xs
xsm
sm
md
lg

เน็ตในมุมมอง"แม่ทัพ CS LoxInfo"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กลุ่มซีเอส ล็อกซอินโฟ เปิดมุมมองและยุทธศาสตร์อินเทอร์เน็ต และธุรกิจในกลุ่ม ผ่านวิสัยทัศน์ของกรรมการผู้จัดการ อย่าง“อนันต์ แก้วร่วมวงศ์” ที่สะท้อนปัญหา และแนะทางแก้ไข เพื่อให้ทุกอย่างอยู่ได้ไปรอดตามแบบฉบับวัฒนธรรมธุรกิจในไทย

ทิศทางซีเอส ล็อกซอินโฟ

ในกลุ่มของเราก็มีทั้งซีเอส ล็อกซอินโฟ เยลโลว์เพจเจส และชินนี่ ถ้าเป็นอินเทอร์เน็ตก็เน้นคอร์ปอเรตเหมือนเดิม ถ้าเป็นเอดีเอสแอลก็กำลังเจรจากับทรูเพื่อหาทางออกร่วมกัน เพราะไม่มีใครอยากค้าความ ถ้าตกลงกับทรูได้ ปีนี้ คงจะขายเอดีเอสแอลได้มากขึ้น จากเดิมที่ขายอยู่แล้ว โดยที่ไม่ต้องแย่งชิงลูกค้าจากทรู

ที่ผ่านมาทำไมเราต้องโฟกัสแต่ลูกค้าองค์กร ลีสไลน์  เพราะเครือข่ายที่มีอยู่ในมือเป็นผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคม อย่างทีโอทีเองคงต้องทำอีกทีหลังจากได้ความร่วมมือที่ดีกับทรู และคงเป็นอีกกรณีหนึ่ง ที่จะนำไปเป็นตัวอย่างในการดำเนินการกับทีโอที

ทิศทางการดำเนินงานคือคอร์ปอเรต นอกจากนี้ก็มีเรื่องการนำใบอนุญาตมาใช้ประโยชน์ แต่ตรงนี้ก็ไม่ง่าย ใบอนุญาตที่ได้มาจาก กทช. ที่ทำได้ก็เป็นไว-ไฟ ที่จะขายในต่างจังหวัด ส่วนใบอนุญาตลากสายคงยาก เพราะต้องไปพาดอยู่บนเสาของการไฟฟ้าฯ ในทางปฏิบัติการไฟฟ้าฯก็ยังสงวนท่าทีอยู่ว่าจะทำอย่างไร ไม่เฉพาะซีเอส ล็อกซอินโฟ ทุกรายเหมือนกันหมด ส่วนใบอนุญาตเก่าทั้งจากทีโอที หรือจากผู้ให้ใบอนุญาตรายอื่นที่พาดสายเคเบิลอยู่แล้ว การไฟฟ้าฯก็ไม่ว่าอะไรเพราะถือเป็นเรื่องเดิม

การที่เราได้ใบอนุญาตมาแล้วจะผลักดันอย่างไรเพื่อให้ได้ประโยชน์ และเพื่อลดการพึ่งพาคนอื่นลง ซึ่งก็ไม่ง่าย ก็ยังคากันอยู่ จึงไปสู่การมองอีกมุมคือ ทุกคนเป็นเพื่อนกันหมดคล้ายๆ กับว่า มันฆ่ากันไม่ได้ก็ต้องมาพึ่งพากันเท่าที่จะทำได้ ก็เลยต้องทำงานกับผู้ประกอบการโทรคมนาคม พยายามหาทางออก ในเรื่องของสายที่ลากก็ไม่ต้องเช่าเขา เพราะฉะนั้นคอร์ปอเรตก็จะเดินไป

ที่เล่ามาถามว่ามีอุปสรรคในการขายหรือไม่ ก็ไม่มี แต่เรามองในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ถ้าแนวโน้มเป็นอย่างนี้ต้นทุนจะสูงขึ้นเรื่อยๆ มันจะติดข้อจำกัดของการบริหารเครือข่ายทรัพยากรโทรคมนาคม ไม่ได้ติดปัญหาของแพง แต่ติดเรื่องการขยายขีดความสามารถของทรัพยากรโทรคมนาคม

มองการทำอินเทอร์เน็ตเพียริ่งในประเทศอย่างไร

 คำว่าเพียริ่งคือมันต้องลากมาเจอกัน ปัจจุบันทำได้แต่ต้องจ่ายค่าเช่า พอจ่ายค่าเช่ารายเดือนมันก็แพง เช่น ผมจะไปเพียร์กับทีโอที สิ่งที่จะเกิดทีโอทีบอกว่าได้ เดี๋ยวจะลากสายไว้ให้ แต่ต้องเช่ารายเดือน เดือนหนึ่งหลายแสนบาทถ้าทราฟฟิกด้วยตกเป็นล้าน แต่ถ้าคุณลากสายได้จ่ายแค่ครั้งเดียวจบเลย อย่างนี้บอกให้ทีโอที หรือทรูว่าผมจ่ายก้อนเดียวจบเลยได้หรือไม่ แต่เขาบอกเขาจะเก็บเป็นรายเดือน

