xs
xsm
sm
md
lg

‘ธนา’เลิกง้อกสทหันพึ่งใบอนุญาต 3G กทช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายมั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา3G พลิกธุรกิจโทรคมนาคม คนไทยได้อะไรจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ที่  เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว
ดีแทคเปลี่ยนเป้าหมายโฟกัสใบอนุญาตจากกทช. หลังกสทอืดอาดไม่ยอมไฟเขียวยื่นขอใบอนุญาตนำเข้าอุปกรณ์อัปเกรดบนความถี่เดิม ซัดสุดท้ายกสทจะเสียประโยชน์เองเพราะกทช.ริบคลื่นเดิมที่ไม่ใช้ประโยชน์ ด้านเอไอเอสเผยให้บริการ 3G ในกรุงเทพฯอาจช้ากว่ากำหนดเปิดเดิมกลางเดือนมิ.ย.นี้ ‘มั่น’ ฟันธงกลางเวทีสัมมนาผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ 3Gไทยได้เห็นใน 6 เดือน

นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น กล่าวว่า กรณีที่บริษัท กสท โทรคมนาคม หรือ กสท พิจารณาการยื่นขอใบอนุญาตนำเข้าอุปกรณ์HSPA เพื่ออัปเกรดคลื่นความถี่ 850 MHz ให้บริการ 3G ล่าช้านั้น อาจจะส่งผลให้ดีแทคหันไปพิจารณาการลงทุนบนใบอนุญาตใหม่ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. แทน เนื่องจาก กทช. ระบุว่าจะสามารถออกใบอนุญาตได้เร็วๆนี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์

‘ไม่มีเหตุผลที่กสทจะไม่เร่งยื่นขอใบอนุญาตนำเข้าอุปกรณ์ อัปเกรดความถี่เดิมให้ดีแทค เพราะการดำเนินการดังกล่าวเป็นผลดีต่อกสทเองเนื่องจากเป็นการนำคลื่นความถี่เดิมที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และหากไม่ได้นำความถี่นี้มาอัปเกรด อนาคตกทช.ก็ต้องเรียกคลื่นคืน ซึ่งขณะนี้ดีแทคอาจจะพิจารณาไปรอลงทุนในใบอนุญาตที่กทช.กำลังจะออกให้ เพราะมีค่าใบอนุญาตถูกกว่า ทั้งยังเป็นการลงทุนถาวร ซึ่งการลงทุนอัปเกรดความถี่เดิมก็มีข้อเสียที่อายุสัมปทานเหลือเพียง 10 ปี และมีส่วนแบ่งรายได้สูง ที่ผ่านมาดีแทครอมานานถึงขั้นอยากจะเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท สายบัว จำกัด(มหาชน)แล้ว” นายธนากล่าว

สำหรับเทคโนโลยี 3Gนั้นความจริงไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่เป็นเพียงเทคโนโลยีตัวหนึ่งที่จะเพิ่มความรวดเร็วในการสื่อสารผ่านมือถือ เหมือนเทคโลยี EDGE หรือ GPRS แต่ที่ผ่านมาเกิดความล่าช้าเพราะหลายฝ่ายไปมองว่าเป็นเรื่องใหญ่โต ทั้งที่ในแง่การลงทุนนั้นก็เป็นเอกชนที่ต้องลงทุนจะขาดทุนหรือไม่ก็เป็นเรื่องของเอกชน

อย่างไรก็ดี มีอุตสาหกรรมโดยรอบหลายอุตสาหกรรมที่รอเติบโตตามอุตสาหกรรมหลักอย่างโทรศัพท์มือถือเมื่อมีการนำเทคโนโลยี 3G มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมจำหน่ายเครื่องมือถือ อุตสาหกรรม คอนเทนต์ และซอฟต์แวร์เพราะอุตสาหกรรมเหล่านี้จะมีการพัฒนาเพื่อรองรับการใช้งาน 3G บนมือถือ

นายสรรชัย เตียวประเสริฐกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอสกล่าวว่า หาก กทช.พิจารณาออกใบอนุญาตนำเข้าอุปกรณ์ HSPA เพื่ออัปเกรดความถี่ 900 MHz ให้บริการ 3Gในพื้นที่กรุงเทพฯในวันนี้(5 พ.ค.51) อาจจะทำให้การให้บริการ 3G ในพื้นที่กรุงเทพฯ ล่าช้าออกไปจากกำหนดเดิมที่จะเปิดให้บริการในกลางเดือน มิ.ย.นี้เล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ เอไอเอสมีแผนจะเปิดให้บริการ 3G ใน 7 จังหวัดได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต โคราช ขอนแก่น ชลบุรี สงขลา และกรุงเทพฯ และตั้งเป้าจะมีลูกค้าใช้บริการ ทั้งสิ้น 6 -7 หมื่นรายในปลายปี โดยในส่วนจังหวัดเชียงใหม่ที่เปิดให้บริการไปแล้วมีลูกค้าใช้บริการแล้ว 1,500 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ 35 % ใช้งานแอร์การ์ดถึง 35 % และเชื่อว่าในระยะยาวเมื่อมีการให้บริการ 3G อย่างทั่วถึงจะส่งผลให้มีลูกค้าใช้บริการแอร์การ์ดเพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น

นายมั่น พัธโนทัย รมว.ไอซีที  กล่าวในการปาฐกถาเรื่อง 3G พลิกธุรกิจโทรคมนาคมไทย คนไทยได้อะไร จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่ายังเชื่อมั่นว่าภายใน 6-12 เดือนนี้จะสามารถให้บริการเทคโนโลยีระบบ 3G ได้แน่นอน ซึ่งในปัจจุบันยังต้องรอ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (พ.ร.บ.กสช.) ซึ่งคาดว่ากฎหมายดังกล่าวน่าจะออกใช้ได้ภายในปีนี้

‘การมี 3Gจะช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้เร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นกลไกในการพัฒนาประเทศที่สำคัญ โดยปัจจุบันคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้น้อยมาก เพราะการให้บริการบรอดแบนด์ทางสายมีข้อจำกัดในการเข้าถึง ฉะนั้นบริการ 3Gจะสามารถเข้ามาให้บริการประชาชนในส่วนนอกข่ายสายได้เป็นอย่างดี”นายมั่นกล่าว

นอกจากนี้ ในส่วนของการเพิ่มความเร็วบรอดแบนด์ก็น่าจะทำได้ภายในระยะเวลา 15 เดือน ซึ่ง ครม.ได้มีการอนุมัติงบลงทุนปรับปรุงโครงข่ายไอพีบรอดแบนด์ให้บริษัท ทีโอที ไปแล้วจำนวน 4.7 ล้านบาทในการเพิ่มความเร็วของบรอดแบนด์

นายพิศาล จอโภชาอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท เปิดเผยว่า 3G จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของคนไทยให้เปลี่ยนไปเพราะจะสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ทุกที่ทุกเวลา ทำให้คนสามารถทำงานและติดต่อสื่อสารกันในทุกที่และต่อไปการติดต่อกันด้วยเสียงจะเป็นส่วนน้อย เพราะการติดต่อด้วยข้อมูลข่าวสารจะเติบโตมาทดแทน

นายวรุธ สุวกร รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวว่า เทคโนโลยี 3Gจะทำให้คนไทยได้บริการที่หาไม่ได้บนเทคโนโลยี 2G อาทิ วีดีโอคอล Virtual Environment , Global Mobility

Company Related Links :
MICT
DTAC
NTC
AIS
Cattelecom
TOT
กำลังโหลดความคิดเห็น