ทรูมูฟเสนอพาณิชย์ บี้ผู้ประกอบการมือถือ ออกซิม “ธงฟ้า” ตามส่วนแบ่งการตลาด อ้างค่าบริการเท่ากันคนย่อมเลือกใช้บริการของเบอร์1ก่อน เผยลดค่าซิมการ์ดถูกสุดได้แค่ 35 บาท ส่วนค่าโทร ต่ำกว่านาทีละ 1 บาทเพราะปัจจุบันในตลาดค่าโทร อยู่ที่นาทีละ 50 สตางค์ คุยปี 51 ลูกค้าใหม่โต 4.5 ล้านราย รายได้เพิ่ม 42.3% สวนทางอุตสาหกรรมโดยรวม
นายสุภกิจ วรรธนะดิษฐ์ ผู้อำนวยการด้านการตลาดและบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า กลุ่ม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ในการหารือร่วมระหว่างผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับกระทรวงพาณิชย์ วันนี้(14 มี.ค.51) ที่มีนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานการประชุม บริษัท ทรูมูฟ จำกัด จะเสนอผู้ประกอบการรับผิดชอบผลิตซิม “ธงฟ้า”ตามส่วนแบ่งการตลาด เนื่องจากผู้ที่มีส่วนแบ่งการตลาดมีผลการดำเนินงานดีกว่าควรจะรับผิดชอบการขาดทุนไปมากที่สุด
“การจัดทำซิม ธงฟ้า ซึ่งผู้ประกอบการรายหนึ่งเสนอกระทรวงพาณิชย์เมื่อครั้งที่ผ่านมาจำนวน 1 แสนเลขหมาย ราคาค่าบริการนาทีละ1 บาท นั้นควรจะมีการแบ่งสัดส่วนการผลิตซิมตามส่วนแบ่งการตลาด เพราะหากมีซิมที่ราคาค่าบริการเท่ากันหมดทุกโอเปอเรเตอร์ตามธรรมชาติผู้ใช้ต้องเลือกใช้ผู้ประกอบการเบอร์หนึ่งอยู่แล้วเพราะมีความมั่นใจในเครือข่ายมากกว่า สำหรับค่าบริการนั้นควรจะต่ำกว่านาทีละ 1 บาท เพราะปัจจุบันโปรโมชันในตลาดปัจจุบันราคาอยู่ที่นาทีละ 50 สตางค์ส่วนการกระจายซิมกระทรวงพาณิชย์ควรจะเป็นผู้รับหน้าที่เพราะจะสามารถกระจายได้ทั่วถึงและตรงความต้องการมากกว่า” นายสุภกิจกล่าว
ส่วนการลดราคาซิมการ์ดมือถือของทรูมูฟปัจจุบันราคาต่ำที่สุดในตลาดแล้วที่ราคา 49 บาท ซึ่งหากกระทรวงพาณิชย์ต้องการให้ลดราคาลงอีกก็สามารถปรับลงในระดับราคาที่ 35 บาท เนื่องจากต้นทุนซิมการ์ด ปัจจุบันอยู่ที่ 30 บาท ทั้งยังมีต้นทุนค่าขนส่งต้นทุนและบรรจุภัณฑ์ อีกด้วย
ทั้งนี้ทรูมูฟจะชี้แจงทำความเข้าใจกับกระทรวงพาณิชย์ด้วยถึงกลไกการตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ปัจจุบันที่มีการแข่งขันในราคาที่ต่ำอยู่แล้ว โดยมีหลักฐานยืนยันจาก เมอริลินช์ ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ชั้นของโลก มีผลสำรวจออกมาว่าประเทศไทยมีค่าบริการมือถือถูกที่สุด เท่ากับประเทศจีน บังกลาเทศ อินเดีย ประกอบกับที่ผ่านมาธุรกิจมือถือมีการแข่งขันด้านราคากันอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งปัจจุบันผู้ประกอบการมีต้นทุนค่าสัมปทานที่ค่อนข้างสูง
นายสุภกิจกล่าวต่อว่า ในปีที่ผ่านมา ทรูมูฟ ได้ลูกค้าใหม่ใหม่เข้าในระบบจำนวน 4.5 ล้านราย ซึ่งคิดเป็น 35.3 % ของจำนวนลูกค้าใหม่ในอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น 13 ล้านเลขหมาย ส่งผลให้ ทรูมูฟ มีฐานลูกค้ารวม ณ สิ้นปีที่ผ่านเพิ่มขึ้นมาเป็น 12.1 ล้านราย ทำให้มีส่วนแบ่งการตลาดขยับขึ้นเป็น 23 % เพิ่มขึ้นจาก 19 % เมื่อปลายปี 2549 ส่วนบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือเอไอเอส มีส่วนแบ่งการตลาดลดลงเหลือ 46.5 % และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ ดีแทค มีส่วนแบ่งการตลาด 30.3 %
“นับว่าปีนี้เราประสบผลสำเร็จในการเพิ่มจำนวนฐานลูกค้าใหม่เพราะสามารถเพิ่มได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 1 ใน 3 ของจำนวนลูกค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นในตลาดรวม โดยเฉพาะลูกค้าใหม่ในระบบโพสต์เพด ที่ทรูมูฟมีลูกค้าใหม่เติบโตถึง 1.3 แสนราย คิดเป็น 70 % ของจำนวนลูกค้าใหม่โพสต์เพดในตลาดรวมที่เพิ่มขึ้นเพียง 2.5 แสนรายเท่านั้น”นายสุภกิจกล่าว
นอกจากนี้ในแง่ของรายได้ทรูมูฟ มีรายได้รวมค่าอินเตอร์คอนเน็กชั่นชาร์จหรือไอซีในปี 50 จำนวน 3.25 หมื่นล้านบาทเติบโตเพิ่มขึ้น 45.6 % แต่หากไม่นับรวมไอซี รายได้จะเติบโตราว 6 % ซึ่งนับได้ว่ายังเติบโตในทิศทางที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมโดยรวมที่เติบโตเพิ่มขึ้นเพียง 2 % เท่านั้น
ส่วนบริการเสริมต่างๆ และ นอนวอยซ์ มีรายได้ 2.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 17 % ทำให้รายได้จากบริการดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 10.4 % เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้รวมของบริษัท ซึ่งนับว่าเป็นผู้ประกอบการที่มีรายได้จากบริการนอนวอยซ์สูงสุดในตลาดตอนนี้
สำหรับทิศทางการเติบโตของลูกค้าในปีนี้คาดว่าตลาดรวมจะมีจำนวนลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น8-10 ล้านราย ซึ่งจะเป็นการเติบโตในต่างจังหวัดเป็นหลัก เพราะเครื่อข่ายของผู้ประกอบการแต่ละรายได้ขยายตัวออกไปในต่างจังหวัดมากขึ้น โดยทรูมูฟยังตั้งเป้าได้ลูกค้าใหม่ 1ใน 3 ของตลาดรวมเหมือนเดิม ส่วนกลยุทธ์ การตลาดในปีนี้ยังจะเน้นความคุ้มค่าของค่าโทร การผสมผสานบริการในกลุ่มรวมกัน และเพิ่มบริการหลังการขายและสิทธิพิเศษที่ตรงตามความต้องการของลูกค้าด้วยเช่นกัน
Company Related Links :
Truemove