เจรจากับทรูเรื่องอะไร

คุยเรื่องบรอดแบนด์ แต่ทุกอย่างต้องจ่ายเป็นรายเดือนหมด จริงๆ ใบอนุญาตของเราสามารถลงทุนเองได้ ลากไปต่อกับเขาได้ แต่ก็ไปติดข้อจำกัดในการลาก จริงๆ ลากตามถนนไม่ได้ เพราะวางเองมีปัญหา และการเพียร์เราก็ต้องจ่ายค่าบริการรายเดือน อย่างทุกวันนี้เรากับ กสท ห่างกันไม่กี่ชั้น ก็มีการลากเชื่อมกันอยู่แล้ว แต่ถ้าเราย้ายออกไปแล้วเราไปจ่ายค่าเช่าเพิ่มเติมมันไม่ถูก เพราะฉะนั้น เพียริ่งเกิดได้หรือไม่ เกิดได้ บนหลักการที่ต่างฝ่ายต่างลงทุนของตัวเองได้ แต่ปัญหาคือว่าอย่างพวกผมจะไปลากสายก็ยังลากไม่ได้อยู่ เพียริ่งก็เลยไม่เกิด

การไฟฟ้าฯบอกว่าอยากทำกิจการโทรคม ถ้าถามผม ผมมองว่ายังไม่ใช่เวลาที่การไฟฟ้าฯจะทำ เพราะคนยังต้องการใช้ไฟฟ้าอีกมาก เรื่องนี้ต้องเป็นนโยบายจากรัฐบาลไปยังการไฟฟ้าฯ เพื่อไม่เป็นการลงทุนซ้ำซ้อน เพราะว่าเสาก็มีอยู่แล้ว คนที่ไปแขวนจนเสาหักก็รับผิดชอบไป หรือคนที่แขวนไม่มีระเบียบวินัยก็ต้องจัดการ ก็ต้องกำหนดอัตราแบบสมเหตุสมผลหน่อย

เพียริ่งก็เช่นกันก็อยู่ที่รัฐบาล กับกระทรวงไอซีที ต้องลงทุนด้านเพียริ่ง ไอซีทีจะทำอย่างไร อาจจะถือหุ้น อาจจะเป็นเจ้าภาพ เพราะเป็นกรรมการอยู่ใน ทีโอที กับ กสท อยู่แล้ว อาจจะให้นโยบายเฉพาะกิจว่ากรณีนี้ให้เอกชนลงทุนให้ทีโอทีและกสท แล้วยกข่ายสายให้ทีโอทีกับกสท โดยให้ทั้ง 2 หน่วยงานคิดค่าบำรุงรักษาอย่างเดียว ห้ามคิดค่าเช่าก็ได้ แต่ต้องเป็นนโยบาย เพราะคนสั่งต้องมีอำนาจที่จะบอกให้หน่วยงานรัฐเดินซ้ายหรือขวา ถ้าให้เอกชนทำมันไม่จบ ก็ต้องมาวางกั๊กๆ กัน

เน็ตเกตเวย์เป็นอย่างไร

อินเทอร์เน็ตเกตเวย์ที่ออกต่างประเทศ ของผมก็มีใบอนุญาต วันนี้ก็ใช้กับบางเส้นทางไปต่างประเทศ โดยหลักๆ มี 3 เส้นทาง แต่ต้องวิ่งไปสิงคโปร์หมด เพราะว่า 2 เส้นทางใช้ใบอนุญาตคนอื่น ถามว่าทำไมต้องไปรวมศูนย์ที่สิงคโปร์ อันนี้ก็เป็นปัญหาใหญ่ เพราะสายไฟเบอร์ที่ออกจากไทยทั้งหมดเกือบ 90% กสท เป็นเจ้าของ ตรงนี้ถ้าผมจะไปขอซื้อท่อเฉยๆ กสท ไม่ขาย กสท จะขายรวมกับอินเทอร์เน็ต ก็เลยกลายเป็นว่าพวกที่มีใบอนุญาต หรือไอเอสพีต้องต่อท่อไปที่มาเลเซีย แล้วไปสิงคโปร์ สิงคโปร์จึงเป็นศูนย์กลางหรือฮับ คนที่ได้ประโยชน์คือมาเลเซียส่วนหนึ่งที่ไฟเบอร์ต้องผ่านเครือข่ายของเทเลคอมมาเลเซีย แล้วไปขึ้นที่สิงคโปร์ สิงคโปร์พอกับเกาะภูเก็ตแล้วเป็นฮับได้ไง แล้วประเทศไทยใหญ่กว่ากี่เท่า ทำไมเป็นฮับไม่ได้  

