปิดได้ฟรีไม่ต้องเสียค่าโปรแกรม ลดรายจ่ายเอื้อให้องค์กรนำเงินไปลงทุนด้านอื่น
เมื่อให้ดาวน์โหลดฟรี สิ่งที่จะทำเงินให้ไอบีเอ็มคือบริการ IBM Elite Support สำหรับ Symphony 1.0 ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อให้บริการลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ ค่าบริการอยู่ที่ราว 25 เหรียญสหรัฐต่อคน (จำนวนผู้ใช้เริ่มที่ 1,000 คน) จุดนี้ไอบีเอ็มระบุว่า การดาวน์โหลดซอฟต์แวร์สร้างงานเอกสารได้ฟรีนั้นช่วยให้องค์กรที่มีพนักงาน 20,000 คนสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายที่เสียไปกับค่าลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ได้ถึง 8 ล้านเหรียญ รวมถึงค่าอัปเดทซอฟต์แวร์กว่า 4 ล้านเหรียญ
ตั้งแต่เปิดดาวน์โหลดเวอร์ชันทดลองฟรีเมื่อเดือนกันยายน ปี 2007 ไอบีเอ็มระบุว่าจำนวนผู้ดาวน์โหลด Symphony อยู่ที่ราว 1 ล้านคน ไม่ระบุจำนวนผู้ดาวน์โหลดในเมืองไทย รองรับ 24 ภาษา พัฒนาโดยทีมวิจัยไอบีเอ็มในจีน ผ่านการปรับปรุงตามความเห็นของชุมชนชาวเว็บ แน่นอนว่า ผลผลิตไฟล์เอกสารที่ได้จาก Symphony คือ ODF หรือไฟล์มาตรฐานเปิดที่สามารถใช้งานได้ไม่จำกัดแฟลตฟอร์ม
“ค่ายเทคโนโลยีส่วนใหญ่ขานรับการสนับสนุนไฟล์มาตรฐานเปิด แม้ว่าจะเคยอยู่ฝ่ายตรงข้ามกัน” David Barnes ผู้อำนวยการโครงการเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของไอบีเอ็มกล่าว “เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำไม่ใช่แค่ค่ายใดค่ายหนึ่ง”
Edward Orange ผู้อำนวยการผลิตภัณฑ์ Lotus ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของไอบีเอ็มยืนยันว่า การดาวน์โหลดฟรี Symphony 1.0 ซึ่งชนกับไมโครซอฟท์ออฟฟิศอย่างจังในครั้งนี้ ต่างจากการสร้างระบบปฏิบัติการ OS/2 เพื่อแข่งขันกับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ในอดีตอย่างสิ้นเชิง
"Symphony ไม่มีทั้งเรื่องเงินและข้อผูกมัดกับผู้ใช้ นี่เป็นสิ่งที่อธิบายว่าทำไมไอบีเอ็มจึงนำ Symphony มารวมในผลิตภัณฑ์ไอบีเอ็ม" โดย Symphony นั้นถูกรวมอยู่ในโปรแกรมตระกูล Lotus Notes และ Domino ซึ่งมีกลุ่มตลาดเดียวกับโปรแกรม Outlook และ Exchange ของไมโครซอฟท์
ผู้บริหารไอบีเอ็มกล่าวว่ากลุ่มเป้าหมายของ Symphony ไม่อยู่ที่กลุ่มองค์กรธุรกิจเท่านั้น แต่ครอบคลุมกลุ่มภาคการศึกษาด้วย และเมื่อไม่มีแผนจำหน่าย Symphony ไอบีเอ็มยินดีที่จะร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อนำ Symphony มาใช้กับคอมพิวเตอร์พีซีทุนต่ำ
เปิดตัวMashupปลายมิ.ย.นี้
Mashup คือโปรแกรมที่ผู้ใช้สามารถสร้างแอปพลิเคชันออนไลน์ของตัวเองได้สะดวกและง่ายดาย ผู้ใช้สามารถเรียกดูข้อมูลได้ทั้งจากแหล่งภายในและนอกองค์กรแบบรายวันไม่ใช่รายเดือน คล้ายกับการรวมให้ Widget ต่างชนิดกันมาทำงานร่วมกันบนหน้าจอเดียว ไอบีเอ็มระบุว่าพร้อมแจ้งเกิด Mashup สำหรับองค์กรในปลายเดือนนี้ หลังจากทดสอบโปรแกรมตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา
Mashup เป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่อยู่ในผลการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงในยุค Enterprise 2.0 หรือยุคใหม่ขององค์กรในโลกเว็บ 2.0 (Web 2.0) ของไอดีซี ซึ่งเชื่อว่าการรายงานข้อมูลครบเครื่องของ Mashup จะเปลี่ยนแปลงพื้นฐานการสื่อสารขององค์กรในยุคหน้า โดยการสื่อสารจะถูกผูกรวมเรื่องของข้อมูลเข้าด้วยกัน ขณะเดียวกัน สถานที่ทำงานจะมีเรื่องสังคมและความสนุกสนานเข้ามาเกี่ยวข้อง ไอบีเอ็มจึงนำเทคโนโลยีเว็บ 2.0 มารวมในซอฟต์แวร์อินเทอร์เน็ตสำหรับธุรกิจ "Webspere" ครอบคลุมทั้งในเรื่องซอฟต์แวร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และผู้ใช้งานเจเนอเรชัน Y ที่รักบริการเครือข่ายสังคมเป็นชีวิตจิตใจ
"เรื่องของเครือข่ายสังคมออนไลน์ในการทำงานเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะนี้องค์กรในเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น) ราว 60% มีการใช้งานโปรแกรมสนทนา IM ในองค์กร มากกว่า 40% ใช้เทคโนโลยีสืบค้นข้อมูลและเว็บท่าความรู้ ขณะที่ 20% ใช้ Blog พนักงาน" Shalini Verma ผู้จัดการฝ่ายวิจัย ไอดีซีภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกกล่าว
ไอบีเอ็มเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ที่บริษัทมีในขณะนี้นั้นครอบคลุมเทคโนโลยีเว็บ 2.0 ทั้งหมดแล้ว เชื่อว่าถ้าโลกออนไลน์เข้าถึงยุค 3.0 จริงก็จะเคลื่อนไหวตามได้ทันท่วงที สำหรับตลาดประเทศไทย เชื่อว่าการทำตลาดผลิตภัณฑ์โลตัสไม่น่าจะมีอุปสรรคใดๆ อย่างไรก็ตาม Barnes ระบุว่างานนี้จะเป็นงานสุดท้ายที่เขาจะนำเสนอเทคโนโลยีเว็บ 2.0 ในซอฟต์แวร์ของไอบีเอ็ม
"งานชิ้นต่อไปของผมจะโฟกัสที่ Cloud Computing" เทคโนโลยีการประมวลผลที่มีแนวคิดคล้ายกับกริดคอมพิวติ้ง ที่สามารถรวมทรัพยากรจากคอมพิวเตอร์หลายเครื่องเข้าด้วยกันเพื่อพลังการประมวลผลชั้นเยี่ยม เชื่อว่าไอบีเอ็มจะออกผลิตภัณฑ์ Cloud Computing มาเขย่าตลาดอย่างจริงจังในอนาคต
Company Related Links :
IBM