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 มีผลกระทบอย่างไร

พ.ร.บ.นี้จะไม่ค่อยกระทบกับไอเอสพี แต่จะกระทบกับคนที่ซื้อต่อจากไอเอสพี  เพราะว่าในกฎหมายกำหนดว่า ผู้ใช้ ใครก็ได้ เช่น ถ้าผู้ใช้เป็นเด็กมหาวิทยาลัย  ผู้ให้บริการก็เป็นมหาวิทยาลัย ถ้าพนักงานบริษัทใช้ ผู้ให้บริการเป็นบริษัท ถ้าใช้อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ผู้ให้บริการก็เป็นอินเทอร์เน็ตคาเฟ่

เยลโลว์เพจเจสเป็นอย่างไร

ส่วนเยลโลว์เพจเจสก็เป็นขายโฆษณาที่แยกเป็นจังหวัด โดยเน้นจังหวัดที่มีศักยภาพมากกว่า ยุทธศาสตร์ก็คือว่าขายโฆษณาเล่มแรกให้เท่าทุนให้ได้ พูดตรงๆ ธุรกิจสิ่งพิมพ์ แรกๆมันจะต้องติดลบประมาณ 3 ปี แต่เรามองไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ว่าถ้าปีแรกกำไรหรือเท่าทุนต่อไปก็ต้องได้แล้ว ในกรุงเทพฯเล่มใหญ่ก็ยังพอขายได้

แต่กิจการพวกนี้ต้องค่อยผ่องเขามา คือการค้นหาหลายๆ รูปแบบ ตลาดอินเทอร์เน็ตในไทยทุกคนมองภาพเป็นของฟรี มันจึงแยกขายไม่ได้จึงต้องขายรวม หมายความว่าต้องมีวิธีการขายอีกวิธีหนึ่ง เพราะถ้าขายโฆษณากับอินเทอร์เน็ตได้ไม่กี่บาท ผมไม่เคยเห็นใครร่ำรวยจากการขายโฆษณาทางเน็ต ยกเว้นยาฮูกับกูเกิล จึงหาจุดที่เข้มแข็งในเรื่องของค่าใช้จ่ายมาผสมกับโฆษณาย่อย เพื่อนำเสนอบนออนไลน์ บนสิ่งพิมพ์ บนโทรศัพท์มือถือ

ธุรกิจของชินนี่ โมบาย คอนเทนต์

มันเป็นปัญหาของโครงสร้างอุตสาหกรรม ที่ไม่เหมือนต่างประเทศ จะไปโทษโมบาย โอเปอเรเตอร์ก็ไม่ได้ อย่างเอไอเอสกับดีแทคก็ยังติดการจ่ายค่าสัมปทานอยู่ พออย่างนั้นก็นำไปสู่การเก็บค่าบริการคือโมบายโอเปอเรเตอร์เอาไป 50% ชินนี่ได้มา 50% อย่างเก็บค่าบริการมา 10 บาท โมบายโอเปอเรเตอร์เอาไป 5 บาท ชินนี่เอาไป 5 บาท แต่ต้องไปส่งเจ้าของคอนเทนต์อีก 2.50 บาท ชินนี่เหลือ 2.50 บาท มันไม่พอ ก็ต้องหาโปรดักต์มาแล้วพยายามทำต้นทุนให้รอดถ้าอยากคงชินนี่ไว้ เพราะว่าเมื่อไหร่โครงสร้างธุรกิจเปลี่ยนก็ต้องมองว่าต้องเอาอินเทอร์เน็ตเข้ามาเสริม

รายได้ปีนี้ตั้งเป้าไว้เท่าไหร่

ปีที่ผ่านมามีรายได้ทั้งหมด 2,600 ล้านบาท เราก็มีการเติบโต เป็นวัฒนธรรมของกลุ่มชินที่จะไม่ให้ภาพไปข้างหน้า แต่จากแนวโน้มข้างหลังขึ้นมาคือโตประมาณ 3% และคาดว่าอนาคตก็น่าจะโต แต่พูดไม่ได้ ถ้าถามรายได้ก็ประมาณ 55% เป็นรายได้และกำไรจากอินเทอร์เน็ต 45% มาจากเยลโลว์เพจเจส ที่เหลือก็ป๊อกแป๊กอยู่ ยังไม่มีอะไร

Company Related Links :
Csloxinfo
กำลังโหลดความคิดเห็น